-->

วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2553

เกร็ดภาษาไทย 🌀 บล๊อก...บล็อก...ไม้เจ็ด...ไม้แปด...หลักการใช้ไม้ตรี ไม้ไต่คู้

เผลอไปกับเทศกาลงานฉลองช่วงลงปีเก่าขึ้นปีใหม่เพียง
แว่บเดียว วันเวลาก็ผ่านเลยครึ่งเดือนแรกของปีแล้ว
สมกับคำที่โบราณท่านว่าไว้จริง ๆ “เวลาและวารี ไม่เคยรอรีคอยท่าใคร...”
ขอเปิดศักราชใหม่ต้อนรับปีเสือด้วยคำง่าย ๆ ว่า “บล็อก” ที่บังเอิญได้ยินวัยรุ่นเขาคุยกัน
ว่าอยากจะทำนี่แหละ แล้วจึงเลยไปถึงการถกเถียงกันเรื่องไม้เจ็ดไม้แปดไปโน่น
ตอนแรกนึกว่าเขากำลังพูดถึงเรื่องวิ่งผลัด...
เอ..แล้ววิ่งผลัดประเทศไหนกันนะที่มีไม้เจ็ดไม้แปด สุดท้ายจึงจับความได้ว่า ไม้เจ็ดไม้แปดที่เขาหมายถึงก็คือ ไม้ตรีและไม้ไต่คู้ที่ใช้สะกดคำว่า “Blog”ในภาษาไทยนี่เอง จะใช้ไม้อะไรดี...
ที่จริง ถ้าจับหลักได้ก็ง่ายนิดเดียวสำหรับการทำความเข้าใจในเรื่องนี้

เริ่มจากไม้ตรีหรือ ๗ หรือเลขเจ็ดไทยเด็กบางคน เรียกก่อน..
เรารู้กันอยู่แล้วว่า ไม้ตรี คือวรรณยุกต์ที่ใช้ผันเสียงตรีให้กับอักษรกลางเท่านั้น ส่วนอักษรต่ำ จะต้องใช้ไม้โทในการผันเสียงตรี...


หลักข้อต่อมา ว่าด้วยไม้ไต่คู้...
ไม้ไต่คู้ เป็นเครื่องหมายกำกับสระให้ออกเสียงสั้น และใช้กำกับเฉพาะพยางค์ที่มีตัวสะกด เท่านั้น ยกเว้นคำว่า “ก็”ซึ่งลดรูปมาจาก “เก้าะ” เป็นคำเฉพาะเพียงคำเดียว นอกนั้น มักใช้วิธีเปลี่ยนรูปไปเลย เช่น เอะ+น = เอ็น, เหะ+น = เห็น, แขะ+ง = แข็ง, เลาะ+ก = ล็อก เป็นต้น..

โดยทั่วไป ไม้ไต่คู้มักใช้กำกับคำไทยและคำจากภาษาอื่นที่ไม่ใช่บาลี สันสกฤตเพื่อกำหนดให้ออกเสียงสั้น เช่น เค็ม เซ็ง เผ็ด เสร็จ เสด็จ ฮาเร็ม ช็อกโกเล็ต...ฯลฯ ที่ไม่ต้องการออกเสียงสั้นก็ไม่ต้องใส่ไม้ไต่คู้เช่น เลน เสน เบน เอน...ฯลฯ ส่วนคำที่มาจากภาษาบาลี สันสกฤต ถือเป็นข้อต้องห้ามมิให้ใช้ไม้ไต่คู้กำกับ แม้จะออกเสียงสั้นก็ตามตัวอย่างคำเหล่านี้ที่เราคุ้นเคยกันดีก็เช่น คำว่า เพชร เบญจวัคคีย์ เป็นต้น

ปัญหาต่อไปที่น่าพิจารณาก็คือ แล้วเสียงตรีได้มาจากไหน ในเมื่อไม้ไต่คู้ไม่ใช่วรรณยุกต์ แต่ทำไมจึงมีอำนาจผันเสียง ดังที่ปรากฎในคำว่า “ลอก” (เสียงโท) กลับกลายเป็นเสียงตรีทันทีที่ใส่ไม้ไต่คู้กำกับ (ล็อก)
 เช่นเดียวกับคำว่า “บลอก” (เสียงเอก) ซึ่งมีอักษรนำเป็นอักษรกลางจึงออกเสียงตรีได้ก็ต่อเมื่อมีวรรณยุกต์ตรี (๗) กำกับ (บล๊อก) แต่เนื่องจากแม้มีเสียงตรีปรากฏ ก็ยังมิใช่ออกเสียงสั้นอย่างแท้จริง จึงต้องใช้ไม้ไต่คู้กำกับ เพื่อให้ได้เสียงสั้นตามต้องการ

คำตอบของการผันเสียง จึงมิได้อยู่ที่ไม้ใต่คู้แต่อย่างใด หากอำนาจของการผันเสียงอยู่ที่พยัญชนะ
ที่ผันไปตามอักษรสูง กลาง ต่ำ นั่นเอง...
คำว่า Blog เมื่อเขียนเป็นภาษาไทยจึงควรใช้ว่า “บล็อก” เช่นเดียวกับคำว่า Taxi เมื่อ
เขียนเป็นภาษาไทยก็ควรใช้ “แท็กซี” โดยอาศัยหลักเดียวกัน
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้...

                                   บล๊อก...บล็อก...ไม้เจ็ด...ไม้แปด...หลักการใช้ไม้ตรี ไม้ไต่คู้
เกร็ดภาษาไทย/ภาษาไทย-ใช้ให้เป็น   https://planetpt.blogspot.com/search/label/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%20%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โพสต์แนะนำ

สาระนิทาน ชุด ไม้ไทยใจดี 🍽 เรื่อง "ข.ข้าว ขาว ขาว"

เขียวเอย...เขียวพรมผืนใหญ่ ใครมาถักทอไว้ แลไกลสุดตา  เจียวเอย... ตัวฉันนั่นไง  ใบ ข้าว เขียวเขียว ยืนต้นเดี่ยวเดี่ยว  ร...