-->

วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เกร็ดภาษาไทย ⏰ นับเวลาแบบไทย...ทุ่ม..โมง..ยาม

ตำนานเวลา

หยุดเขียนไปหลายวันเพราะหดหู่เศร้าใจกับความเป็นไปของสถานการณ์บ้านเมืองจนหมดสิ้นเรี่ยวแรง วันนี้เลยขอต่อเรื่องการนับเวลาแบบไทย ๆ ที่เขียนค้างไว้ให้จบ....

คติไทยสมัยก่อน (หรืออาจจะรวมถึงสมัยนี้ด้วย) นิยมอะไรที่ “ง่ายไว้ก่อน พ่อสอนไว้” จนดูเหมือนจะกลายเป็นค่านิยมทางวัฒนธรรมแบบหนึ่งของไทยเราไปแล้ว แม้แต่ภาษาไทยของเราเองก็ดูจะไม่เว้นเช่นกัน เพราะนับตั้งแต่สมัยแรกกำเนิดภาษาไทยก็นิยมใช้คำโดดหรือคำที่ออกเสียงพยางค์เดียวในการสื่อความหมายอยู่แล้วเช่น ฉัน,รัก, แม่...ฯลฯ

จนกระทั่งต่อมาระยะหลังนั่นแหละ ถึงเริ่มมีการใช้คำควบหรือคำประสมตามอิทธิพลที่ได้รับมาจากภาษาบาลี-สันสกฤตรวมทั้งภาษาในตระกูลมอญ-เขมรเพิ่มเติมเข้ามา

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เราจะกำหนดนับเวลาตามสิ่งที่เห็นและรู้สึกได้ในชีวิตประจำวัน อย่างเช่นคำว่า “โมง” และ “ทุ่ม”อันเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกเวลาช่วงกลางวันและกลางคืน ก็มาจากเสียงย่ำฆ้องและกลองที่ทางวัดใช้ตีบอกเวลาในแต่ละชั่วโมงของวันนั่นเอง เนื่องจากสมัยก่อนนาฬิกามักมีใช้เฉพาะภายในวัดเท่านั้น ชาวบ้านจึงต้องอาศัยเสียงสัญญาณกลองและฆ้องที่ดังมาจากวัดเป็นหลัก บ้างที่อยู่ห่างไกลออกไปจนไม่ได้ยินแม้แต่เสียงย่ำกลองก็ต้องใช้วิธีฟังเสียงปืนใหญ่ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดฯให้ทหารเรือยิงปืนใหญ่ประจำเรือทุก ๆ เที่ยงวันเพื่อประชาชนและบรรดาพ่อค้าวานิชจะได้ใช้เทียบเวลาประจำวัน นี่จึงเป็นที่มาของคำว่า “ไกลปืนเที่ยง” ซึ่งหมายพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลความเจริญ และยังเป็นที่มาของการกำหนดให้กองทัพเรือเป็นผู้รักษาเว
ลามาตรฐานของประเทศอีกด้วย


กังวานดัง “โหม่ง” แรกของวัน เริ่มจากเสียงฆ้องที่ตีบอกเวลาตั้งแต่ ๗ นาฬิกาจนถึงเพลหรือ ๑๑ นาฬิกาอันเป็นเวลาที่พระฉันอาหารนับไล่เรียงมาตั้งแต่ฟ้าสว่างหรือย่ำรุ่ง (๖ นาฬิกา) เป็นหนึ่ง..สอง...สาม..สี่..และห้าโมงเช้าหรือเพลตามลำดับ (ต่างจากประเพณีสากลที่เริ่มนับหนึ่งกันตั้งแต่ผ่านพ้นชั่วโมงแรกหลังเที่ยงคืนเลยทีเดียว) พอผ่านเที่ยงวันก็เริ่มนับใหม่เป็นช่วงบ่ายโมง..บ่ายสอง..สาม..สี่..และห้าเช่นเดียวกัน ก่อนผ่านไปยังย่ำค่ำ (๑๘ นาฬิกาหรือหกโมงเย็น) หลังจากนั้น สัญญาณก็จะเปลี่ยนไปจากการใช้ฆ้องมาเป็นกลองดังตุ้ม..ตุ้ม ตั้งแต่ตุ้มเดียวหรือหนึ่งทุ่มไปจนถึงห้าตุ้มหรือห้าทุ่ม ก่อนถึงเที่ยงคืนหรือหกทุ่มหรือที่นิยมเรียกกันว่า “สองยาม”ในอีกหนึ่งชั่วโมงต่อมา..

คำว่า "ยาม" ที่จริงก็มาจากกำหนดการเข้าเวรยามของทหารยามรักษาการภายในพระราชวังนั่นเอง ในสมัยก่อน การผลัดเวรยามของทหาร ช่วงกลางวันจะแบ่งเป็น ๒ ผลัด ผลัดละ ๖ ชั่วโมงตั้งแต่ย่ำรุ่งจนถึงย่ำค่ำ หลังจากนั้นจึงถึงเวรของยามผลัดกลางคืนซึ่งแบ่งตามคาบเวลาเป็นช่วง ๆ ละ ๓ ชั่วโมงเริ่มตั้งแต่ย่ำค่ำหรือหกโมงเย็นถือเป็นยามต้นจนถึงสามทุ่ม..ยาม ๒ ตั้งแต่สามทุ่มถึงเที่ยงคืนหรือสองยาม ต่อด้วยยาม ๓ (เที่ยงคืน-ตีสาม) และยาม ๔ (ตีสาม – ย่ำรุ่งหรือหกโมงเช้า) ตามลำดับ

การนับยามแบบนี้มีข้อสังเกตเล็กน้อยสำหรับคนที่เคยผ่านตานิยายกำลังภายในหรือพงศาวดารจีนมา คือข้อแตกต่างตรงที่จีนนับยามเป็นคาบเวลาเพียงช่วงละ ๒ ชั่วโมง ขณะที่ไทยเราถือ ๓ ชั่วโมงเป็นหลัก

ช่วงพลบค่ำหรือย่างเข้าสู่ช่วงกลางคืน ตามวัดวาอารามสมัยก่อนมักย่ำกลองอันหมายถึงการกระหน่ำตีซ้ำ ๆ เป็นสัญญาณบอกว่าสนธยาหรือรัตติกาลกำลังเริ่มขึ้น จนกลายเป็นที่มาของคำว่า “ย่ำค่ำ” และเลยไปถึงคำว่า “ย่ำรุ่ง” เพื่อให้รับกันในช่วงเช้าด้วย แม้ในช่วงเวลานี้ จะไม่มีการ“ย่ำ” ฆ้องหรือกลองแต่ประการใด

ตลอดช่วงกลางคืนหลังพลบค่ำ แทนการใช้สัญญาณฆ้องหรือกลองเป็นเครื่องบอกเวลาอย่างตอนกลางวัน เขานิยมใช้วิธีเคาะแผ่นเหล็กเมื่อครบแต่ละชั่วโมงแทน เนื่องจากเสียงไม่ดังมากนักจนถึงกับรบกวนการนอนหรือการพักผ่อนของผู้คน โดยมักจะเริ่มการตีตั้งแต่ชั่วโมงแรกหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป จึงนิยมเรียกกันในภายหลังว่า ตีหนึ่ง..ตีสอง..ตีสาม..เรื่อยมา

อรรถาธิบายเรื่อง ทุ่ม, โมง, ยาม, ย่ำ, ตี ก็คงเอวังได้ด้วยประการฉะนี้....



https://planetpt.blogspot.com/search/label/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%20%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99

4 ความคิดเห็น:

  1. ได้ความรู้ที่ต้องเอาไปสอบพอดีเลย ขอบคุณมากค่ะ ^^

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณมากนะคะ ได้ความรู้มากๆ สนุกด้วย

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณที่ชื่นชอบครับ...^__^

    ตอบลบ

โพสต์แนะนำ

สาระนิทาน ชุด ไม้ไทยใจดี 🍽 เรื่อง "ข.ข้าว ขาว ขาว"

เขียวเอย...เขียวพรมผืนใหญ่ ใครมาถักทอไว้ แลไกลสุดตา  เจียวเอย... ตัวฉันนั่นไง  ใบ ข้าว เขียวเขียว ยืนต้นเดี่ยวเดี่ยว  ร...