-->
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เกร็ดภาษาไทย แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เกร็ดภาษาไทย แสดงบทความทั้งหมด

วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

กวีวัจนะ📜 ร้อยกระบวนสำนวนไทย (๑) ร่ายสุภาพ/ฉันท์

สำนวนไทยในชีวิตประจำวัน https://planetpt.blogspot.com/
โวหารโบราณไทย แทรกแฝงไว้เป็นคติ ก่อดำริโดยชอบ ให้รอบคอบคิดเห็น ยามบำเพ็ญกอปรกิจ  แก่ชีวิตทุกขณะ  รู้ปะทะทางทุกข์ รู้สร้างสุขพอเสพ รู้จักเจ็บจักจำ รู้โถมทำรู้ถอย รู้รอคอยรู้เร่ง รู้ควรเก่งควรหลบ รู้สยบรู้ยอ รู้ควรงอควรหัก รู้ผ่อนหนักผ่อนเบา รู้ทางเขลาทางควร รู้ถี่ถ้วนทางเถิน รู้ดำเนินทางราบ รู้บำราบปรปักษ์ รู้ตอบรักหมู่มิตร รู้ขบคิดครวญใคร่ รู้สงสัยสืบเสาะ รู้ย่างเหยาะเย็นเยือก รู้ว่าเปลือกว่าแก่น รู้ตอบแทนตอบรับ รู้สดับรู้แสดง รู้ระแวงขานไข รู้เปิดใจเปิดปาก รู้ใดกากใดค่า รู้คบค้าเพื่อนมนุษย์ รู้สมมุติสงสาร รู้สราญเริงรื่น รู้หยิบยื่นแก่เขา รู้รับเอาเหมาะสม รู้ทางลมทางหลีก รู้ใครฉีกใครฉก รู้ยอยกชีวาตม์ รู้อำนาจยามใช้ รู้ปลอบใจยามหม่น รู้เจียมตนเจียมอยู่ รู้ศัตรูรู้มิตร หลั่งแง่คิดคมคาย หลากความหมายมากมี แล้วแต่ตีความขบ บ้างซ่อนทบหลายชั้น บ้างแดกดันพอเจ็บ บ้างหนักเหน็บตรงตรง บ้างเจตน์จงปรามาส บ้างประสาทสังสิทธิ บ้างสะกิดให้ฉุก บ้างปลอบปลุกให้สู้ บ้างโจมจู่จับใจ บ้างเลียดไถลเข้าข้าง บ้างสมอ้างเอาเอง ท่านเลบงบอกบท กำหนดข้อคำสอน  เป็นคำกลอนสุภาษิต ให้แง่คิดคำคม บ้างติชมเฉยเฉย เรียกคำพังเพยก็ว่า บ้างอุปมาอุปไมย ยกข้อไขเปรียบเทียบ เรียบเรียงไว้โวหาร เป็นบำนาญแห่งผู้ ชมชื่นหวังเรียนรู้ แบบเบื้องบุรพกาล  ท่านแฮ...

วิชชุมมาลาฉันท์


ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ คนดีมักไร้ เภทภัยแผ้วพาน

ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน อยากอยู่สำราญ อย่าเที่ยวโกงใคร

ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ ต่างรู้ไส้ใน ซึ่งกันและกัน
จอดไม่ต้องแจว เถื่อนแถวทางตัน ขัดข้องทั้งนั้น ทางสู้ทางหนี

หาเหาใส่หัว เปลืองตัวใช่ที่ ช่วยเขาเราซี หน้าเผือดเดือดร้อน

เอามือซุกหีบ ต้องรีบไถ่ถอน พิษร้ายภัยรอน อย่าวอนหาความ

อย่าหมิ่นทับถม คนล้มอย่าข้าม วันนี้ทรุดทราม วันงามยังมี
 

วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2563

๑๑ เหตุผล💎 ทำไมสุนทรภู่จึงยืนหนึ่งในฐานะกวีเอกเสมอมา..

BookAbout  สุนทรภู่ ครูกวี ThaiPoet

ย้อนความหลังครั้งเก่าเงาอดีต ทั้งจารีตประเพณีที่สูญหาย

อีกสีสรรพ์วรรณคดีที่พริ้งพราย กับลวดลายนิทานเนิ่นนานมา

เพราะหนังสือถูกทัพดิสรัปชั่น มาห้ำหั่นจนสูญหายไปต่อหน้า

จึงสืบสานพอให้รู้ผ่านหูตา ตามประสาคนเก่า..อยากเล่าให้ฟัง...


คงจะมีคนสงสัยกันบ้างว่า ทำไมกวีเอกอย่างสุนทรภู่ถึงได้รับการยอมรับและยกย่องกันเป็นอย่างมาก ทั้งที่ไทยเรามีกวีฝีมือเยี่ยมและวรรณคดีชั้นครูอยู่มากมาย  วันนี้ เราจะมาดูกันว่า กระบวนกลอนสุนทรภู่มีความโดดเด่นอย่างไร ถึงทำให้ท่านยืนหนึ่งตลอดมา…..


รื่นไหลดังสายน้ำ

งดงามด้วยลีลา

อหังการ์เปี่ยมล้น

แยบยลในการเล่า

ปลุกเร้าจินตนาการ

แตกฉานในสัมผัส

เด่นชัดในในอารมณ์

อุดมสุภาษิต

สื่อชีวิตแนบเนียน

เขียนภาษาตลาด

ปราชญ์แห่งการใช้คำ

"สุนทรภู่"  SoonthornPoo Thai Great Poet


บางที นี่อาจจะเป็นบทสรุปงานของท่านภู่หรือสุนทรภู่ที่เรารู้จักกันดีในฐานะกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านถือเป็นกวีสี่แผ่นดิน คือเกิดในสมัยรัชกาลที่ ๑ แล้วมีชีวิตอยู่ต่อมาจนถึงรัชกาลที่ ๔  ท่านเกิดและเติบโตมาในรั้ววังหลัง เพราะมีแม่เป็นข้าหลวงอยู่ในวัง  ตอนที่ท่านเริ่มโตเป็นโจ๋อยู่แถววังหลังนั้น เป็นช่วงต้นรัชกาลที่ ๒ ที่ถือกันว่าเป็นยุคทองของวรรณคดีไทย  เพราะสังคมเริ่มสงบ เริ่มฟื้นตัวจากพิษสงครามกับพม่า   มีการติดต่อค้าขายกับฝรั่ง แขก จีน ไทยไปทั่วกรุงสยามสมัยนั้น  ท่านสุนทรภู่คงมีโอกาสคลุกคลีกับนักเดินทางและคนเรือสินค้าที่ขึ้นล่องผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามา ท่านจึงซึมซับความรู้เรื่องราวต่าง ๆ จากโลกภายนอกอย่างกว้างขวาง  ประกอบกับในรั้ววังหลังก็คงมีการละเล่น ร้องรำทำเพลงกันเป็นประจำ เช่น เล่าขานวรรณคดี ขับเสภา เล่นกลอนสักวา การละครฟ้อนรำ  บรรเลงมโหรีปี่พาทย์ สิ่งเหล่านี้ สุนทรภู่คงคุ้นเคยเป็นอย่างดี  เมื่อรวมกับนิสัยรักเรียนเขียนอ่านของท่าน  จึงไม่แปลกอะไรที่ท่านจะมีความรู้แตกฉานด้านการใช้ภาษาและสามารถนำออกมาใช้อย่างเชี่ยวชาญ…


ทีนี้ มาดูกันทีละข้อว่ากลอนของสุนทรภู่มีความโดดเด่นอย่างไร

วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ภาษาศิลป์ 📘 สร้อยคำ ๐ คำเสริม ๐ คำสร้อย


สร้อยคำนี้บางครั้งอาจเรียกว่าเป็นคำอุทานเสริมบทหรือเรียกสั้น ๆ ว่า คำเสริม ก็ได้
เสน่ห์และสุนทรียภาพในภาษาไทยอย่างหนึ่ง ซึ่งถือเป็นมรดกความงามทางวัฒนธรรมอันน่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งของคนไทยเรา คือความเป็นภาษาศิลป์ที่มีสุนทรียะผ่านทางระดับของเสียง (วรรณยุกต์) จังหวะสั้นยาว (สระ) ตลอดจนความหนักเบาหรือน้ำหนักของคำ (ครุ-ลหุ) อันทำให้สามารถก่อรูปฉันทลักษณ์ในรูปแบบต่างๆรวมทั้งสื่อแสดงอารมณ์ในเชิงวรรณศิลป์ได้มากมายอย่างยากที่จะหาในภาษาใด ๆ ในโลกมาเปรียบ

      ไม่เชื่อก็ลองอ่านหนึ่งในสุดยอดวรรณคดีไทยแห่งยุครัตนโกสินทร์ที่ชื่อ สามัคคีเภทคำฉันท์ ของท่าน “ชิต บุรทัต ท่อนนี้ดูซีครับ....

     
๏ เอออุเหม่นะมึงชิช่างกระไร   ทุทาสสถุลฉะนี้ไฉน
ก็มาเป็น
๏ ศึกบถึงและมึงก็ยังมิเห็น     จะน้อยจะมากจะยากจะเย็น
ประการใด
๏ อวดฉลาดและคาดแถลงเพราะใจ   ขยาดขยั้นมิทันอะไร  
ก็หมิ่นกู
๏ กลกากะหวาดขมังธนู   บห่อนจะเห็นธวัชริปู
สิล่าถอย…ฯลฯ

ลองอ่านออกเสียงดัง ๆ ดูสิ  พยายามจับจังหวะและนำหนักของเสียงที่เปล่งออกมา  เราอาจสัมผัสได้ถึงสื่ออารมณ์ของผู้พูดที่บริภาษออกมาด้วยความรู้สึกโกรธเกรี้ยวระคนผิดหวังรุนแรง ได้อย่างบาดลึกลงไปในจิตใจของคนฟังเลยทีเดียว...

      อีกตอนหนึ่ง....     

๐ บงเนื้อก็เนื้อเต้น      
พิศเส้นสรีร์รัว
ทั่วร่างและทั้งตัว               
ก็ระริกระริวไหว

๐ แลหลังละลามโล     
หิตโอ้เลอะหลั่งไป
เพ่งผาดอนาถใจ                        
ระกะร่อยเพราะรอยหวาย…ฯลฯ

ท่อนแรกประพันธ์ในรูปอีทิสฉันท์หรือ อีทิสังฉันท์ ๒๐ ส่วนท่อนหลังคือ อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑  แต่ทั้งสองท่อน  ต่างเต็มเปี่ยมไปด้วยความงามแห่งภาษาศิลป์ที่สะท้านสะเทือนอารมณ์ได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย..

วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เกร็ดภาษาไทย 📚 สำนวน "ศรศิลป์ไม่กินกัน", "ไม่กินเส้น"

สำนวน "ศรศิลป์ไม่กินกัน", "ไม่กินเส้น"
ตั้งใจไว้แต่เดิมว่า  จะปลีกวิเวกจากการเขียนอะไรต่อมิอะไรไปสักพักหนึ่ง  ด้วยรู้สึกจิตตกจากสาเหตุหลาย ๆ ประการดังที่เราท่านทั้งหลายต่างรับรู้กันดี  จนพลอยทำให้ตัวหนังสือทุกตัวที่วิ่งออกมาจากอารมณ์ ความคิดดูเหมือนเต็มไปด้วยความขุ่นมัว ติติง วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบต่อสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ในบ้านเมืองเสียเป็นส่วนใหญ่ สุดท้ายเลยต้องแอบขอลาหยุดกับตัวเอง  เอาแต่สวมหูฟังนั่งทอดหุ่ยฟังเพลงไปเรื่อย  จนหุ่ยที่ทอดไว้ไหม้ไปหลายตลบแล้ว..อิอิ

    เอ่ยถึงคำว่า "ทอดหุ่ย" ขึ้นมา  เลยอดสงสัยไม่ได้ว่าคำ ๆ นี้ที่มาจากไหน โดยเฉพาะคำว่า “หุ่ย”มาจากอะไร  น่าแปลกที่ขนาดถามตาเกิ้ล (คนละคนกับตาเกิ้นในเรื่อง “ล่องไพร” ของ “น้อย อินทนนท์”) ก็ยังไม่ได้เรื่อง  ยังดีที่ได้พบความไม่อยู่กับร่องกับรอยของพจนานุกรมไทยที่ยังความสับสนแก่นักเรียนและประชาชนอีกครั้งในสำนวนนี้ กล่าวคือ ในความหมายเดิม (ฉบับปี ๒๔๙๓) ราชบัณฑิตท่านให้ความหมายว่า “อาการนอนอย่างอ่อนอกอ่อนใจ” พูดง่าย ๆ ก็คือ ไม่สบายใจนั่นแหละ  แต่พอมาถึงฉบับปี ๒๕๒๕ ความหมายกลับเปลี่ยนไปเป็น “การนอนอย่างสบายใจ ปราศจากความวิตกกังวล”....คนละขั้วไปเลย
    ตัวอย่างคล้าย ๆ กันของสำนวนไทยที่แปรเปลี่ยนความหมายไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงอีกคำหนึ่งก็คือ คำว่า "ศรศิลป์ไม่กินกัน"

วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เกร็ดภาษาไทย ⏰ นับเวลาแบบไทย...ทุ่ม..โมง..ยาม

ตำนานเวลา

หยุดเขียนไปหลายวันเพราะหดหู่เศร้าใจกับความเป็นไปของสถานการณ์บ้านเมืองจนหมดสิ้นเรี่ยวแรง วันนี้เลยขอต่อเรื่องการนับเวลาแบบไทย ๆ ที่เขียนค้างไว้ให้จบ....

คติไทยสมัยก่อน (หรืออาจจะรวมถึงสมัยนี้ด้วย) นิยมอะไรที่ “ง่ายไว้ก่อน พ่อสอนไว้” จนดูเหมือนจะกลายเป็นค่านิยมทางวัฒนธรรมแบบหนึ่งของไทยเราไปแล้ว แม้แต่ภาษาไทยของเราเองก็ดูจะไม่เว้นเช่นกัน เพราะนับตั้งแต่สมัยแรกกำเนิดภาษาไทยก็นิยมใช้คำโดดหรือคำที่ออกเสียงพยางค์เดียวในการสื่อความหมายอยู่แล้วเช่น ฉัน,รัก, แม่...ฯลฯ

จนกระทั่งต่อมาระยะหลังนั่นแหละ ถึงเริ่มมีการใช้คำควบหรือคำประสมตามอิทธิพลที่ได้รับมาจากภาษาบาลี-สันสกฤตรวมทั้งภาษาในตระกูลมอญ-เขมรเพิ่มเติมเข้ามา

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เราจะกำหนดนับเวลาตามสิ่งที่เห็นและรู้สึกได้ในชีวิตประจำวัน อย่างเช่นคำว่า “โมง” และ “ทุ่ม”อันเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกเวลาช่วงกลางวันและกลางคืน ก็มาจากเสียงย่ำฆ้องและกลองที่ทางวัดใช้ตีบอกเวลาในแต่ละชั่วโมงของวันนั่นเอง เนื่องจากสมัยก่อนนาฬิกามักมีใช้เฉพาะภายในวัดเท่านั้น ชาวบ้านจึงต้องอาศัยเสียงสัญญาณกลองและฆ้องที่ดังมาจากวัดเป็นหลัก บ้างที่อยู่ห่างไกลออกไปจนไม่ได้ยินแม้แต่เสียงย่ำกลองก็ต้องใช้วิธีฟังเสียงปืนใหญ่ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดฯให้ทหารเรือยิงปืนใหญ่ประจำเรือทุก ๆ เที่ยงวันเพื่อประชาชนและบรรดาพ่อค้าวานิชจะได้ใช้เทียบเวลาประจำวัน นี่จึงเป็นที่มาของคำว่า “ไกลปืนเที่ยง” ซึ่งหมายพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลความเจริญ และยังเป็นที่มาของการกำหนดให้กองทัพเรือเป็นผู้รักษาเว
ลามาตรฐานของประเทศอีกด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2553

เกร็ดภาษาไทย ⏳ เวลาที่ผ่านเลย..คำว่า นาฬิกามาจากไหน

เวลาที่ผ่านเลย คำว่า "นาฬิกา"

สำหรับคนที่ตกอยู่ในห้วงแห่ง
ความรัก ความพอใจ หรือความรื่นเริงบันเทิงมีทั้งหลายทั้งปวง อาจมีความรู้สึกว่าเวลาช่างล่วงเลยไปรวดเร็วเสียเหลือเกิน แต่สำหรับคนที่กำลังเผชิญกับความทุกข์ ความเศร้าหมอง หรือความสิ้นหวัง อาจรู้สึกว่าวันเวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้าจนบางครั้ง รู้สึกอึดอัดไปหมด ทั้งที่อยู่ภายใต้พระอาทิตย์ดวงเดียวกัน

การเคลื่อนไปของเวลาจึงเป็นเสมือนรูปแบบอุปาทานชนิดหนึ่งที่จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกของแต่ละคนในช่วงขณะนั้น เหตุนี้กระมังที่ทำให้คนเราต้องประดิษฐ์คิดค้นนาฬิกาขึ้นมา เพื่อกำหนดหน่วยนับเวลาสากลที่ถูกต้องตรงกันแทนเวลาสมมติในความรู้สึกของมนุษย์

คำว่า “นาฬิกา” แต่เดิมเป็นคำมาจากรูปภาษาสันสกฤตว่า “นาฑิกา” แต่แปลงรูป “ฑ” มาเป็น “ฬ” แบบบาลี “นาฬิ” ในภาษาบาลีแปลว่า “ทะนาน” เมื่อรวมกับคำว่า “กา” (กำหนดเครื่องหมาย) เป็น นาฬิกา จึงแปลว่า การใช้ทะนานเป็นเครื่องกำหนดเวลา
เพราะในสมัยโบราณ นิยมวัดเวลาด้วยการใช้ทะนานหรือก็คือกะลามะพร้าวเจาะรูที่ก้นแล้วนำไปลอยน้ำ จนกว่ากะลาจะจม จมครั้งหนึ่งก็เรียกว่า ๑ นาฬิกาหรือ ๑๐ บาทตามมาตราไทย ซึ่งกำหนดหน่วยเวลา ๑ บาท = ๖ นาที สอดคล้องต้องกันกับมาตรฐานเวลาสากลที่กำหนดให้ ๑ นาฬิกา หรือหนึ่งชั่วโมงเท่ากับ ๖๐ นาทีพอดี

ส่วนที่ว่าทำไมเวลาสากลจึงกำหนดเป็นชั่วโมง นาทีและวินาที เรื่องนี้คงต้องย้อนเวลาหาอดีตไปถึงสมัยบาบิโลนโน่นแน่ะ ในฐานะเป็นคนต้นคิดใช้เลขฐานหกเป็นตัวกำหนดการหมุนรอบของวัตถุที่พบเห็นตามธรรมชาติ โดยแบ่งจังหวะการหมุนรอบของสิ่งต่าง ๆ ออกเป็นหกส่วนส่วนละ ๖๐ องศา หมุนครบหนึ่งรอบก็เท่ากับ ๓๖๐ องศา หนึ่งองศาเท่ากับ ๖๐ ลิปดา และหนึ่งลิปดาเท่ากับ ๖๐ พิลิปดาตามลำดับ กระทั่งต่อมา จึงมีการนำมาปรับใช้กับหน่วยเวลาอีกโสดหนึ่ง

กลับมาเรื่อง
การนับเวลาแบบไทยกันต่อ ไทยเรามีการนับเวลาทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ แบบทางการก็เรียกเป็นนาฬิกาดังได้กล่าวมาแล้วส่วนที่ไม่เป็นทางการก็เรียกตามช่วงเวลาของวันสุดแท้แต่สะดวกปาก มีใช้กันทั้ง..ทุ่ม, โมง, ยาม, ย่ำ, ตี.. ซึ่งคงต้องอธิบายกันยืดยาวไม่น้อยกว่าจะครบถ้วน
กระบวนความ จึงขอยกยอดเอาไว้พูดถึงในตอนต่อไปน่าจะเหมาะกว่า

ก่อนจบ..ขอฝากเรื่องการอ่านเวลาของคนสมัยก่อนสักนิด ซึ่งสมัยนี้คงไม่มีโอกาสได้ยินหรือได้เห็นกันแล้วนอกจากในตำราโหราศาสตร์ ตัวอย่างเช่นวันหนึ่งขึ้นค่ำ ย่ำรุ่งสองนาฬิกา เศษสังขยาห้าบาท แปลไทยเป็นไทยก็คงแปลได้ดังนี้...

วันหนึ่งขึ้นค่ำ = วันขึ้นหนึ่งค่ำ
ย่ำรุ่งสองนาฬิกา = เวลาสองโมงเช้า
เศษสังขยาหมายถึงเศษของหน่วยนับ (สังขยาในที่นี้ไม่ได้หมายถึงขนม)
ห้าบาท = ๕ x ๖ = ๓๐ นาที
รวมความก็คือ วันขึ้นหนึ่งค่ำ เวลาเช้า ๘.๓๐ น.
เอวัง...


https://planetpt.blogspot.com/search/label/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%20%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99

วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2553

เกร็ดภาษาไทย 🖐 การันต์ – เมื่ออักษรงดออกเสียง

การันต์ – เมื่ออักษรงดออกเสียง คำว่า “การันต์” หมายถึงตัวอักษรที่ไม่ถูกออกเสียง เนื่องจากถูกบังคับไว้โดย “ไม้ทัณฑฆาต” ซึ่งกำกับอยู่ด้านบนตัวอักษรที่ไม่ต้องการให้ออกเสียง ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า มักใช้เฉพาะกับคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ ทั้งฝรั่งมังค่าและบาลี-สันสกฤต เนื่องจากมักเป็นคำที่มีหลายพยางค์ จึงต้องใช้เครื่องหมายทัณฑฆาตมาเป็นตัวช่วยบังคับให้งดออกเสียง ทั้งยังช่วยรักษารูปศัพท์ดั้งเดิมให้รู้ว่ามีที่มาจากไหนด้วย นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมถึงต้องมีตัวการันต์และเครื่องหมายไม้ทัณฑฆาตในภาษาไทยของเรา...

ส่วนคำไทยแท้ ๆ นั้น เนื่องจากภาษาไทยเป็นภาษาคำโดด และมีพยางค์
น้อยอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใช้ตัวการันต์แต่อย่างใด

โดยปกติ คำที่เราหยิบยืมมาใช้โดยเฉพาะจากภาษาบาลี-สันสกฤตที่เรานำ
กำกับทัณฑฆาตเพื่องดออกเสียงนั้น จะการันต์ที่พยางค์ท้ายซึ่งเป็นสระเสียงสั้นอย่างอะ อิ อุ เท่านั้น เช่น พจน์ (สระอะลดรูป) พิสุทธิ์ (สระอิ) พันธุ์ (สระอุ) เป็นต้น

ตัวการันต์กลางพยางค์ ปัจจุบันปรากฏเฉพาะแต่คำยืมที่มาจากภาษาตะวันตก ซึ่งสามารถพบได้โดยทั่วไป เช่น มาร์ค, ชอล์ก, ฟิล์ม, วาล์ว ...ฯลฯ

มีข้อที่ควรระวัง คือเรื่องการใช้การันต์ผิดที่ เช่นคำว่า “ฟิล์ม” ที่ยกเป็นตัวอย่าง เคยเห็นบางคนเขียนว่า “ฟิลม์” ซึ่งต้องอ่านว่า ฟิล หรือคำว่า “ซิลค์” ถ้าไปวางการันต์ผิดที่ (ซิล์ค) ก็ต้องอ่านว่า ซิค โดยไม่อาจอ่านเป็นอื่นได้เลย

อีกเรื่องที่ควรสังเกต คืออักษรที่งดออกเสียงนั้น ต้องอยู่หลังตัวสะกดเท่านั้น จะอยู่ลอย ๆ ไม่ได้ เช่นในคำว่า “โลกนิติ์” ตัว”ต” ยังต้องออกเสียงเป็นอยู่  เพราะเป็นตัวสะกดพอดี  ทัณฑฆาตจึงฆ่าได้เฉพาะเสียงสระอิ ส่วนตัว “ต” หนีรอดไปได้อย่างหวุดหวิด

ตัวการันต์หรือตัวอักษรที่งดออกเสียง จึงเป็นเรื่องชวนฉงนในภาษาไทยอีกเรื่องหนึ่งที่เราควรให้ความสนใจ เพราะว่ากันอันที่จริง การันต์มีตั้งแต่เป็นพยัญชนะตัวเดียว เช่น สิงห์, ปอนด์, องค์...ฯลฯ สองตัว เช่น กาญจน์, สายสิญจน์...ฯ สามตัวเช่นคำว่า พระลักษมน์ ในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นต้น การหมั่นสังเกต จดจำ จึงเป็นความจำเป็นที่เราคนไทยไม่สมควรละเลย เพื่อสืบสายธารแห่งภาษาไทยของเราให้อยู่ยืนตลอดไป. 



การันต์ – เมื่ออักษรงดออกเสียง
https://planetpt.blogspot.com/search/label/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%20%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99เกร็ดภาษาไทย / ภาษาไทย-ใช้ให้เป็น

วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เกร็ดภาษาไทย ❣ ร.รัก มิใช่ ล.ลัก



การอ่านออกเสียงควบกล้ำในภาษาไทยโดยเฉพาะตัว ร,ล ออกจะเป็นปัญหาไม่น้อยสำหรับคนทั่วไป แม้แต่คนที่มีระดับการศึกษาสูง ๆ เองก็ตาม ก็ยังออกเสียงผิดพลาดอยู่บ่อย ๆ ที่เป็นดังนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนระหว่าง “เสียงมาตรฐาน” กับ “สำเนียง” อันคุ้นชินมาจากภาษาถิ่นซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน และอีกส่วนหนึ่ง น่าจะมาจากขาดการฝึกฝนหรือศึกษาหลักการออกเสียงมานานและมักใช้ตามความสะดวกปากจนเคยตัว ปล่อยให้การอ่านออกเสียงมาตรฐานที่ราบรื่นชัดเจนเป็นเรื่องของผู้คนในแวดวงจำกัดเฉพาะโฆษกพิธีกรและบุคคลสาธารณะบางจำพวกเท่านั้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ เราจึงมักได้ยินคำพูดประเภท ”เลาต้องปับปุงเปี่ยนแปงโลงเลียนของเลาให้ดี” หรือ “ไปเล็ว ๆ ล่ะ แล้วลีบกับมานะ” อะไรทำนองนี้เป็นประจำ

ออกเสียง “ร” นั้นไม่ยากเลยถ้าเพียงแต่ผ่านการฝึกฝนออกเสียงควบกล้ำให้ถูกต้องเสียแต่แรก ยิ่งถ้าได้เริ่มฝึกมาตั้งแต่เด็กตอนที่ลิ้นยังอ่อนก็ยิ่งดี เพราะจะกลายเป็นความคุ้นชิน ที่นอกจากจะช่วยให้ได้ความถูกต้อง ไพเราะ สละสลวย แล้ว ยังช่วยในการสื่อสารให้สมดังเจตนาของผู้พูดด้วย  ลองนึกดูสิ ถ้าหากเราต้องการครีมล้างหน้าและใช้คนไปซื้อ แต่กลับได้คีมตัดลวดมาแทนเพียงเพราะพูดคำควบกล้ำไม่ชัด...!!!
ฝึกออกเสียง ร,ล ให้ดีนะครับ เพื่อช่วยยืดลมหายใจให้ภาษาไทยมาตรฐาน
ของเราไปนาน ๆ...
เริ่มจากซ้อมอ่านออกเสียงดัง ๆ จากบทกลอนข้างล่างนี้เป็นเบื้องต้นก็ได้จ้ะ...

หากรักใครใคร่ครองต้องครุ่นคิด 

เร่งสำรวจตรวจจริตกรอบนิสัย 
ทั้งครอบครัวครัดเคร่งไม่เกรงใคร 
หรือครึกครื้นรื่นไหลดูไม่งาม 
ต้องครบเครื่องครามครันไม่ครั่นคร้าม 
อย่าโครมครามหรือคร่ำครึดังฤษี
ไม่เกียจคร้านเร่งสานต่ออย่ารอรี 
เพราะรักต้องยินดีพลีเพื่อ “รัก”


หากรักใครใคร่ครองต้องครุ่นคิด  เร่งสำรวจตรวจจริตกรอบนิสัย

วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2553

เกร็ดภาษาไทย 🌀 บล๊อก...บล็อก...ไม้เจ็ด...ไม้แปด...หลักการใช้ไม้ตรี ไม้ไต่คู้

เผลอไปกับเทศกาลงานฉลองช่วงลงปีเก่าขึ้นปีใหม่เพียง
แว่บเดียว วันเวลาก็ผ่านเลยครึ่งเดือนแรกของปีแล้ว
สมกับคำที่โบราณท่านว่าไว้จริง ๆ “เวลาและวารี ไม่เคยรอรีคอยท่าใคร...”
ขอเปิดศักราชใหม่ต้อนรับปีเสือด้วยคำง่าย ๆ ว่า “บล็อก” ที่บังเอิญได้ยินวัยรุ่นเขาคุยกัน
ว่าอยากจะทำนี่แหละ แล้วจึงเลยไปถึงการถกเถียงกันเรื่องไม้เจ็ดไม้แปดไปโน่น
ตอนแรกนึกว่าเขากำลังพูดถึงเรื่องวิ่งผลัด...
เอ..แล้ววิ่งผลัดประเทศไหนกันนะที่มีไม้เจ็ดไม้แปด สุดท้ายจึงจับความได้ว่า ไม้เจ็ดไม้แปดที่เขาหมายถึงก็คือ ไม้ตรีและไม้ไต่คู้ที่ใช้สะกดคำว่า “Blog”ในภาษาไทยนี่เอง จะใช้ไม้อะไรดี...
ที่จริง ถ้าจับหลักได้ก็ง่ายนิดเดียวสำหรับการทำความเข้าใจในเรื่องนี้

เริ่มจากไม้ตรีหรือ ๗ หรือเลขเจ็ดไทยเด็กบางคน เรียกก่อน..
เรารู้กันอยู่แล้วว่า ไม้ตรี คือวรรณยุกต์ที่ใช้ผันเสียงตรีให้กับอักษรกลางเท่านั้น ส่วนอักษรต่ำ จะต้องใช้ไม้โทในการผันเสียงตรี...


หลักข้อต่อมา ว่าด้วยไม้ไต่คู้...
ไม้ไต่คู้ เป็นเครื่องหมายกำกับสระให้ออกเสียงสั้น และใช้กำกับเฉพาะพยางค์ที่มีตัวสะกด เท่านั้น ยกเว้นคำว่า “ก็”ซึ่งลดรูปมาจาก “เก้าะ” เป็นคำเฉพาะเพียงคำเดียว นอกนั้น มักใช้วิธีเปลี่ยนรูปไปเลย เช่น เอะ+น = เอ็น, เหะ+น = เห็น, แขะ+ง = แข็ง, เลาะ+ก = ล็อก เป็นต้น..

โดยทั่วไป ไม้ไต่คู้มักใช้กำกับคำไทยและคำจากภาษาอื่นที่ไม่ใช่บาลี สันสกฤตเพื่อกำหนดให้ออกเสียงสั้น เช่น เค็ม เซ็ง เผ็ด เสร็จ เสด็จ ฮาเร็ม ช็อกโกเล็ต...ฯลฯ ที่ไม่ต้องการออกเสียงสั้นก็ไม่ต้องใส่ไม้ไต่คู้เช่น เลน เสน เบน เอน...ฯลฯ ส่วนคำที่มาจากภาษาบาลี สันสกฤต ถือเป็นข้อต้องห้ามมิให้ใช้ไม้ไต่คู้กำกับ แม้จะออกเสียงสั้นก็ตามตัวอย่างคำเหล่านี้ที่เราคุ้นเคยกันดีก็เช่น คำว่า เพชร เบญจวัคคีย์ เป็นต้น

ปัญหาต่อไปที่น่าพิจารณาก็คือ แล้วเสียงตรีได้มาจากไหน ในเมื่อไม้ไต่คู้ไม่ใช่วรรณยุกต์ แต่ทำไมจึงมีอำนาจผันเสียง ดังที่ปรากฎในคำว่า “ลอก” (เสียงโท) กลับกลายเป็นเสียงตรีทันทีที่ใส่ไม้ไต่คู้กำกับ (ล็อก)
 เช่นเดียวกับคำว่า “บลอก” (เสียงเอก) ซึ่งมีอักษรนำเป็นอักษรกลางจึงออกเสียงตรีได้ก็ต่อเมื่อมีวรรณยุกต์ตรี (๗) กำกับ (บล๊อก) แต่เนื่องจากแม้มีเสียงตรีปรากฏ ก็ยังมิใช่ออกเสียงสั้นอย่างแท้จริง จึงต้องใช้ไม้ไต่คู้กำกับ เพื่อให้ได้เสียงสั้นตามต้องการ

คำตอบของการผันเสียง จึงมิได้อยู่ที่ไม้ใต่คู้แต่อย่างใด หากอำนาจของการผันเสียงอยู่ที่พยัญชนะ
ที่ผันไปตามอักษรสูง กลาง ต่ำ นั่นเอง...
คำว่า Blog เมื่อเขียนเป็นภาษาไทยจึงควรใช้ว่า “บล็อก” เช่นเดียวกับคำว่า Taxi เมื่อ
เขียนเป็นภาษาไทยก็ควรใช้ “แท็กซี” โดยอาศัยหลักเดียวกัน
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้...

                                   บล๊อก...บล็อก...ไม้เจ็ด...ไม้แปด...หลักการใช้ไม้ตรี ไม้ไต่คู้
เกร็ดภาษาไทย/ภาษาไทย-ใช้ให้เป็น   https://planetpt.blogspot.com/search/label/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%20%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99

วันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เกร็ดภาษาไทย 🎗 หลักการ (ไม่) ใช้ไม้ยมก

        เคยรู้สึกสะดุดตา สะดุดใจบ้างไหม เวลา เขียน คำวำ “ต่าง ๆ นานา” ทำไมไม่เขียนว่า “ต่าง ๆ นา ๆ” หรือ “ต่างต่างนานา”

        นั่นก็เป็นเพราะคำว่า “นานา” เป็นคำสำเร็จรูปมาจากภาษาบาลี แปลว่า “ต่าง ๆ” อยู่แล้ว จึงไม่เขียน “นา ๆ”.....

        นี่ก็พอจะนับเป็นหลักโดยอนุโลมหลักหนึ่งของการไม่ใช้ไม้ยมกกับคำที่ไม่ใช่คำไทย.....

        ดังได้กล่าวมาแล้วว่า 'ยมก' แปลว่า “คู่” ซึ่งหมายถึงการออกเสียงซ้ำนั่นเอง และอาจเป็นการออกเสียงซ้ำคำ เช่น งู ๆ ปลา ๆ , ซ้ำวลี เช่น แต่ละคน ๆ  หรือซ้ำทั้งประโยค เช่น น้องเฌอกลับมาแล้ว ๆ ก็ได้

        ทีนี้จะรู้ได้อย่างไรว่า กรณีไหนจึงจะใช้ไม้ยมกกำกับท้ายคำหรือความที่ต้องการออกเสียงซ้ำ และกรณีไหนห้ามใช้ไม้ยมกกำกับ


        ที่จริง ถ้าจะจำหลักการใช้ไม้ยมก  ถ้าจะให้ดี น่าจะจำหลักการงดใช้น่าจะง่ายและสะดวกกว่า

ประการแรก - คำพ้องรูปที่ทำหน้าที่ต่างชนิดกัน จะไม่ใช้ไม้ยมก เช่น นี่ไม่ใช่ที่ที่ควรอยู่, ดินสอ ๓ แท่ง แท่งละ ๕ บาท...ฯลฯ

ประการต่อมาคำพ้องรูปที่เป็นคำคนละความหมาย ก็เช่นกัน ห้ามใช้ไม้ยมก เช่น นี่ของของหนูนะ, ที่บางปลาปลาสลิดอร่อย...ฯลฯ

ประการที่สาม - ไม่ใช้ไม้ยมก เมื่อรูปคำเดิมเป็นคำสองพยางค์ซ้ำกัน เช่นคำว่า นานา,จะจะ, หรือหลัดหลัด เป็นต้น

ประการที่สี่ - คำที่ให้ความหมายเชิงเอกพจน์ คนคนนั้น (คนเดียว) หนู..หนู..(หมายถึงเด็กคนเดิมแต่เรียกสองหน) แต่ถ้าใช้ หนู ๆ เช่นนี้ หมายถึงเด็ก ๆ หลายคน

ประการสุดท้าย - คำในภาษากวี มักนิยมเขียนซ้ำ ไม่นิยมใช้ไม้ยมก เช่น ใดใดในโลกล้วน อนิจจัง, เรืองเรืองไตรรัตน์พ้น พันแสง, ทิ้งทั้งหนูน้อยน้อยร่อยร่อยรับ..ฯลฯ

        ที่น่าสังเกต ก็คือ นอกจากไม้ยมกจะสื่อแสดงถึงความซ้ำกันของคำหรือความแล้ว บางครั้ง ไม้ยมกยังสื่อแสดงถึงภาษาอารมณ์ได้ด้วยโดยเฉพาะใช้ในเชิงแสดงความรำคาญ ความหงุดหงิด งุ่นง่าน เช่น เบื่อคนบ่น เอาแต่บ่น ๆๆๆๆๆ อยู่นั่นแหละ, โอ๊ย...เมื่อไหร่จะเสร็จเสียที มัวแต่เขียนคิ้ว เขียน ๆๆๆๆ
อยู่ได้...ฯลฯ

         ยิ่งสมัยนี้ ไม้ยมกยิ่งไปไกลถึงขนาดติดอาร์ก้าหรือเอ็มสิบหกในการให้ความหมายไม่จำกัดแทนความหมายแค่สองเหมือนที่เคย เช่น ปัง..ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ
จนไม้ยมกเต็มบรรทัดก็ยังมี...

        เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ หวังว่าคงช่วยให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นนะครับ.

    
https://planetpt.blogspot.com/search/label/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%20%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99เกร็ดภาษาไทย/ภาษาไทย-ใช้ให้เป็น                                                 


วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เกร็ดภาษาไทย 🎗 ตำนานไม้ยมก


เขียนเรื่องเด็ก ๆ มาหลายตอนแล้ว ขอพักมาพูดเรื่องภาษาไทยของเรากันบ้าง
วันนี้ ขอพูดถึงเรื่องการใช้ไม้ยมก เพราะว่ากันอันที่จริง เราเพิ่งมีไม้ยมกใช้กันในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาสมัยพระชัยราชานี่เอง ก่อนหน้านั้น แม้แต่ตำราภาษาไทยเล่มแรกของไทยคือ “จินดามณี” ซึ่งเรียบเรียงขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ยังไม่มีไม้ยมกใช้

        “อนึ่ง แม่หนังสือแต่ก กา ถึงกนฯลฯจนถึงเกยนั้น เมืองขอมก็แต่งมีอยู่แล้ว
พญาร่วงเจ้า (พ่อขุนรามคำแหง) จึงให้แต่งรูปอักษรไท ต่างต่าง...”

แสดงว่า ไม้ยมกสมัยนั้น ยังไม่มีใช้...


         จนอีกกว่าร้อยปีต่อมานั่นแหละ จึงปรากฏในจารึกวัดเขมา (หลักที่ ๑๔) ความว่า “แลกูเกิดมาชาติใด ๆ ก็ดี ขอกูจุ่งมีปรีชญาณแลสมบัติเกิดมาแด่กูทุก ๆ กำเนิด...”

        ปรากฎรูป “ๆ” ขึ้นตอนนี้เอง ส่วนข้อที่ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น สันนิษฐานกันว่า เพราะความขี้เกียจของอาลักษณ์หรือเสมียนเขียนหนังสือ ที่เห็นว่าคำเหมือนกันจะไปเขียนสองครั้งให้เมื่อยทำไม เลยเขียนเป็นเลข “๒” ต่อมาเลยเกิดลัทธิเอาอย่างให้เสมียนคนอื่น ๆ เขียนตาม จนเกลื่อนกลายมาเป็นขาเหยียดตรงอย่างที่เห็นกันทุกวันนี้
       
         ปรากฏการณ์เช่นนี้ในภาษาไทย ชวนให้นึกไปถึงที่มาของคำไทยอีกคำหนึ่งคือ "ณ" ซึ่งใช้ในความหมายปัจจุบันแปลว่า "ที่อยู่,ที่ตั้ง" อาจมาจากการเขียนว่า "ใน" อย่างหวัด ๆ เร็ว ๆ จนอ่านเห็นเป็น "" ก็น่าจะเป็นไปได้เช่นกัน

        คำว่า “ยมก”เป็นคำมาจากภาษาบาลี แปลว่า “คู่” หรือ “แฝด” แปลกตรงที่ว่าในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาซึ่งมีคำว่า “ยมกปาฎิหาริย์” ปรากฎอยู่นั้น คำว่า“ยมกปาฎิหาริย์” มิได้มีความหมายว่าคู่เหมือนแต่อย่างเดียว หากยังแปลความหมายถึงการแสดงปาฎิหาริย์เป็นคู่ ๆ แม้จะเป็นคู่ต่างด้วย เช่นพระหัตถ์ซ้ายทรงบันดาลให้เกิดเป็นสายน้ำพวยพุ่งออกมาขณะพระหัตถ์ซ้ายทรงบันดาลให้เกิดเปลวไฟลุกโชนขึ้นมาพร้อมกันด้วย

        ชักจะยาว...เห็นทีจะต้องยกยอดไปพูดถึงเรื่องหลักการใช้ไม้ยมกให้เป็นเรื่องเป็นราวในคราวต่อไป...

                                         


วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เกร็ดภาษาไทย 🖍 ไม้ มลาย ไม้ม้วน ควรจดจำ


        เคยวางหลักจำคำไทยที่ใช้ไม้ม้วนไปครั้งหนึ่งแล้วในรูปของกาพย์ยานี
ที่ครูบาอาจารย์ท่านแต่งไว้ให้จำได้ง่าย ๆ

ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่ ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ
ฝ่ใจเอาใส่ห่อ มิหลงใหลใครขอดู
จะใคร่ลงเรือใบ ดูน้ำใสและปลาปู
สิ่งใดอยู่ในตู้ มิใช่อยู่ใต้ตั่งเตียง
บ้าใบ้ถือใยบัว หูตามัวมาใกล้เคียง
แคล่วคล่องอย่าละเลี่ยง ยี่สิบม้วนจำจงดี

        และอีกบทหนึ่งที่โบราณท่านแต่งไว้เป็นกาพย์ยานีเหมือนกัน
ปรากฎในหนังสือประถมมาลา ดังนี้...

ใฝ่ใจให้ทานนี้ นอกในมีแลใหม่ใส
ใครใคร่แลยองใย อันใดใช้และใหลหลง
ใส่กลสะใภ้ใบ้ ทั้งต่ำใต้และใหญ่ยง
ใกล้ใบและใช่จง ใช้ให้คงคำบังคับ

        ท่องจำไว้เล่น ๆ ทั้งสองบทก็น่าจะดี แต่สำหรับผู้เขียน นิยมจำบทแรกเพราะคล่องปากและจดจำง่ายดี... 
        ที่ต้องจำก็เพราะคำอื่นที่ต้องใช้สระไอสะกด โบราณท่านให้หลักว่า จะต้องใช้ไม้มลายสะกดทั้งหมด  โดยเฉพาะคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาต่างประเทศเช่น ไวน์ ไฮไฟ กังไส ไหหลำ แกงได (เครื่องแทนการลงลายมือชื่อ) ฯลฯ

        อย่างไรก็ดี มีคำที่ใช้ไม้มลายอยู่หลายคำที่มีเสียงซ้ำกับคำที่ใช้ไม้ม้วน จึงควรจดจำไว้ด้วย คำ
เหล่านี้ ได้แก่..ไต้ (สำหรับจุดไฟ), ไส (ผลักไส) ไห้ (ร้องไห้), ไจ (เข็ดด้าย), ไย (ไฉน,อะไร ,ทำไม) ได (สลัดได, แกงได) ไน (ลองไน, ปลาไน), ไหล (ปลาไหล, เหล็กไหล, เลื่อนไหล, รื่นไหล, เหลวไหล, หลับไหล)...เป็นต้น
     
         อาจมีคนหัวใจซุกซนบางคนอดสงสัยไม่ได้ว่า เอ..แล้วทำไมภาษาไทยต้องมีทั้งไม้มลายไม้ม้วนให้ป่วนใจจำด้วยหว่า....?
         ขอตอบตามที่คุณ ม.ศรีบุษรา เคยค้นคว้ามาได้ดังนี้ครับ
          มีคำเมือง (ภาษาล้านนา) เก่าแก่คำหนึ่งว่า "มาย" แปลว่า "คลี่,คลาย,ขยาย" ซึ่งเป็นความหมายเดียวกันกับที่พบในพจนานุกรมภาษาถิ่นอีสาน ซึ่งสันนิษฐานว่า มีการนำมาใช้เป็นสระหรือ ไม้มาย เพื่ออ่านออกเสียงแทนสระไอ  และเมื่อมาถึงไทยก็แผลงจาก 'มาย' เป็น 'มลาย' ตามแบบอย่างอิทธิพลของเขมรที่นิยมกันตั้งแต่สมัยสุโขทัยและก่อนหน้านั้น ส่วนคำที่ใช้สระไอไม้ม้วนนั้น เดิมออกเสียงคล้ายสระอา+สระอือปนกัน พ่อขุนรามคำแหงจึงทรงให้ราชบัณฑิตสมัยนั้นกำหนดรูปไม้ม้วนไว้ใช้แทนเสียงดังกล่าวอีกรูปหนึ่ง ซึ่งกาลเวลาที่ผ่านไปกว่า ๗๐๐ ปี ก็ทำให้เสียงสระไอและสระใอกลายเป็นเสียงเดียวกันแต่ต่างรูปดังเช่นที่เห็นกันในปัจจุบัน

          และเป็นเหตุให้เราต้องท่องเพื่อจดจำหลักการใช้ไม้หน้าสาม เอ๊ย! ไม้ม้วน ไม้มลายจนทุกวันนี้....

        เฉพาะคำว่า หลับไหล นี้ ยังเป็นคำกำกวมที่แม้แต่ราชบัณฑิตยสภาเองก็ยังไม่มีบทสรุปและมิได้บัญญัติไว้ในพจนานุกรม เนื่องจากยังมีความเห็นแย้งกันอยู่ ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ควรใช้ไม้ม้วนสะกดโดยยก พจนานุกรมล้านนา-ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง พ.ศ. ๒๕๓๓ ซึ่งเป็นฉบับร่างที่ ๒ เก็บคำ "ใหล" ว่า "ก. ละเมออย่างหลับใหล-นอนละเมอ, หลงใหล-หลงละเมอ หรือ พูดอยู่ตามลำพัง  ในขณะที่พจนานุกรมภาษาถิ่นอีสานกลับให้ความหมายเดียวกันนี้โดยสะกดด้วยไม้มลาย ซึ่งสำหรับผู้เขียนแล้ว ค่อนข้างเห็นด้วยกับฝ่ายหลัง เพราะสอดคล้องลงรอยกับหลักภาษากลางมากกว่า

        มีคำประสมที่ใช้ไม้ม้วนบางคำที่ควรสนใจ เช่น เหล็กใน (อาจเพราะอยู่ในตัวแมลง), หมาใน (ไม่ใช่หมานอก) เยื่อใย..ห่วงใย..ชักใย..ยองใย..(ล้วนมาจาก "ใย") นอกนั้นส่วนใหญ่รวมทั้งคำที่เกลื่อนกรายมาจากคำต่างประเทศ นิยมใช้ไม้มลายเป็นหลักทั้งนั้นครับ.


https://planetpt.blogspot.com/search/label/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%20%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99

วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เกร็ดภาษาไทย 🔖 ใช้ “การ” และ “ความ” ให้งามสม


วันก่อนอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง พบข้อความตอนหนึ่งว่า
“เพื่อความพัฒนาที่ยั่งยืนทางด้านพลังงานของประเทศ...”
รู้สึกสะดุดกึกขึ้นมาทันทีกับคำว่า “ความพัฒนา” เพราะถ้าเพียงแต่ใช้คำว่า
“การพัฒนา” แทนคำว่า “ความ” ก็น่าจะเหมาะสมและสละสลวยมากกว่า

จริงอยู่... แม้เรื่องนี้ไม่ถึงกับเรียกว่า “วิบัติแห่งภาษา” เมื่อเทียบกับคำที่
พบเจอหลาย ๆ คำ โดยเฉพาะภาษาที่ใช้กันบนเน็ต แต่คงจะเป็นการดี
ถ้าจะหาหลักยึดไว้สักนิด เพื่อใช้ “การ” ให้ได้ “ความ”
# ใช้ “การ” และ “ความ” ให้งามสม #


โดยทั่วไป คำที่นำมาใช้พ่วงกับ “การ” และ “ความ” นั้น มีได้ทั้ง
คำนาม คำคุณศัพท์ (ขยายนาม) คำกริยา และคำวิเศษณ์ (ขยายกริยา)
มีข้อสังเกตง่าย ๆ ดังนี้

๑. คำนามและอาการนาม มักประกอบเข้ากับ “การ” เป็นส่วนใหญ่
เช่น การบ้าน.. การเมือง.. การเรือน.. การเงิน.. การคลัง.. การครัว..
การกิน.. การนอน.. การเคลื่อนไหว.. การยิ้ม.. การมองเห็น.. การดำรงชีวิต..
การทักทาย.. การพัฒนา...ฯลฯ เป็นต้น

๒. คำกริยาเฉพาะ “มี” และ “เป็น” เมื่อประกอบกับคำนามหรือคำวิเศษณ์
ให้ใช้ “ความ”นำหน้าเสมอ เช่น ความเป็นเพื่อน... ความเป็นมนุษย์..
ความเป็นคนดี...ความมีสติ.. ความมีรสนิยม.. ความมีโชค...ฯลฯ
คำเหล่านี้ไม่นิยมใช้ “การ” นำหน้า

๓. คำกริยานอกจาก “มี” และ “เป็น” เมื่อประกอบเป็นคำนาม
อาจใช้ได้ทั้ง “การ” และ “ความ” หากมีหลักสังเกตพอเป็นข้อกำหนดได้ว่า...
ถ้ากริยาที่ใช้ มีลักษณะเป็นรูปธรรมหรือทางกายภาพ เช่น
ซื้อ.. ขาย.. จ่าย.. แจก.. เย็บ.. ปัก.. ถัก.. ร้อย.. ห้อย.. ร้อง..
ทักทาย.. ไต่ถาม..สอบสวน...ฯลฯ กริยาเหล่านี้ต้องใช้ “การ”
จะใช้ “ความ” ไม่ได้

แต่ถ้ากริยาที่ใช้ มีลักษณะเป็นนามธรรม หรือโน้มไปทางใจ
เช่น รัก..เศร้า.. เหงา..สลด..หดหู่..เบิกบาน.. หวานชื่น.. ขื่นขม..
ฟุ้งซ่าน..ท้อแท้.. ฯลฯ เหล่านี้ ต้องใช้ “ความ” นำหน้าเป็นหลักเท่านั้น

อาจมีบ้างบางคำที่ใช้ประกอบคำว่า “การ” ได้โดยอนุโลม แต่ก็ไม่เป็นที่นิยม
รู้อย่างนี้แล้ว หวังว่าคงจะพอจับหลักการใช้ “การ” ให้ได้ “ความ”
เพื่อการ “สื่อสาร” และ “สืบสาน” ภาษาไทยให้วิวัฒน์ต่อไปนาน ๆ นะจ๊ะ..

# ใช้ “การ” และ “ความ” ให้งามสม #
https://planetpt.blogspot.com/search/label/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%20%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99เกร็ดภาษาไทย/ภาษาไทย-ใช้ให้เป็น


วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เกร็ดภาษาไทย 🧨 สระเอ...ชอบเดินเซ


เสน่ห์และความงามของภาษาไทย  นอกจากความเป็นภาษาเสียง ที่มีท่วงทำนองการอ่านละม้ายคล้ายคลึงกับเสียงดนตรีแล้ว  ในแง่คำและความหมายของคำ   ยังมีความมหัศจรรย์ให้คนรักภาษาไทยและนักนิรุกติศาสตร์ได้ค้นหาอีกไม่รู้จบ  ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดประการหนึ่ง   คือคำที่เกิดจากการประสมกับสระเอ  ส่วนใหญ่มักแสดงความหมายว่า “ไม่ตรง” หรือไม่แน่นอน  ไม่เชื่อก็ลองสังเกตคำเหล่านี้ดูสิ...

(ฟัน) เก...(ตา) เข... เค้เก้...(เดิน) เฉ...(โซ) เซ...(เตร็ด) เตร่...(ลาด) เท...(หน้า) เบ้...(ขา) เป๋...โยเย...(ร่อน) เร่...เฉ (ไฉ)...เหย.(เก)....หัน (เห)....(ตา) เหล่...
               

เอ้า! ยกตัวอย่างให้ฟังก็ได้นะ อะไรบ้างล่ะ...

อย่างเช่นคำว่า โคลงเคลง โอนเอน โงนเงน หน้าเบ้ ตาเหล่ ตาเข เหยเก โยเย หันเห เค้เก้ โผเผ โซเซ  ขาเป๋ โมเม เกเร  

   

เห็นมะ... ไล่ไปเลย คำพวกนี้ ไม่มีคำไหนที่มีความหมายว่า "ตรง" ซักคำ

จะมีก็แค่คำเดียว….คำนั้นก็คือคำว่า...


เด่!  

ตรงแหน็ว  แน่นอน...


วันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เกร็ดภาษาไทย: คำว่า "ละ...ล่ะ, นะ...น่า, คะ...ค่ะ"

ภาษาไทย ใช้ให้เป็น                                           

หยิบเรื่องนี้มาพูดเพราะรู้สึกหงุดหงิดหัวใจมาหลายเพลาเต็มทนเกี่ยวกับ

การใช้คำเหล่านี้ในภาษาเขียน ที่แม้แต่ราชบัณฑิตยสถานก็ไม่เคยให้
อรรถาธิบายอย่างเป็นเรื่องราวเสียที เลยต้องทนเห็นงานเขียนหลาย ๆ ชิ้น
ที่ต้องลดทอนคุณค่าของตัวเองลงอย่างน่าเสียดาย เพราะใช้คำเหล่านี้ผิด
โดยเฉพาะในงานแปลชั้นดีหลายต่อหลายเรื่อง วันนี้เลยขออาจหาญทำ
หน้าที่อธิบายให้ชัดเจนอีกสักครั้ง...

๑. ละ ... เป็นคำที่ใช้ในประโยคบอกเล่า กร่อนเสียงมาจากคำว่า "แหละ"
เช่น เท่านั้นละ (แหละ), เอาอย่างนี้ละ (แหละ), ดีแล้วละ (แหละ)เป็นต้น

ล่ะ ...ใช้ในรูปประโยคคำถาม กร่อนเสียงมาจากคำว่า "เล่า" เช่น จะ
ไปไหนล่ะ (เล่า), กินข้าวด้วยกันไหมล่ะ (เล่า), ทีนี้จะทำอย่างไรกันดีล่ะ
(เล่า) เป็นต้น

ข้อควรจำ: เคยเห็นคนใช้คำว่า "หละ" หรือร้ายกว่านั้น "หล่ะ"
นี่ไม่ใช่ภาษาไทย ภาษากระเหรี่ยงก็ไม่มี!!!

๒. นะ ... ประกอบคำเป็นเชิงอ้อนวอนหรือเสริมให้หนักแน่นขึ้น เช่น
รอก่อนนะ, อย่าไปนะ, รักนะฯลฯ

น่ะ ...คำนี้ไม่ปรากฏในพจนานุกรม เข้าใจว่าน่าจะกร่อนเสียงมาจากคำว่า
"น่า" ในความหมายอ้อนวอน เชื้อเชิญ หรือชักชวน เช่น ลองดูหน่อย
เถิดน่า, อย่าทำอย่างนี้เลยน่า...ฯลฯ

๓. คะ ... ใช้ต่อท้ายคำเชิญชวนหรือคำถามอย่างสุภาพคล้ายกับ "จ๊ะ"
เช่น เชิญเข้ามาก่อนซิคะ, ตัดสินใจหรือยังคะ, จะไปไหนจ๊ะ ...ฯลฯ

ค่ะ ...เป็นคำรับในความหมายเดียวกับ "จ้ะ" หรือใช้ในประโยคบอกเล่า
เช่น กลับก่อนละค่ะ, ดีแล้วละค่ะ, ดูดีแล้วจ้ะ ....ฯลฯ

ข้อควรจำ: กรุณาอย่าใช้ "รักนะค่ะ" แทนที่จะใช้ "รักนะคะ" หรือ
"รักค่ะ" นะจ๊ะ...


วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2552

กวีวัจนะ: ร้อยกระบวนสำนวนไทย (๓) กาพย์ฉบัง

นกน้อยทำรังแต่พอตัว

นกน้อยทำรังแต่พอตัว เหมาะเจาะถ้วนทั่ว
เสาะสุขทุกครั้งประมาณตน

ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น หน่อเนื้อเชื้อผล
มิผิดเพี้ยนเผ่าพงศ์พันธุ์

หงิมหงิมหยิบชิ้นปลามัน งุบงิบเงียบงัน
คว้าสิ่งสำคัญก่อนใคร

ยืมจมูกคนอื่นหายใจ ขัดข้องเพียงไหน
ยากนักจักหาค่าคุณ
เปรียบคิดหวังพึ่งใบบุญ คนช่วยค้ำหนุน
บ่ห่อนสมหวังดังใจ

แมลงเม่าบินเข้ากองไฟ รังแต่มอดไหม้
เหลือหนทางตายสถานเดียว
เฉกชนไร้แล้งแรงเรี่ยว หาญฮึกขับเคี่ยว
กับอำนาจเหนือกว่าเหนือ

แกงจืดจึ่งรู้คุณเกลือ ยามมีเหลือเฟือ
บ่ห่อนรู้ค่าของใด
ถึงคราวสิพรากจากไป ฉุกคิดขึ้นได้
เสียดายคุณค่านับอนันต์

วัวใครเข้าคอกคนนั้น กรรมย่อมตามทัน
ผู้ก่อเฉกเช่นเงาตัว

เห็นกงจักรเป็นดอกบัว อับเฉาเมามัว
เกรอะบาปอาบชั่วนัวเนีย

ขายหน้าวันละห้าเบี้ย ระอาจิตคิดเพลีย
เรื่องราวฉาวฉู่มิรู้วาย

ปลูกเรือนผิดคิดจนเรือนทลาย พลั้งพลาดอาจสาย
รอบคอบคิดเห็นเป็นคุณ

พกหินดีกว่าพกนุ่น ใจย่อมค้ำจุน
ผู้เป็นเจ้าของครองคน

ใจหนักหนักด้วยเหตุผล ทุกถ้อยยินยล
ตริตรึกนึกข้อเคลือบแคลง

ใจเบาใครเขายุแยง เสกสรรค์ปั้นแต่ง
หลงเชื่อวิบัติซัดเซ

หนีเสือปะจระเข้ เรื่องร้ายจำเจ
หนีหนึ่งเจอะอื่นจัญไร

กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ กว่าคิดแก้ไข
เหตุร้ายก็สายเกินการณ์

ปัดสวะให้พ้นหน้าบ้าน ทุกเรื่องพบผ่าน
ทอดธุระแค่พ้นไปที

ไม่มีมูลฝอยหมาไม่ขี้ มีผลย่อมมี
เหตุให้สืบสาวที่มา

กินบนเรือนขี้บนหลังคา เขาให้พึ่งพา
กลับคิดข้างเนรคุณพลัน

แย้มปากก็เห็นไรฟัน รู้เท่าทันกัน
ทุกถ้อยทุกท่าทีทำ

สอนจระเข้ให้ว่ายน้ำ สั่งสอนสิ่งซ้ำ
ตระหนักรู้ล้วนชวนหัว

ตัดช่องน้อยแต่พอตัว เพื่อนพ้องพันพัว
เล็ดลอดแต่เพียงลำพัง

เลือกที่รักมักที่ชัง กิเลสบดบัง
ลำเอียงทุกครั้งฟังความ

ช้าช้าได้พร้าเล่มงาม ขบคิดตรองตาม
ประจงจิตจ่อก่อสาน

สรรพสิ่งเขื่องโขโอฬาร แท้คือตำนาน
กำเนิดแห่งภัสมธุลี

ผ่านพลังสร้างสรรค์บรรดามี ผ่านวันเดือนปี
สุดท้ายจึงเห็นดั่งเห็น....


ร้อยกระบวนสำนวนไทย (๓) ฉบัง ๑๖
ร้อยกระบวนสำนวนไทย (๔)


โพสต์แนะนำ

สาระนิทาน ชุด ไม้ไทยใจดี 🍽 เรื่อง "ข.ข้าว ขาว ขาว"

เขียวเอย...เขียวพรมผืนใหญ่ ใครมาถักทอไว้ แลไกลสุดตา  เจียวเอย... ตัวฉันนั่นไง  ใบ ข้าว เขียวเขียว ยืนต้นเดี่ยวเดี่ยว  ร...