-->

วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สาระนิทาน ชุด ไม้ไทยใจดี 🍌"เรื่อง กล้วย..กล้วย"

ฉันคือต้นไม้ธรรมดา รูปร่างหน้าตาแบบกล้วยกล้วย
ฉันคือต้นไม้ธรรมดา
รูปร่างหน้าตาแบบกล้วยกล้วย
ไม่เคยรู้สึก รู้สา
ก็จริงนี่นา  ฉันชื่อ...กล้วย

  ฉันชอบบุกเบิกดงดอน
ตามป่าเมืองร้อน ป่าดิบเขา
ห่มดินให้แล้งหาย..คลายร้อนเร่า
ปลุกพืชหลายเหล่า  มาเป็นเพื่อนคุย

ฉันชอบบุกเบิกดงดอน ตามป่าเมืองร้อน ป่าดิบเขา
จากป่ามาเคียงรั้วบ้าน
ยืนอยู่เหย้า ประจำยาม
พร้อมพวกพี่น้อง..เพื่อนน้ำ
กำหนดนามแตกต่างกันไป




กล้วยหอม  กล้วยน้ำว้า  กล้วยตานี
กล้วยมณี  กล้วยหักมุก  กล้วยไข่

พี่น้อง..เพื่อนน้ำ กำหนดนามแตกต่างกันไป
กล้วยนาก  กล้วยเล็บมือ  กล้วยน้ำไท
กล้วยใต้  กล้วยส้ม  กล้วยหอมจันทร์

วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เกร็ดภาษาไทย 📚 สำนวน "ศรศิลป์ไม่กินกัน", "ไม่กินเส้น"

สำนวน "ศรศิลป์ไม่กินกัน", "ไม่กินเส้น"
ตั้งใจไว้แต่เดิมว่า  จะปลีกวิเวกจากการเขียนอะไรต่อมิอะไรไปสักพักหนึ่ง  ด้วยรู้สึกจิตตกจากสาเหตุหลาย ๆ ประการดังที่เราท่านทั้งหลายต่างรับรู้กันดี  จนพลอยทำให้ตัวหนังสือทุกตัวที่วิ่งออกมาจากอารมณ์ ความคิดดูเหมือนเต็มไปด้วยความขุ่นมัว ติติง วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบต่อสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ในบ้านเมืองเสียเป็นส่วนใหญ่ สุดท้ายเลยต้องแอบขอลาหยุดกับตัวเอง  เอาแต่สวมหูฟังนั่งทอดหุ่ยฟังเพลงไปเรื่อย  จนหุ่ยที่ทอดไว้ไหม้ไปหลายตลบแล้ว..อิอิ

    เอ่ยถึงคำว่า "ทอดหุ่ย" ขึ้นมา  เลยอดสงสัยไม่ได้ว่าคำ ๆ นี้ที่มาจากไหน โดยเฉพาะคำว่า “หุ่ย”มาจากอะไร  น่าแปลกที่ขนาดถามตาเกิ้ล (คนละคนกับตาเกิ้นในเรื่อง “ล่องไพร” ของ “น้อย อินทนนท์”) ก็ยังไม่ได้เรื่อง  ยังดีที่ได้พบความไม่อยู่กับร่องกับรอยของพจนานุกรมไทยที่ยังความสับสนแก่นักเรียนและประชาชนอีกครั้งในสำนวนนี้ กล่าวคือ ในความหมายเดิม (ฉบับปี ๒๔๙๓) ราชบัณฑิตท่านให้ความหมายว่า “อาการนอนอย่างอ่อนอกอ่อนใจ” พูดง่าย ๆ ก็คือ ไม่สบายใจนั่นแหละ  แต่พอมาถึงฉบับปี ๒๕๒๕ ความหมายกลับเปลี่ยนไปเป็น “การนอนอย่างสบายใจ ปราศจากความวิตกกังวล”....คนละขั้วไปเลย
    ตัวอย่างคล้าย ๆ กันของสำนวนไทยที่แปรเปลี่ยนความหมายไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงอีกคำหนึ่งก็คือ คำว่า "ศรศิลป์ไม่กินกัน"

วันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2553

บทกวี >> ด้วยรัก....ที่รานร้าว

เอามีดมากรีดน้ำ
แล้วก็ย่ำย้ำรอยเก่า
มีแผลก็แค่เกา
สร้างบทนำคือจำยอม….

เหมือนละครน้ำครำดูซ้ำซาก
เห็นแต่ฉากรวยรูปจูบไม่หอม
วาทศิลป์กล่อมเกลี้ยงเผดียงดอม
หวังเพียงน้อมผู้คนให้ทนดู

จะปรองดองต้องปองดีเป็นที่ตั้ง
เพราะเสียงสั่งของหัวใจให้อดสู
ต่อความหมายพ่ายพับที่รับรู้
หรือตัวกูพวกกูอยู่ต่อไป

เชื่อมั่นประเทศไทย...ให้ใครเชื่อ
ถ้าตัวเองไม่เหลือความยิ่งใหญ่
ยอมระย่อต่อระยำที่ตำใจ
หวังเพียงขั้นบันไดของตนเอง

วันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เพลง [s] ดิน...น้ำ...ลม...ไฟ.

ดิน น้ำ ลม ไฟ     รินน้ำใจให้คน

โค้งฟ้า ขุนเขา ทะเลไกล        โชนไฟดวงตะวัน
สายน้ำซัดเซาะดิน            ลมเย็นพัดแผ่ว
ลึกลึก สูงสูง ล้อมเป็นแนว        รวมกันเป็นหนึ่งเดียว
กอดเกี่ยวเกิดพลังแห่งดินฟ้า
 
    ลำธารไหลริน        แผ่นดินเย็นชื่นฉ่ำ
        กลายเป็นไม้งาม    ชีวิตงอกเงย
            ตะวันทอแสงสาด    ลมพัดรำเพย
                เป็นเนืองนิตย์        อุทิศให้คน...
 
        ดิน น้ำ ลม ไฟ     รินน้ำใจให้คน
        ดิน น้ำ ลม ไฟ    จะมีใครทดแทน
 
โค้งฟ้า ขุนเขา ทะเลไกล        ใครมีใจอย่างเธอ
เขาคิดร้ายคิดดี            เธอก็มีรักตอบ
คึกคัก ครึกครื้น ทุกคืนวัน        ยืนยันแรงศรัทธา
สืบกฎธรรมดาแห่งชีวิต... 

ดิน น้ำ ลม ไฟ     รินน้ำใจให้คน
        ดิน น้ำ ลม ไฟ    จะมีใครทดแทน
        ดิน น้ำ ลม ไฟ     มีรักจริงยิ่งใหญ่
        ดิน น้ำ ลม ไฟ    จะมีใครเหมือนเธอ...

วันเสาร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2553

บทกวี >> เขาใหญ่...ในห้วงสนธยา


แผ่นดินนี้พอเพียงเลี้ยงคนขาด แต่ไม่อาจอุ้มโอบคนโลภได้
ซึ่งได้เป็นความหลังแล้วทั้งสิ้น
คือความรัก แรงถวิลและห่วงหา
ไม่มีแล้วดอกไม้ในแววตา
เหลือเพียงแค่ราคาระหว่างคน

ลมร้อนอ้าวร้าวระรุมขึ้นสุมฟ้า
อวิชชาเสียดแทงทุกแห่งหน
ผืนแผ่นดินโฉ่ฉาวด้วยคาวคน
ทรชนยืดร่างอย่างผู้ดี

ปัญญานำพาคนให้พ้นทุกข์
แต่ถึงคราวทุรยุคบดขยี้
คุณธรรมคุณระยำสองคำนี้
เหมือนไม่มีความหมายแตกต่างกัน

เราจะไปไหนกันในวันพรุ่ง
เมื่อทุกคนต่างมุ่งขยายฝัน
จนมองข้ามทุกข์ทนของชนชั้น
ผู้เหลือสิทธิ์แบ่งปันแค่ฝันร้าย

วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

บทกวี >> ประเทศไทยต้องไม่แพ้...??


ภาพวันนั้น...มันหายไปไหน
ภาพวันนั้น...มันหายไปไหน
รอยยิ้มจริงใจเกลื่อนใบหน้า
เด็กน้อยจูงมือมารดา
พ่อค้าแม่ขายรายทาง

เมืองแก้วร้างแก้วแล้ววันนี้
คลื่นคนขวัญหนีอยู่ไม่สร่าง
กัมปนาทเสียงปืนครืนคราง
ผนึกความอ้างว้างแก่ผู้คน

นี่คือเมืองพระ...เมืองพุทธ
ที่มนุษย์ฆ่ามนุษย์ทุกแห่งหน
และไม่ใช่สงครามประชาชน
แต่เป็นแค่เหตุผล...คนอยากทราม

กับสังคมเน่าเน่าสังคมนี้
เหมือนไม่มีคำตอบทุกคำถาม
มีแต่ “เงิน”และ “งก” คือความงาม
ให้ติดตามตาเห็นไม่เว้นวาย

แล้วจะมีหวังใดให้ได้หวัง
ในเมื่อพลังขับเคลื่อนต่างสูญหาย
เกลื่อนเจ้าที่เจ้าทางไร้ยางอาย
พร้อมส่งผ่านความหมายตายทั้งเป็น

มืดกว่าคืนเดือนมืด...มืดสนิท
ทุกชีวิตเหยาะย่างกลางของเหม็น
ไร้สัญญาณการเยือนของเดือนเพ็ญ
นอกจากหนาวเยียบเย็นและอ่อนล้า

วันนี้...พรุ่งนี้...หรือพรุ่งไหน
จึงไทยคือไทยได้สมค่า
มิใช่เมืองยิ้มคือมายา
กับคาถา..ประเทศไทยต้องไม่แพ้.




เกร็ดภาษาไทย ⏰ นับเวลาแบบไทย...ทุ่ม..โมง..ยาม

ตำนานเวลา

หยุดเขียนไปหลายวันเพราะหดหู่เศร้าใจกับความเป็นไปของสถานการณ์บ้านเมืองจนหมดสิ้นเรี่ยวแรง วันนี้เลยขอต่อเรื่องการนับเวลาแบบไทย ๆ ที่เขียนค้างไว้ให้จบ....

คติไทยสมัยก่อน (หรืออาจจะรวมถึงสมัยนี้ด้วย) นิยมอะไรที่ “ง่ายไว้ก่อน พ่อสอนไว้” จนดูเหมือนจะกลายเป็นค่านิยมทางวัฒนธรรมแบบหนึ่งของไทยเราไปแล้ว แม้แต่ภาษาไทยของเราเองก็ดูจะไม่เว้นเช่นกัน เพราะนับตั้งแต่สมัยแรกกำเนิดภาษาไทยก็นิยมใช้คำโดดหรือคำที่ออกเสียงพยางค์เดียวในการสื่อความหมายอยู่แล้วเช่น ฉัน,รัก, แม่...ฯลฯ

จนกระทั่งต่อมาระยะหลังนั่นแหละ ถึงเริ่มมีการใช้คำควบหรือคำประสมตามอิทธิพลที่ได้รับมาจากภาษาบาลี-สันสกฤตรวมทั้งภาษาในตระกูลมอญ-เขมรเพิ่มเติมเข้ามา

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เราจะกำหนดนับเวลาตามสิ่งที่เห็นและรู้สึกได้ในชีวิตประจำวัน อย่างเช่นคำว่า “โมง” และ “ทุ่ม”อันเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกเวลาช่วงกลางวันและกลางคืน ก็มาจากเสียงย่ำฆ้องและกลองที่ทางวัดใช้ตีบอกเวลาในแต่ละชั่วโมงของวันนั่นเอง เนื่องจากสมัยก่อนนาฬิกามักมีใช้เฉพาะภายในวัดเท่านั้น ชาวบ้านจึงต้องอาศัยเสียงสัญญาณกลองและฆ้องที่ดังมาจากวัดเป็นหลัก บ้างที่อยู่ห่างไกลออกไปจนไม่ได้ยินแม้แต่เสียงย่ำกลองก็ต้องใช้วิธีฟังเสียงปืนใหญ่ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดฯให้ทหารเรือยิงปืนใหญ่ประจำเรือทุก ๆ เที่ยงวันเพื่อประชาชนและบรรดาพ่อค้าวานิชจะได้ใช้เทียบเวลาประจำวัน นี่จึงเป็นที่มาของคำว่า “ไกลปืนเที่ยง” ซึ่งหมายพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลความเจริญ และยังเป็นที่มาของการกำหนดให้กองทัพเรือเป็นผู้รักษาเว
ลามาตรฐานของประเทศอีกด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

บทกวี >> ฤาสยามไร้ผู้รู้หน้าที่



คือความวิปโยคโศกสมัย ประกาศความป่วยไข้ไปทุกแห่ง
คือความวิปโยคโศกสมัย
ประกาศความป่วยไข้ไปทุกแห่ง
เมื่อธรรมะใสพิสุทธิ์หยุดแสดง
ปล่อยกาลีแก่งแย่งสำแดงตน

หรือคนกล้า คนดีไม่มีแล้ว
เหลือแต่กาตาแววผู้สับสน
บริกรรมพร่ำคาถาว่าอดทน
ให้ปวงชนสิ้นหวังทุกครั้งครา

หรือคนดีอยู่ไม่ได้ในเมืองนี้
โลกไม่มีหลักประกันให้คนกล้า
หรือสิ้นสุดกระแสยุติธรรมา
ความชั่วช้าสามานย์จึงพล่านนัก

ปล่อยอัปรีย์ผีร้ายสยายร่าง
เกลื่อนกร่างตำใจให้ติดปลัก
เพื่อนไทยพาไทยให้แล้งรัก
แจ้งประจักษ์เต็มตาก็ครานี้

วันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2553

เกร็ดภาษาไทย ⏳ เวลาที่ผ่านเลย..คำว่า นาฬิกามาจากไหน

เวลาที่ผ่านเลย คำว่า "นาฬิกา"

สำหรับคนที่ตกอยู่ในห้วงแห่ง
ความรัก ความพอใจ หรือความรื่นเริงบันเทิงมีทั้งหลายทั้งปวง อาจมีความรู้สึกว่าเวลาช่างล่วงเลยไปรวดเร็วเสียเหลือเกิน แต่สำหรับคนที่กำลังเผชิญกับความทุกข์ ความเศร้าหมอง หรือความสิ้นหวัง อาจรู้สึกว่าวันเวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้าจนบางครั้ง รู้สึกอึดอัดไปหมด ทั้งที่อยู่ภายใต้พระอาทิตย์ดวงเดียวกัน

การเคลื่อนไปของเวลาจึงเป็นเสมือนรูปแบบอุปาทานชนิดหนึ่งที่จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกของแต่ละคนในช่วงขณะนั้น เหตุนี้กระมังที่ทำให้คนเราต้องประดิษฐ์คิดค้นนาฬิกาขึ้นมา เพื่อกำหนดหน่วยนับเวลาสากลที่ถูกต้องตรงกันแทนเวลาสมมติในความรู้สึกของมนุษย์

คำว่า “นาฬิกา” แต่เดิมเป็นคำมาจากรูปภาษาสันสกฤตว่า “นาฑิกา” แต่แปลงรูป “ฑ” มาเป็น “ฬ” แบบบาลี “นาฬิ” ในภาษาบาลีแปลว่า “ทะนาน” เมื่อรวมกับคำว่า “กา” (กำหนดเครื่องหมาย) เป็น นาฬิกา จึงแปลว่า การใช้ทะนานเป็นเครื่องกำหนดเวลา
เพราะในสมัยโบราณ นิยมวัดเวลาด้วยการใช้ทะนานหรือก็คือกะลามะพร้าวเจาะรูที่ก้นแล้วนำไปลอยน้ำ จนกว่ากะลาจะจม จมครั้งหนึ่งก็เรียกว่า ๑ นาฬิกาหรือ ๑๐ บาทตามมาตราไทย ซึ่งกำหนดหน่วยเวลา ๑ บาท = ๖ นาที สอดคล้องต้องกันกับมาตรฐานเวลาสากลที่กำหนดให้ ๑ นาฬิกา หรือหนึ่งชั่วโมงเท่ากับ ๖๐ นาทีพอดี

ส่วนที่ว่าทำไมเวลาสากลจึงกำหนดเป็นชั่วโมง นาทีและวินาที เรื่องนี้คงต้องย้อนเวลาหาอดีตไปถึงสมัยบาบิโลนโน่นแน่ะ ในฐานะเป็นคนต้นคิดใช้เลขฐานหกเป็นตัวกำหนดการหมุนรอบของวัตถุที่พบเห็นตามธรรมชาติ โดยแบ่งจังหวะการหมุนรอบของสิ่งต่าง ๆ ออกเป็นหกส่วนส่วนละ ๖๐ องศา หมุนครบหนึ่งรอบก็เท่ากับ ๓๖๐ องศา หนึ่งองศาเท่ากับ ๖๐ ลิปดา และหนึ่งลิปดาเท่ากับ ๖๐ พิลิปดาตามลำดับ กระทั่งต่อมา จึงมีการนำมาปรับใช้กับหน่วยเวลาอีกโสดหนึ่ง

กลับมาเรื่อง
การนับเวลาแบบไทยกันต่อ ไทยเรามีการนับเวลาทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ แบบทางการก็เรียกเป็นนาฬิกาดังได้กล่าวมาแล้วส่วนที่ไม่เป็นทางการก็เรียกตามช่วงเวลาของวันสุดแท้แต่สะดวกปาก มีใช้กันทั้ง..ทุ่ม, โมง, ยาม, ย่ำ, ตี.. ซึ่งคงต้องอธิบายกันยืดยาวไม่น้อยกว่าจะครบถ้วน
กระบวนความ จึงขอยกยอดเอาไว้พูดถึงในตอนต่อไปน่าจะเหมาะกว่า

ก่อนจบ..ขอฝากเรื่องการอ่านเวลาของคนสมัยก่อนสักนิด ซึ่งสมัยนี้คงไม่มีโอกาสได้ยินหรือได้เห็นกันแล้วนอกจากในตำราโหราศาสตร์ ตัวอย่างเช่นวันหนึ่งขึ้นค่ำ ย่ำรุ่งสองนาฬิกา เศษสังขยาห้าบาท แปลไทยเป็นไทยก็คงแปลได้ดังนี้...

วันหนึ่งขึ้นค่ำ = วันขึ้นหนึ่งค่ำ
ย่ำรุ่งสองนาฬิกา = เวลาสองโมงเช้า
เศษสังขยาหมายถึงเศษของหน่วยนับ (สังขยาในที่นี้ไม่ได้หมายถึงขนม)
ห้าบาท = ๕ x ๖ = ๓๐ นาที
รวมความก็คือ วันขึ้นหนึ่งค่ำ เวลาเช้า ๘.๓๐ น.
เอวัง...


https://planetpt.blogspot.com/search/label/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%20%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99

วันเสาร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2553

บทกวี >> ก่อนจะถึงปลายทาง


ร้อยรสบทกวี...ก่อนจะถึงปลายทาง
กว่าจะเป็นไม้ใหญ่ได้สักต้น
ต้องต่อสู้ดิ้นรนขนาดไหน
ต้องผ่านลม..ฝน..ฟ้ามาเท่าใด
นก..หนู..หนอน..ชอนไชกี่ภัยพาล

จึงเติบใหญ่ให้เห็นเป็นไม้หลัก
เป็นที่พักที่กินเป็นถิ่นฐาน
ให้ส่ำสัตว์ได้สิงสู่อยู่สุขสราญ
สืบตำนานผู้ให้แห่งไพรเย็น

กว่าเป็นคนเต็มคนสักคนหนึ่ง
กว่าเอื้อมถึงหลักชัยให้เขาเห็น
กว่าเปี่ยมศักดิ์บารมีอย่างที่เป็น
ต้องลำเค็ญแค่ไหนกว่าได้มา

ต้องบ่มเพาะประสบการณ์ทำงานหนัก
ต้องฟันฝ่าอุปสรรคอันหนักหนา
กี่หุบเหว กี่หนาวร้อน กี่อ่อนล้า
จึงสั่งสมบุญญาได้เท่านี้

แล้วไยเล่ายังไม่เข้าใจโลก
ว่าสุขโศกล้วนได้จากใจนี่
แม้อิ่มบุญวาสนามานานปี
ก็หลีกหนีไม่พ้นวงเวียนกรรม

ไยจึงต้องยึดติดนิมิตใหม่
ฝากหัวใจกับคนพาลสันดานต่ำ
ผู้ไร้ค่าแปดเปื้อนแต่เงื่อนงำ
ให้มืดดำในเบื้องท้ายปลายชีวิต

ไม่คิดถึงลูกหลานเลยบ้างหรือ
จึงดึงดื้อดันทุรังสร้างบาปผิด
ให้สายทรามตามตัวไปทั่วทิศ
ตามลิขิตประวัติศาสตร์จักวาดไว้

หยุดเสียเถิด วางเสียเถิด เลิกเสียเถิด
ทางประเสริฐคงรู้อยู่หนไหน
เพื่อบุญของทวยราษฎร์ของชาติไทย
และเพื่อใจไม่ต้องตกนรกนาน...นาน./


บทกวี >> ก่อนจะถึงปลายทาง

วันเสาร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2553

นิทานเพลง : หนูกรุง - หนูนา



ภาพถ่าย

หนูนา: เกิดมาเป็นหนูนา ปัญหามันมีมากมาย
วันวันว้าวุ่นวาย คอยหลบกายซ่อนตัวทั้งเดือนทั้งปี คอยหนีศัตรู
ทั้งคนทั้งงู เหยี่ยวร้ายควายวัว
ทุกคนทุกตัว น่ากลั๊ว..น่ากลัว....(น่าเบื่อด้วย..)

(ร้องแร็พ) เฮ้อ..ชีวิตมันมีแต่ทุกข์
นั่งลุกก็ไม่ค่อยสบาย
ใคร ๆ เขาชอบคิดร้าย ข้าวปลาเสียหาย เขาก็โทษหนูนา
อยากไปซะให้พ้น ๆ ชีวิตอลวน บนดินบนหญ้า
เอ๊ะ! ใครแว้บไป แว้บมา

หนูกรุง : สวัสดีหนูนา ฉันมาเยี่ยมเธอ
หนูนา : โอ๊ะ โอ๋ หนูกรุงนี่นา สวัสดีจ้ะ ดีใจที่ได้เจอ
กำลังคิดถึงเชียวเออ...
หนูกรุง : มีเรื่องอะไรเหรอ
หนูนา : ก็เบื่อน่ะซี
หนูกรุง : ถ้างั้นไปมั้ยล่ะกับฉัน ไปเที่ยวกรุงกัน เดี๋ยวก็มันไปเอง
มีทั้งแสงสี เสียงเพลง ร้องรำบรรเลง ครื้นเครงน่าดู



หนูนา : อือม์..ก็ดี ก็ดีเหมือนกัน รีบไปเลยงั้น ฉันอยากจะรู้
หนูกรุง : แหม..ใจเร็วจริงนะ น้องหนู
หนูนา : อ้าว..ก็อยากไปดู
หนูกรุง : งั้นไปเลยไป...โลด


ดนตรีเปลี่ยน แทรกเสียงความวุ่นวายในเมือง..เสียงรถ..
เสียงเบรก.. มอเตอร์ไซค์..นกหวีด..คนพูด..เสียงจ้อกแจ้กจอแจ
หนูกรุง : (ตะโกน) เร็วเข้า ทางนี้..ทางนี้.. (เสียงวิ่งคึ่ก คึ่ก)


หนูนา : โอ๊ย...คนยังกะมด รถก็เป็นล้าน ควันก็เม้น..เหม็น..
หนูกรุง : ใจเย็น..ใจเย็น..ใจเย็น..
ก็อย่างที่เห็น นี่ละ เมืองกรุง
หนูนา : โอย..ย หัวมันปั่น ดูมันยู้ง..ยุ่ง
หนูกรุง : ก็อย่างนี้แหละลุง ไม่เห็นจะเป็นไร
หนูนา : บรื๊อว์..ว แล้วก็นั่น แมวตั้งหลายตัว
หนูกรุง : ไม่เห็นต้องไปกลัว
หนูนา : โธ่...ไม่กลัวได้ไง
หนูกรุง : โอ๋...โอ๋...ไม่ต้องตกใจ
ค่อย ๆ เดินไป เดี๋ยวก็ถึงบ้านแล้ว...


(ดนตรีทำนองร้อง ๑ ขึ้นบาง ๆ เบา ๆ แล้วค่อย ๆ ดังขึ้น หนาขึ้น
หนูกรุงร้อง)

หนูกรุง : เกิดมาเป็นหนูกรุง อีรุงตุงนังทั้งวัน
แมวเป็นร้อยเป็นพัน ยังหลบทันทุกที
ทั้งควันรถยนต์ ทุกหนแห่งรุม
ทั้งคนชุกชุม โหด ร้าย เลว ดี
ทั้งเดือนทั้งปี ตี่ตะลิดติ๊ดตี ยังสบาย...

(ร้องแร็พ ๒)
หนูนา : เอ๊ะ! แปลกจริง หนูกรุงนี่แปลก
ฉันแทบสติแตก แต่เธอยังเก่ง
หนูกรุง : ใครว่า...?
หนูนา : ฉันว่าเอาเอง ก็เห็นร้องเพลง เหมือนไม่เดือดร้อนเลย
หนูกรุง : เดือดร้อน น่ะ..มันเดือดร้อน
แต่ไม่ทุกข์ร้อน มันก็เลยเฉย ๆ
หนูนา : เอ๊ะ! พูดอะไร ไม่เข้าใจเลย
หนูกรุง : โธ่เอ๊ย ๆ ของมันง่ายจะตาย

( Melody 2 – หนูกรุงร้อง)
ทำใจให้มันสนุก จะนั่งจะลุก มันก็สบาย
ลองใจมันไม่เสียหาย อยู่ไหนก็อยู่ได้ จริงไหมล่ะเพื่อน
ทำใจให้มันสนุก จะนั่งจะลุก มันก็สบาย
ลองใจบอกไม่เป็นไร มันก็ไม่เป็นไร จริงไหมล่ะเกลอ
ทุกสิ่งแปลกตาน่ากลัว ดูแล้วเวียนหู ไม่เอาดีกว่า
หนูกรุง : อ้าว... ก็ไหนบอกว่า เบื่อบ้านนาไง
(หนูนาร้องเพลง)
ทำใจให้มันสนุก จะนั่งจะลุก มันก็สบาย
ลองใจมันไม่เสียหาย อยู่ไหนก็อยู่ได้ จริงไหมล่ะเพื่อน

หนูกรุง : เออ…เออ...ใช่แล้ว...ใช่แล้ว...

(หนูกรุง หนูนา ร้องพร้อมกัน – Melody 2)
ทำใจให้มันสนุก จะนั่งจะลุก มันก็สบาย
ลองใจมันไม่เสียหาย อยู่ไหนก็อยู่ได้ จริงไหมล่ะเพื่อน
ทำใจให้มันสนุก จะนั่งจะลุก มันก็สบาย
ลองใจบอกไม่เป็นไร มันก็ไม่เป็นไร จริงไหมล่ะเกลอ

(ซ้ำ...เฟด..จนจบ)

วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2553

เกร็ดภาษาไทย 🖐 การันต์ – เมื่ออักษรงดออกเสียง

การันต์ – เมื่ออักษรงดออกเสียง คำว่า “การันต์” หมายถึงตัวอักษรที่ไม่ถูกออกเสียง เนื่องจากถูกบังคับไว้โดย “ไม้ทัณฑฆาต” ซึ่งกำกับอยู่ด้านบนตัวอักษรที่ไม่ต้องการให้ออกเสียง ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า มักใช้เฉพาะกับคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ ทั้งฝรั่งมังค่าและบาลี-สันสกฤต เนื่องจากมักเป็นคำที่มีหลายพยางค์ จึงต้องใช้เครื่องหมายทัณฑฆาตมาเป็นตัวช่วยบังคับให้งดออกเสียง ทั้งยังช่วยรักษารูปศัพท์ดั้งเดิมให้รู้ว่ามีที่มาจากไหนด้วย นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมถึงต้องมีตัวการันต์และเครื่องหมายไม้ทัณฑฆาตในภาษาไทยของเรา...

ส่วนคำไทยแท้ ๆ นั้น เนื่องจากภาษาไทยเป็นภาษาคำโดด และมีพยางค์
น้อยอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใช้ตัวการันต์แต่อย่างใด

โดยปกติ คำที่เราหยิบยืมมาใช้โดยเฉพาะจากภาษาบาลี-สันสกฤตที่เรานำ
กำกับทัณฑฆาตเพื่องดออกเสียงนั้น จะการันต์ที่พยางค์ท้ายซึ่งเป็นสระเสียงสั้นอย่างอะ อิ อุ เท่านั้น เช่น พจน์ (สระอะลดรูป) พิสุทธิ์ (สระอิ) พันธุ์ (สระอุ) เป็นต้น

ตัวการันต์กลางพยางค์ ปัจจุบันปรากฏเฉพาะแต่คำยืมที่มาจากภาษาตะวันตก ซึ่งสามารถพบได้โดยทั่วไป เช่น มาร์ค, ชอล์ก, ฟิล์ม, วาล์ว ...ฯลฯ

มีข้อที่ควรระวัง คือเรื่องการใช้การันต์ผิดที่ เช่นคำว่า “ฟิล์ม” ที่ยกเป็นตัวอย่าง เคยเห็นบางคนเขียนว่า “ฟิลม์” ซึ่งต้องอ่านว่า ฟิล หรือคำว่า “ซิลค์” ถ้าไปวางการันต์ผิดที่ (ซิล์ค) ก็ต้องอ่านว่า ซิค โดยไม่อาจอ่านเป็นอื่นได้เลย

อีกเรื่องที่ควรสังเกต คืออักษรที่งดออกเสียงนั้น ต้องอยู่หลังตัวสะกดเท่านั้น จะอยู่ลอย ๆ ไม่ได้ เช่นในคำว่า “โลกนิติ์” ตัว”ต” ยังต้องออกเสียงเป็นอยู่  เพราะเป็นตัวสะกดพอดี  ทัณฑฆาตจึงฆ่าได้เฉพาะเสียงสระอิ ส่วนตัว “ต” หนีรอดไปได้อย่างหวุดหวิด

ตัวการันต์หรือตัวอักษรที่งดออกเสียง จึงเป็นเรื่องชวนฉงนในภาษาไทยอีกเรื่องหนึ่งที่เราควรให้ความสนใจ เพราะว่ากันอันที่จริง การันต์มีตั้งแต่เป็นพยัญชนะตัวเดียว เช่น สิงห์, ปอนด์, องค์...ฯลฯ สองตัว เช่น กาญจน์, สายสิญจน์...ฯ สามตัวเช่นคำว่า พระลักษมน์ ในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นต้น การหมั่นสังเกต จดจำ จึงเป็นความจำเป็นที่เราคนไทยไม่สมควรละเลย เพื่อสืบสายธารแห่งภาษาไทยของเราให้อยู่ยืนตลอดไป. 



การันต์ – เมื่ออักษรงดออกเสียง
https://planetpt.blogspot.com/search/label/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%20%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99เกร็ดภาษาไทย / ภาษาไทย-ใช้ให้เป็น

โพสต์แนะนำ

สาระนิทาน ชุด ไม้ไทยใจดี 🍽 เรื่อง "ข.ข้าว ขาว ขาว"

เขียวเอย...เขียวพรมผืนใหญ่ ใครมาถักทอไว้ แลไกลสุดตา  เจียวเอย... ตัวฉันนั่นไง  ใบ ข้าว เขียวเขียว ยืนต้นเดี่ยวเดี่ยว  ร...