-->

วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เกร็ดภาษาไทย 📚 สำนวน "ศรศิลป์ไม่กินกัน", "ไม่กินเส้น"

สำนวน "ศรศิลป์ไม่กินกัน", "ไม่กินเส้น"
ตั้งใจไว้แต่เดิมว่า  จะปลีกวิเวกจากการเขียนอะไรต่อมิอะไรไปสักพักหนึ่ง  ด้วยรู้สึกจิตตกจากสาเหตุหลาย ๆ ประการดังที่เราท่านทั้งหลายต่างรับรู้กันดี  จนพลอยทำให้ตัวหนังสือทุกตัวที่วิ่งออกมาจากอารมณ์ ความคิดดูเหมือนเต็มไปด้วยความขุ่นมัว ติติง วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบต่อสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ในบ้านเมืองเสียเป็นส่วนใหญ่ สุดท้ายเลยต้องแอบขอลาหยุดกับตัวเอง  เอาแต่สวมหูฟังนั่งทอดหุ่ยฟังเพลงไปเรื่อย  จนหุ่ยที่ทอดไว้ไหม้ไปหลายตลบแล้ว..อิอิ

    เอ่ยถึงคำว่า "ทอดหุ่ย" ขึ้นมา  เลยอดสงสัยไม่ได้ว่าคำ ๆ นี้ที่มาจากไหน โดยเฉพาะคำว่า “หุ่ย”มาจากอะไร  น่าแปลกที่ขนาดถามตาเกิ้ล (คนละคนกับตาเกิ้นในเรื่อง “ล่องไพร” ของ “น้อย อินทนนท์”) ก็ยังไม่ได้เรื่อง  ยังดีที่ได้พบความไม่อยู่กับร่องกับรอยของพจนานุกรมไทยที่ยังความสับสนแก่นักเรียนและประชาชนอีกครั้งในสำนวนนี้ กล่าวคือ ในความหมายเดิม (ฉบับปี ๒๔๙๓) ราชบัณฑิตท่านให้ความหมายว่า “อาการนอนอย่างอ่อนอกอ่อนใจ” พูดง่าย ๆ ก็คือ ไม่สบายใจนั่นแหละ  แต่พอมาถึงฉบับปี ๒๕๒๕ ความหมายกลับเปลี่ยนไปเป็น “การนอนอย่างสบายใจ ปราศจากความวิตกกังวล”....คนละขั้วไปเลย
    ตัวอย่างคล้าย ๆ กันของสำนวนไทยที่แปรเปลี่ยนความหมายไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงอีกคำหนึ่งก็คือ คำว่า "ศรศิลป์ไม่กินกัน"
คำ ๆ นี้ที่จริงเป็นคำคู่ เพราะทั้งคำว่า “ศร” และคำว่า “ศิลป์” ในสมัยก่อนต่างก็หมายถึงลูกธนูเช่นเดียวกัน สำนวนนี้มีที่มาจากวรรณคดี “รามเกียรติ์”  ซึ่งมีเค้าเรื่องคล้ายกันอยู่ถึงสองตอนด้วยกัน   ตอนหนึ่งคือศึกไมยราพณ์ เป็นตอนที่หนุมานรบกับมัจฉานุผู้เป็นลูกที่เกิดจากนางสุวรรณมัจฉา  เพียงแต่ตอนนี้ อาวุธที่ทั้งคู่ใช้ ไม่ใช่ลูกศร  ส่วนอีกตอนหนึ่งอันเป็นที่มาของสำนวนนี้โดยตรงคือ ตอนที่พระรามออกไปรบกับพระมงกุฎและพระลบผู้เป็นบุตร  โดยที่ต่างฝ่ายต่างยังไม่รู้จักกัน ปรากฏว่า ศรที่พระรามแผลงออกไปกลับกลายเป็นขนมนมเนยไปเสียหมด ขณะที่ฝ่ายพระลบก็เช่นกัน  ศรที่ยิงออกมาหมายสังหารพระรามก็กลับกลายเป็นข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียนบูชาพระบิดาไปหมดเช่นกัน ตรงนี้คือความหมายเดิมของคำว่า ศรศิลป์ไม่กินกัน  คือ ไม่อาจทำร้ายหรือทำอันตรายต่อกันนั่นเอง

    กระทั่งต่อมาจนถึงปัจจุบันนี่แหละ สำนวนนี้จึงเกลื่อนกลายเป็นความหมายในเชิงไม่ถูกกันหรือไม่กินเส้นกันโดยไม่ทราบสาเหตุที่มา  ถ้าจะให้เดา ก็น่าจะมาจากการนำมาใช้สับสนปะปนกันกับคำ “ไม่กินเส้น” ซึ่งมาจากตำรานวดแผนไทย หมายถึงการนวดหรือจับเส้นที่ไม่ถูกจุดมากกว่า  สำนวน “ไม่กินเส้น”นี้ ยังวิวัฒน์ต่อมาเป็น “เกาเหลากัน” อันมีความหมายในเชิงไม่ถูกชะตากันอีกด้วย


    มองในแง่ดี  นี่อาจจะถือเป็นวิวัฒน์หรืออุบัติของภาษาไทยอีกแบบหนึ่งก็ได้  นอกเหนือไปจากภาษาเอ็มหรือภาษาในเน็ตที่มีพื้นฐานที่มาจากต้องการความสะดวกรวดเร็วในการพิมพ์ข้อความโต้ตอบกันเป็นหลัก จนกลายเป็นกระแสนิยมในเวลาต่อมา สิ่งที่จำเป็นต้องตระหนักคือ ผู้ใช้ควรยึดหลักภาษาไทยเดิม ๆ ไว้ให้ดี  ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะใช้อย่างมักง่ายจนกลายเป็นวิบัติโดยไม่จำเป็น  ลองนึกดู...ถ้าต้องเจอคนเขียนแบบนี้ถึงคุณ จะรู้สึกเหนื่อยไหม ขณะที่อ่าน...


"...พวกเราต้องการความรวดเรวมะใช่  ต้องมาพิมตงๆ เช่นจิง ๆ แร้นนู๋เบื่อมั่ก  จาหั้ยพิมว่าจริง ๆ แล้วหนูเบื่อ คนรอรับข้อความก้อรากงอกกันพอดี  แต่เวลาเราทัมอารัยเปงทางกาน  เราก้อไม่ได้ใช้พาสาแบบนี้สักหน่อย  อันนี้แค่เปงพาสาที่ใช่เร่น ๆ ก้อแค่นั้น  นู๋เปงเด็กนู๋ย่อมเข้าจัยตงนี้มากกว่าป้านะค่ะ  นู๋ไม่รุว่าพวกว่าพวกป้า ๆ คิดรัยอยู่  คนเราย่อมมีฟามเข้าจัยที่แตกต่าง   ถ้านู๋โต นู๋ก้อจามะเข้าจัยตงนี้ (เด็ก) แค่นู๋จาเข้าจัยตงนั้น(ผู้หยั่ย)..."
**ยุคสมัยมานเปลี่ยนเเปงแร้น มานมีทั้งเด็กแว้ง เด็กปื้ด เด็กแนวฯลฯ ป้าๆทังหลายก้อทัมจัยซะ มานเปงช่วงๆหนึ่งที่ชีวิตมานเปลี่ยนแปง..มานเปลี่ยนเเปง**


สาธุ...ขออย่าได้เจอแบบนี้กับตัวเองเรยยย....อ้าว..เฮ้ย! จบกัน..๕ ๕ ๕

 

1 ความคิดเห็น:

โพสต์แนะนำ

สาระนิทาน ชุด ไม้ไทยใจดี 🍽 เรื่อง "ข.ข้าว ขาว ขาว"

เขียวเอย...เขียวพรมผืนใหญ่ ใครมาถักทอไว้ แลไกลสุดตา  เจียวเอย... ตัวฉันนั่นไง  ใบ ข้าว เขียวเขียว ยืนต้นเดี่ยวเดี่ยว  ร...