-->
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ภาษาไทย แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ภาษาไทย แสดงบทความทั้งหมด

วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เกร็ดภาษาไทย ⏰ นับเวลาแบบไทย...ทุ่ม..โมง..ยาม

ตำนานเวลา

หยุดเขียนไปหลายวันเพราะหดหู่เศร้าใจกับความเป็นไปของสถานการณ์บ้านเมืองจนหมดสิ้นเรี่ยวแรง วันนี้เลยขอต่อเรื่องการนับเวลาแบบไทย ๆ ที่เขียนค้างไว้ให้จบ....

คติไทยสมัยก่อน (หรืออาจจะรวมถึงสมัยนี้ด้วย) นิยมอะไรที่ “ง่ายไว้ก่อน พ่อสอนไว้” จนดูเหมือนจะกลายเป็นค่านิยมทางวัฒนธรรมแบบหนึ่งของไทยเราไปแล้ว แม้แต่ภาษาไทยของเราเองก็ดูจะไม่เว้นเช่นกัน เพราะนับตั้งแต่สมัยแรกกำเนิดภาษาไทยก็นิยมใช้คำโดดหรือคำที่ออกเสียงพยางค์เดียวในการสื่อความหมายอยู่แล้วเช่น ฉัน,รัก, แม่...ฯลฯ

จนกระทั่งต่อมาระยะหลังนั่นแหละ ถึงเริ่มมีการใช้คำควบหรือคำประสมตามอิทธิพลที่ได้รับมาจากภาษาบาลี-สันสกฤตรวมทั้งภาษาในตระกูลมอญ-เขมรเพิ่มเติมเข้ามา

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เราจะกำหนดนับเวลาตามสิ่งที่เห็นและรู้สึกได้ในชีวิตประจำวัน อย่างเช่นคำว่า “โมง” และ “ทุ่ม”อันเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกเวลาช่วงกลางวันและกลางคืน ก็มาจากเสียงย่ำฆ้องและกลองที่ทางวัดใช้ตีบอกเวลาในแต่ละชั่วโมงของวันนั่นเอง เนื่องจากสมัยก่อนนาฬิกามักมีใช้เฉพาะภายในวัดเท่านั้น ชาวบ้านจึงต้องอาศัยเสียงสัญญาณกลองและฆ้องที่ดังมาจากวัดเป็นหลัก บ้างที่อยู่ห่างไกลออกไปจนไม่ได้ยินแม้แต่เสียงย่ำกลองก็ต้องใช้วิธีฟังเสียงปืนใหญ่ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดฯให้ทหารเรือยิงปืนใหญ่ประจำเรือทุก ๆ เที่ยงวันเพื่อประชาชนและบรรดาพ่อค้าวานิชจะได้ใช้เทียบเวลาประจำวัน นี่จึงเป็นที่มาของคำว่า “ไกลปืนเที่ยง” ซึ่งหมายพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลความเจริญ และยังเป็นที่มาของการกำหนดให้กองทัพเรือเป็นผู้รักษาเว
ลามาตรฐานของประเทศอีกด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2553

เกร็ดภาษาไทย ⏳ เวลาที่ผ่านเลย..คำว่า นาฬิกามาจากไหน

เวลาที่ผ่านเลย คำว่า "นาฬิกา"

สำหรับคนที่ตกอยู่ในห้วงแห่ง
ความรัก ความพอใจ หรือความรื่นเริงบันเทิงมีทั้งหลายทั้งปวง อาจมีความรู้สึกว่าเวลาช่างล่วงเลยไปรวดเร็วเสียเหลือเกิน แต่สำหรับคนที่กำลังเผชิญกับความทุกข์ ความเศร้าหมอง หรือความสิ้นหวัง อาจรู้สึกว่าวันเวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้าจนบางครั้ง รู้สึกอึดอัดไปหมด ทั้งที่อยู่ภายใต้พระอาทิตย์ดวงเดียวกัน

การเคลื่อนไปของเวลาจึงเป็นเสมือนรูปแบบอุปาทานชนิดหนึ่งที่จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกของแต่ละคนในช่วงขณะนั้น เหตุนี้กระมังที่ทำให้คนเราต้องประดิษฐ์คิดค้นนาฬิกาขึ้นมา เพื่อกำหนดหน่วยนับเวลาสากลที่ถูกต้องตรงกันแทนเวลาสมมติในความรู้สึกของมนุษย์

คำว่า “นาฬิกา” แต่เดิมเป็นคำมาจากรูปภาษาสันสกฤตว่า “นาฑิกา” แต่แปลงรูป “ฑ” มาเป็น “ฬ” แบบบาลี “นาฬิ” ในภาษาบาลีแปลว่า “ทะนาน” เมื่อรวมกับคำว่า “กา” (กำหนดเครื่องหมาย) เป็น นาฬิกา จึงแปลว่า การใช้ทะนานเป็นเครื่องกำหนดเวลา
เพราะในสมัยโบราณ นิยมวัดเวลาด้วยการใช้ทะนานหรือก็คือกะลามะพร้าวเจาะรูที่ก้นแล้วนำไปลอยน้ำ จนกว่ากะลาจะจม จมครั้งหนึ่งก็เรียกว่า ๑ นาฬิกาหรือ ๑๐ บาทตามมาตราไทย ซึ่งกำหนดหน่วยเวลา ๑ บาท = ๖ นาที สอดคล้องต้องกันกับมาตรฐานเวลาสากลที่กำหนดให้ ๑ นาฬิกา หรือหนึ่งชั่วโมงเท่ากับ ๖๐ นาทีพอดี

ส่วนที่ว่าทำไมเวลาสากลจึงกำหนดเป็นชั่วโมง นาทีและวินาที เรื่องนี้คงต้องย้อนเวลาหาอดีตไปถึงสมัยบาบิโลนโน่นแน่ะ ในฐานะเป็นคนต้นคิดใช้เลขฐานหกเป็นตัวกำหนดการหมุนรอบของวัตถุที่พบเห็นตามธรรมชาติ โดยแบ่งจังหวะการหมุนรอบของสิ่งต่าง ๆ ออกเป็นหกส่วนส่วนละ ๖๐ องศา หมุนครบหนึ่งรอบก็เท่ากับ ๓๖๐ องศา หนึ่งองศาเท่ากับ ๖๐ ลิปดา และหนึ่งลิปดาเท่ากับ ๖๐ พิลิปดาตามลำดับ กระทั่งต่อมา จึงมีการนำมาปรับใช้กับหน่วยเวลาอีกโสดหนึ่ง

กลับมาเรื่อง
การนับเวลาแบบไทยกันต่อ ไทยเรามีการนับเวลาทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ แบบทางการก็เรียกเป็นนาฬิกาดังได้กล่าวมาแล้วส่วนที่ไม่เป็นทางการก็เรียกตามช่วงเวลาของวันสุดแท้แต่สะดวกปาก มีใช้กันทั้ง..ทุ่ม, โมง, ยาม, ย่ำ, ตี.. ซึ่งคงต้องอธิบายกันยืดยาวไม่น้อยกว่าจะครบถ้วน
กระบวนความ จึงขอยกยอดเอาไว้พูดถึงในตอนต่อไปน่าจะเหมาะกว่า

ก่อนจบ..ขอฝากเรื่องการอ่านเวลาของคนสมัยก่อนสักนิด ซึ่งสมัยนี้คงไม่มีโอกาสได้ยินหรือได้เห็นกันแล้วนอกจากในตำราโหราศาสตร์ ตัวอย่างเช่นวันหนึ่งขึ้นค่ำ ย่ำรุ่งสองนาฬิกา เศษสังขยาห้าบาท แปลไทยเป็นไทยก็คงแปลได้ดังนี้...

วันหนึ่งขึ้นค่ำ = วันขึ้นหนึ่งค่ำ
ย่ำรุ่งสองนาฬิกา = เวลาสองโมงเช้า
เศษสังขยาหมายถึงเศษของหน่วยนับ (สังขยาในที่นี้ไม่ได้หมายถึงขนม)
ห้าบาท = ๕ x ๖ = ๓๐ นาที
รวมความก็คือ วันขึ้นหนึ่งค่ำ เวลาเช้า ๘.๓๐ น.
เอวัง...


https://planetpt.blogspot.com/search/label/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%20%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99

วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2553

เกร็ดภาษาไทย 🖐 การันต์ – เมื่ออักษรงดออกเสียง

การันต์ – เมื่ออักษรงดออกเสียง คำว่า “การันต์” หมายถึงตัวอักษรที่ไม่ถูกออกเสียง เนื่องจากถูกบังคับไว้โดย “ไม้ทัณฑฆาต” ซึ่งกำกับอยู่ด้านบนตัวอักษรที่ไม่ต้องการให้ออกเสียง ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า มักใช้เฉพาะกับคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ ทั้งฝรั่งมังค่าและบาลี-สันสกฤต เนื่องจากมักเป็นคำที่มีหลายพยางค์ จึงต้องใช้เครื่องหมายทัณฑฆาตมาเป็นตัวช่วยบังคับให้งดออกเสียง ทั้งยังช่วยรักษารูปศัพท์ดั้งเดิมให้รู้ว่ามีที่มาจากไหนด้วย นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมถึงต้องมีตัวการันต์และเครื่องหมายไม้ทัณฑฆาตในภาษาไทยของเรา...

ส่วนคำไทยแท้ ๆ นั้น เนื่องจากภาษาไทยเป็นภาษาคำโดด และมีพยางค์
น้อยอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใช้ตัวการันต์แต่อย่างใด

โดยปกติ คำที่เราหยิบยืมมาใช้โดยเฉพาะจากภาษาบาลี-สันสกฤตที่เรานำ
กำกับทัณฑฆาตเพื่องดออกเสียงนั้น จะการันต์ที่พยางค์ท้ายซึ่งเป็นสระเสียงสั้นอย่างอะ อิ อุ เท่านั้น เช่น พจน์ (สระอะลดรูป) พิสุทธิ์ (สระอิ) พันธุ์ (สระอุ) เป็นต้น

ตัวการันต์กลางพยางค์ ปัจจุบันปรากฏเฉพาะแต่คำยืมที่มาจากภาษาตะวันตก ซึ่งสามารถพบได้โดยทั่วไป เช่น มาร์ค, ชอล์ก, ฟิล์ม, วาล์ว ...ฯลฯ

มีข้อที่ควรระวัง คือเรื่องการใช้การันต์ผิดที่ เช่นคำว่า “ฟิล์ม” ที่ยกเป็นตัวอย่าง เคยเห็นบางคนเขียนว่า “ฟิลม์” ซึ่งต้องอ่านว่า ฟิล หรือคำว่า “ซิลค์” ถ้าไปวางการันต์ผิดที่ (ซิล์ค) ก็ต้องอ่านว่า ซิค โดยไม่อาจอ่านเป็นอื่นได้เลย

อีกเรื่องที่ควรสังเกต คืออักษรที่งดออกเสียงนั้น ต้องอยู่หลังตัวสะกดเท่านั้น จะอยู่ลอย ๆ ไม่ได้ เช่นในคำว่า “โลกนิติ์” ตัว”ต” ยังต้องออกเสียงเป็นอยู่  เพราะเป็นตัวสะกดพอดี  ทัณฑฆาตจึงฆ่าได้เฉพาะเสียงสระอิ ส่วนตัว “ต” หนีรอดไปได้อย่างหวุดหวิด

ตัวการันต์หรือตัวอักษรที่งดออกเสียง จึงเป็นเรื่องชวนฉงนในภาษาไทยอีกเรื่องหนึ่งที่เราควรให้ความสนใจ เพราะว่ากันอันที่จริง การันต์มีตั้งแต่เป็นพยัญชนะตัวเดียว เช่น สิงห์, ปอนด์, องค์...ฯลฯ สองตัว เช่น กาญจน์, สายสิญจน์...ฯ สามตัวเช่นคำว่า พระลักษมน์ ในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นต้น การหมั่นสังเกต จดจำ จึงเป็นความจำเป็นที่เราคนไทยไม่สมควรละเลย เพื่อสืบสายธารแห่งภาษาไทยของเราให้อยู่ยืนตลอดไป. 



การันต์ – เมื่ออักษรงดออกเสียง
https://planetpt.blogspot.com/search/label/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%20%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99เกร็ดภาษาไทย / ภาษาไทย-ใช้ให้เป็น

วันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เกร็ดภาษาไทย 🎗 หลักการ (ไม่) ใช้ไม้ยมก

        เคยรู้สึกสะดุดตา สะดุดใจบ้างไหม เวลา เขียน คำวำ “ต่าง ๆ นานา” ทำไมไม่เขียนว่า “ต่าง ๆ นา ๆ” หรือ “ต่างต่างนานา”

        นั่นก็เป็นเพราะคำว่า “นานา” เป็นคำสำเร็จรูปมาจากภาษาบาลี แปลว่า “ต่าง ๆ” อยู่แล้ว จึงไม่เขียน “นา ๆ”.....

        นี่ก็พอจะนับเป็นหลักโดยอนุโลมหลักหนึ่งของการไม่ใช้ไม้ยมกกับคำที่ไม่ใช่คำไทย.....

        ดังได้กล่าวมาแล้วว่า 'ยมก' แปลว่า “คู่” ซึ่งหมายถึงการออกเสียงซ้ำนั่นเอง และอาจเป็นการออกเสียงซ้ำคำ เช่น งู ๆ ปลา ๆ , ซ้ำวลี เช่น แต่ละคน ๆ  หรือซ้ำทั้งประโยค เช่น น้องเฌอกลับมาแล้ว ๆ ก็ได้

        ทีนี้จะรู้ได้อย่างไรว่า กรณีไหนจึงจะใช้ไม้ยมกกำกับท้ายคำหรือความที่ต้องการออกเสียงซ้ำ และกรณีไหนห้ามใช้ไม้ยมกกำกับ


        ที่จริง ถ้าจะจำหลักการใช้ไม้ยมก  ถ้าจะให้ดี น่าจะจำหลักการงดใช้น่าจะง่ายและสะดวกกว่า

ประการแรก - คำพ้องรูปที่ทำหน้าที่ต่างชนิดกัน จะไม่ใช้ไม้ยมก เช่น นี่ไม่ใช่ที่ที่ควรอยู่, ดินสอ ๓ แท่ง แท่งละ ๕ บาท...ฯลฯ

ประการต่อมาคำพ้องรูปที่เป็นคำคนละความหมาย ก็เช่นกัน ห้ามใช้ไม้ยมก เช่น นี่ของของหนูนะ, ที่บางปลาปลาสลิดอร่อย...ฯลฯ

ประการที่สาม - ไม่ใช้ไม้ยมก เมื่อรูปคำเดิมเป็นคำสองพยางค์ซ้ำกัน เช่นคำว่า นานา,จะจะ, หรือหลัดหลัด เป็นต้น

ประการที่สี่ - คำที่ให้ความหมายเชิงเอกพจน์ คนคนนั้น (คนเดียว) หนู..หนู..(หมายถึงเด็กคนเดิมแต่เรียกสองหน) แต่ถ้าใช้ หนู ๆ เช่นนี้ หมายถึงเด็ก ๆ หลายคน

ประการสุดท้าย - คำในภาษากวี มักนิยมเขียนซ้ำ ไม่นิยมใช้ไม้ยมก เช่น ใดใดในโลกล้วน อนิจจัง, เรืองเรืองไตรรัตน์พ้น พันแสง, ทิ้งทั้งหนูน้อยน้อยร่อยร่อยรับ..ฯลฯ

        ที่น่าสังเกต ก็คือ นอกจากไม้ยมกจะสื่อแสดงถึงความซ้ำกันของคำหรือความแล้ว บางครั้ง ไม้ยมกยังสื่อแสดงถึงภาษาอารมณ์ได้ด้วยโดยเฉพาะใช้ในเชิงแสดงความรำคาญ ความหงุดหงิด งุ่นง่าน เช่น เบื่อคนบ่น เอาแต่บ่น ๆๆๆๆๆ อยู่นั่นแหละ, โอ๊ย...เมื่อไหร่จะเสร็จเสียที มัวแต่เขียนคิ้ว เขียน ๆๆๆๆ
อยู่ได้...ฯลฯ

         ยิ่งสมัยนี้ ไม้ยมกยิ่งไปไกลถึงขนาดติดอาร์ก้าหรือเอ็มสิบหกในการให้ความหมายไม่จำกัดแทนความหมายแค่สองเหมือนที่เคย เช่น ปัง..ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ
จนไม้ยมกเต็มบรรทัดก็ยังมี...

        เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ หวังว่าคงช่วยให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นนะครับ.

    
https://planetpt.blogspot.com/search/label/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%20%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99เกร็ดภาษาไทย/ภาษาไทย-ใช้ให้เป็น                                                 


วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เกร็ดภาษาไทย 🎗 ตำนานไม้ยมก


เขียนเรื่องเด็ก ๆ มาหลายตอนแล้ว ขอพักมาพูดเรื่องภาษาไทยของเรากันบ้าง
วันนี้ ขอพูดถึงเรื่องการใช้ไม้ยมก เพราะว่ากันอันที่จริง เราเพิ่งมีไม้ยมกใช้กันในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาสมัยพระชัยราชานี่เอง ก่อนหน้านั้น แม้แต่ตำราภาษาไทยเล่มแรกของไทยคือ “จินดามณี” ซึ่งเรียบเรียงขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ยังไม่มีไม้ยมกใช้

        “อนึ่ง แม่หนังสือแต่ก กา ถึงกนฯลฯจนถึงเกยนั้น เมืองขอมก็แต่งมีอยู่แล้ว
พญาร่วงเจ้า (พ่อขุนรามคำแหง) จึงให้แต่งรูปอักษรไท ต่างต่าง...”

แสดงว่า ไม้ยมกสมัยนั้น ยังไม่มีใช้...


         จนอีกกว่าร้อยปีต่อมานั่นแหละ จึงปรากฏในจารึกวัดเขมา (หลักที่ ๑๔) ความว่า “แลกูเกิดมาชาติใด ๆ ก็ดี ขอกูจุ่งมีปรีชญาณแลสมบัติเกิดมาแด่กูทุก ๆ กำเนิด...”

        ปรากฎรูป “ๆ” ขึ้นตอนนี้เอง ส่วนข้อที่ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น สันนิษฐานกันว่า เพราะความขี้เกียจของอาลักษณ์หรือเสมียนเขียนหนังสือ ที่เห็นว่าคำเหมือนกันจะไปเขียนสองครั้งให้เมื่อยทำไม เลยเขียนเป็นเลข “๒” ต่อมาเลยเกิดลัทธิเอาอย่างให้เสมียนคนอื่น ๆ เขียนตาม จนเกลื่อนกลายมาเป็นขาเหยียดตรงอย่างที่เห็นกันทุกวันนี้
       
         ปรากฏการณ์เช่นนี้ในภาษาไทย ชวนให้นึกไปถึงที่มาของคำไทยอีกคำหนึ่งคือ "ณ" ซึ่งใช้ในความหมายปัจจุบันแปลว่า "ที่อยู่,ที่ตั้ง" อาจมาจากการเขียนว่า "ใน" อย่างหวัด ๆ เร็ว ๆ จนอ่านเห็นเป็น "" ก็น่าจะเป็นไปได้เช่นกัน

        คำว่า “ยมก”เป็นคำมาจากภาษาบาลี แปลว่า “คู่” หรือ “แฝด” แปลกตรงที่ว่าในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาซึ่งมีคำว่า “ยมกปาฎิหาริย์” ปรากฎอยู่นั้น คำว่า“ยมกปาฎิหาริย์” มิได้มีความหมายว่าคู่เหมือนแต่อย่างเดียว หากยังแปลความหมายถึงการแสดงปาฎิหาริย์เป็นคู่ ๆ แม้จะเป็นคู่ต่างด้วย เช่นพระหัตถ์ซ้ายทรงบันดาลให้เกิดเป็นสายน้ำพวยพุ่งออกมาขณะพระหัตถ์ซ้ายทรงบันดาลให้เกิดเปลวไฟลุกโชนขึ้นมาพร้อมกันด้วย

        ชักจะยาว...เห็นทีจะต้องยกยอดไปพูดถึงเรื่องหลักการใช้ไม้ยมกให้เป็นเรื่องเป็นราวในคราวต่อไป...

                                         


วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เกร็ดภาษาไทย 🖍 ไม้ มลาย ไม้ม้วน ควรจดจำ


        เคยวางหลักจำคำไทยที่ใช้ไม้ม้วนไปครั้งหนึ่งแล้วในรูปของกาพย์ยานี
ที่ครูบาอาจารย์ท่านแต่งไว้ให้จำได้ง่าย ๆ

ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่ ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ
ฝ่ใจเอาใส่ห่อ มิหลงใหลใครขอดู
จะใคร่ลงเรือใบ ดูน้ำใสและปลาปู
สิ่งใดอยู่ในตู้ มิใช่อยู่ใต้ตั่งเตียง
บ้าใบ้ถือใยบัว หูตามัวมาใกล้เคียง
แคล่วคล่องอย่าละเลี่ยง ยี่สิบม้วนจำจงดี

        และอีกบทหนึ่งที่โบราณท่านแต่งไว้เป็นกาพย์ยานีเหมือนกัน
ปรากฎในหนังสือประถมมาลา ดังนี้...

ใฝ่ใจให้ทานนี้ นอกในมีแลใหม่ใส
ใครใคร่แลยองใย อันใดใช้และใหลหลง
ใส่กลสะใภ้ใบ้ ทั้งต่ำใต้และใหญ่ยง
ใกล้ใบและใช่จง ใช้ให้คงคำบังคับ

        ท่องจำไว้เล่น ๆ ทั้งสองบทก็น่าจะดี แต่สำหรับผู้เขียน นิยมจำบทแรกเพราะคล่องปากและจดจำง่ายดี... 
        ที่ต้องจำก็เพราะคำอื่นที่ต้องใช้สระไอสะกด โบราณท่านให้หลักว่า จะต้องใช้ไม้มลายสะกดทั้งหมด  โดยเฉพาะคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาต่างประเทศเช่น ไวน์ ไฮไฟ กังไส ไหหลำ แกงได (เครื่องแทนการลงลายมือชื่อ) ฯลฯ

        อย่างไรก็ดี มีคำที่ใช้ไม้มลายอยู่หลายคำที่มีเสียงซ้ำกับคำที่ใช้ไม้ม้วน จึงควรจดจำไว้ด้วย คำ
เหล่านี้ ได้แก่..ไต้ (สำหรับจุดไฟ), ไส (ผลักไส) ไห้ (ร้องไห้), ไจ (เข็ดด้าย), ไย (ไฉน,อะไร ,ทำไม) ได (สลัดได, แกงได) ไน (ลองไน, ปลาไน), ไหล (ปลาไหล, เหล็กไหล, เลื่อนไหล, รื่นไหล, เหลวไหล, หลับไหล)...เป็นต้น
     
         อาจมีคนหัวใจซุกซนบางคนอดสงสัยไม่ได้ว่า เอ..แล้วทำไมภาษาไทยต้องมีทั้งไม้มลายไม้ม้วนให้ป่วนใจจำด้วยหว่า....?
         ขอตอบตามที่คุณ ม.ศรีบุษรา เคยค้นคว้ามาได้ดังนี้ครับ
          มีคำเมือง (ภาษาล้านนา) เก่าแก่คำหนึ่งว่า "มาย" แปลว่า "คลี่,คลาย,ขยาย" ซึ่งเป็นความหมายเดียวกันกับที่พบในพจนานุกรมภาษาถิ่นอีสาน ซึ่งสันนิษฐานว่า มีการนำมาใช้เป็นสระหรือ ไม้มาย เพื่ออ่านออกเสียงแทนสระไอ  และเมื่อมาถึงไทยก็แผลงจาก 'มาย' เป็น 'มลาย' ตามแบบอย่างอิทธิพลของเขมรที่นิยมกันตั้งแต่สมัยสุโขทัยและก่อนหน้านั้น ส่วนคำที่ใช้สระไอไม้ม้วนนั้น เดิมออกเสียงคล้ายสระอา+สระอือปนกัน พ่อขุนรามคำแหงจึงทรงให้ราชบัณฑิตสมัยนั้นกำหนดรูปไม้ม้วนไว้ใช้แทนเสียงดังกล่าวอีกรูปหนึ่ง ซึ่งกาลเวลาที่ผ่านไปกว่า ๗๐๐ ปี ก็ทำให้เสียงสระไอและสระใอกลายเป็นเสียงเดียวกันแต่ต่างรูปดังเช่นที่เห็นกันในปัจจุบัน

          และเป็นเหตุให้เราต้องท่องเพื่อจดจำหลักการใช้ไม้หน้าสาม เอ๊ย! ไม้ม้วน ไม้มลายจนทุกวันนี้....

        เฉพาะคำว่า หลับไหล นี้ ยังเป็นคำกำกวมที่แม้แต่ราชบัณฑิตยสภาเองก็ยังไม่มีบทสรุปและมิได้บัญญัติไว้ในพจนานุกรม เนื่องจากยังมีความเห็นแย้งกันอยู่ ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ควรใช้ไม้ม้วนสะกดโดยยก พจนานุกรมล้านนา-ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง พ.ศ. ๒๕๓๓ ซึ่งเป็นฉบับร่างที่ ๒ เก็บคำ "ใหล" ว่า "ก. ละเมออย่างหลับใหล-นอนละเมอ, หลงใหล-หลงละเมอ หรือ พูดอยู่ตามลำพัง  ในขณะที่พจนานุกรมภาษาถิ่นอีสานกลับให้ความหมายเดียวกันนี้โดยสะกดด้วยไม้มลาย ซึ่งสำหรับผู้เขียนแล้ว ค่อนข้างเห็นด้วยกับฝ่ายหลัง เพราะสอดคล้องลงรอยกับหลักภาษากลางมากกว่า

        มีคำประสมที่ใช้ไม้ม้วนบางคำที่ควรสนใจ เช่น เหล็กใน (อาจเพราะอยู่ในตัวแมลง), หมาใน (ไม่ใช่หมานอก) เยื่อใย..ห่วงใย..ชักใย..ยองใย..(ล้วนมาจาก "ใย") นอกนั้นส่วนใหญ่รวมทั้งคำที่เกลื่อนกรายมาจากคำต่างประเทศ นิยมใช้ไม้มลายเป็นหลักทั้งนั้นครับ.


https://planetpt.blogspot.com/search/label/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%20%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99

วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เกร็ดภาษาไทย 🔖 ใช้ “การ” และ “ความ” ให้งามสม


วันก่อนอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง พบข้อความตอนหนึ่งว่า
“เพื่อความพัฒนาที่ยั่งยืนทางด้านพลังงานของประเทศ...”
รู้สึกสะดุดกึกขึ้นมาทันทีกับคำว่า “ความพัฒนา” เพราะถ้าเพียงแต่ใช้คำว่า
“การพัฒนา” แทนคำว่า “ความ” ก็น่าจะเหมาะสมและสละสลวยมากกว่า

จริงอยู่... แม้เรื่องนี้ไม่ถึงกับเรียกว่า “วิบัติแห่งภาษา” เมื่อเทียบกับคำที่
พบเจอหลาย ๆ คำ โดยเฉพาะภาษาที่ใช้กันบนเน็ต แต่คงจะเป็นการดี
ถ้าจะหาหลักยึดไว้สักนิด เพื่อใช้ “การ” ให้ได้ “ความ”
# ใช้ “การ” และ “ความ” ให้งามสม #


โดยทั่วไป คำที่นำมาใช้พ่วงกับ “การ” และ “ความ” นั้น มีได้ทั้ง
คำนาม คำคุณศัพท์ (ขยายนาม) คำกริยา และคำวิเศษณ์ (ขยายกริยา)
มีข้อสังเกตง่าย ๆ ดังนี้

๑. คำนามและอาการนาม มักประกอบเข้ากับ “การ” เป็นส่วนใหญ่
เช่น การบ้าน.. การเมือง.. การเรือน.. การเงิน.. การคลัง.. การครัว..
การกิน.. การนอน.. การเคลื่อนไหว.. การยิ้ม.. การมองเห็น.. การดำรงชีวิต..
การทักทาย.. การพัฒนา...ฯลฯ เป็นต้น

๒. คำกริยาเฉพาะ “มี” และ “เป็น” เมื่อประกอบกับคำนามหรือคำวิเศษณ์
ให้ใช้ “ความ”นำหน้าเสมอ เช่น ความเป็นเพื่อน... ความเป็นมนุษย์..
ความเป็นคนดี...ความมีสติ.. ความมีรสนิยม.. ความมีโชค...ฯลฯ
คำเหล่านี้ไม่นิยมใช้ “การ” นำหน้า

๓. คำกริยานอกจาก “มี” และ “เป็น” เมื่อประกอบเป็นคำนาม
อาจใช้ได้ทั้ง “การ” และ “ความ” หากมีหลักสังเกตพอเป็นข้อกำหนดได้ว่า...
ถ้ากริยาที่ใช้ มีลักษณะเป็นรูปธรรมหรือทางกายภาพ เช่น
ซื้อ.. ขาย.. จ่าย.. แจก.. เย็บ.. ปัก.. ถัก.. ร้อย.. ห้อย.. ร้อง..
ทักทาย.. ไต่ถาม..สอบสวน...ฯลฯ กริยาเหล่านี้ต้องใช้ “การ”
จะใช้ “ความ” ไม่ได้

แต่ถ้ากริยาที่ใช้ มีลักษณะเป็นนามธรรม หรือโน้มไปทางใจ
เช่น รัก..เศร้า.. เหงา..สลด..หดหู่..เบิกบาน.. หวานชื่น.. ขื่นขม..
ฟุ้งซ่าน..ท้อแท้.. ฯลฯ เหล่านี้ ต้องใช้ “ความ” นำหน้าเป็นหลักเท่านั้น

อาจมีบ้างบางคำที่ใช้ประกอบคำว่า “การ” ได้โดยอนุโลม แต่ก็ไม่เป็นที่นิยม
รู้อย่างนี้แล้ว หวังว่าคงจะพอจับหลักการใช้ “การ” ให้ได้ “ความ”
เพื่อการ “สื่อสาร” และ “สืบสาน” ภาษาไทยให้วิวัฒน์ต่อไปนาน ๆ นะจ๊ะ..

# ใช้ “การ” และ “ความ” ให้งามสม #
https://planetpt.blogspot.com/search/label/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%20%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99เกร็ดภาษาไทย/ภาษาไทย-ใช้ให้เป็น


วันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เกร็ดภาษาไทย: คำว่า "ละ...ล่ะ, นะ...น่า, คะ...ค่ะ"

ภาษาไทย ใช้ให้เป็น                                           

หยิบเรื่องนี้มาพูดเพราะรู้สึกหงุดหงิดหัวใจมาหลายเพลาเต็มทนเกี่ยวกับ

การใช้คำเหล่านี้ในภาษาเขียน ที่แม้แต่ราชบัณฑิตยสถานก็ไม่เคยให้
อรรถาธิบายอย่างเป็นเรื่องราวเสียที เลยต้องทนเห็นงานเขียนหลาย ๆ ชิ้น
ที่ต้องลดทอนคุณค่าของตัวเองลงอย่างน่าเสียดาย เพราะใช้คำเหล่านี้ผิด
โดยเฉพาะในงานแปลชั้นดีหลายต่อหลายเรื่อง วันนี้เลยขออาจหาญทำ
หน้าที่อธิบายให้ชัดเจนอีกสักครั้ง...

๑. ละ ... เป็นคำที่ใช้ในประโยคบอกเล่า กร่อนเสียงมาจากคำว่า "แหละ"
เช่น เท่านั้นละ (แหละ), เอาอย่างนี้ละ (แหละ), ดีแล้วละ (แหละ)เป็นต้น

ล่ะ ...ใช้ในรูปประโยคคำถาม กร่อนเสียงมาจากคำว่า "เล่า" เช่น จะ
ไปไหนล่ะ (เล่า), กินข้าวด้วยกันไหมล่ะ (เล่า), ทีนี้จะทำอย่างไรกันดีล่ะ
(เล่า) เป็นต้น

ข้อควรจำ: เคยเห็นคนใช้คำว่า "หละ" หรือร้ายกว่านั้น "หล่ะ"
นี่ไม่ใช่ภาษาไทย ภาษากระเหรี่ยงก็ไม่มี!!!

๒. นะ ... ประกอบคำเป็นเชิงอ้อนวอนหรือเสริมให้หนักแน่นขึ้น เช่น
รอก่อนนะ, อย่าไปนะ, รักนะฯลฯ

น่ะ ...คำนี้ไม่ปรากฏในพจนานุกรม เข้าใจว่าน่าจะกร่อนเสียงมาจากคำว่า
"น่า" ในความหมายอ้อนวอน เชื้อเชิญ หรือชักชวน เช่น ลองดูหน่อย
เถิดน่า, อย่าทำอย่างนี้เลยน่า...ฯลฯ

๓. คะ ... ใช้ต่อท้ายคำเชิญชวนหรือคำถามอย่างสุภาพคล้ายกับ "จ๊ะ"
เช่น เชิญเข้ามาก่อนซิคะ, ตัดสินใจหรือยังคะ, จะไปไหนจ๊ะ ...ฯลฯ

ค่ะ ...เป็นคำรับในความหมายเดียวกับ "จ้ะ" หรือใช้ในประโยคบอกเล่า
เช่น กลับก่อนละค่ะ, ดีแล้วละค่ะ, ดูดีแล้วจ้ะ ....ฯลฯ

ข้อควรจำ: กรุณาอย่าใช้ "รักนะค่ะ" แทนที่จะใช้ "รักนะคะ" หรือ
"รักค่ะ" นะจ๊ะ...


วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2552

กวีวัจนะ: ร้อยกระบวนสำนวนไทย (๒) กาพย์ยานี

ร้อยกระบวนสำนวนไทย (๒) กาพย์ยานี ๑๑

กาพย์ยานี ๑๑

มีทองเท่าหนวดกุ้ง    นอนสะดุ้งจนเรือนไหว
เปรียบเปรยคนยากไร้    วุ่นวายใจในสินทรัพย์

สาวไส้ให้กากิน    ฉาวโฉ่สิ้นยามสดับ
เรื่องราวในเรือนลับ    ควรหรือเอาไปป่าวร้อง

พูดไปสองไพเบี้ย    นิ่งนิ่งเสียตำลึงทอง
ขานไขควรไตร่ตรอง    ใดควรพูดใดควรงำ

ปัญญาแค่หางอึ่ง    หมายถึงคนปัญญาต่ำ
ผักต้มขนมยำ    ปนเปไปไม่รู้พอ

เข้าเถื่อนอย่าลืมพร้า    ทุกแนวป่ามีภัยรอ
ประมาทอาจทุกข์ท้อ         ทุกข์การณ์ก่อต้องใคร่ครวญ

ฝนตกอย่าเชื่อดาว    ราวฟ้ากว้างกว่าเมฆกวน
เรื่องราวทั้งหลายล้วน    อย่าไว้ใจจนหมดใจ

ดีดลูกคิดรางแก้ว    ด่วนได้แล้วมักไม่ได้
ภาษิตติดเตือนใจ    อย่าหวังได้แต่ถ่ายเดียว

ดักลอบให้หมั่นกู้    ดักเจ้าชู้ให้หมั่นเกี้ยว
บอกบทอย่าลดเลี้ยว    ทุกงานทำต้องใส่ใจ

เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน    สอดประสานงานให้ได้
ใหญ่น้อยร้อยเรียงไป    จวบชี้เห็นเป็นรูปทรง

เงื้อง่าราคาแพง    เขาจักแย่งสิ่งประสงค์
หมายใจสิ่งใดจง    โหมเข้าหักอย่าชักช้า
 

ผิดถูกดีหรือร้าย    ค่อย ไปตายเอาดาบหน้า
ต่อตีตามวาสนา    กรรมบัญชาให้ได้พบ

ตกกระไดพลอยโจน    เหตุยื่นโยนยากหลีกหลบ
ชี้เห็นประเด็นครบ    โลดถลำจำเอออวย

ลูกขุนพลอยพยัก    เจ้าว่ารักข้ารักด้วย
บอดใบ้ไม่เขินขวย    ประจบจ้อสอพลอนาย

น้ำกลิ้งบนใบบอน    เปรียบกระล่อนอวดลวดลาย
เล่นเล่ห์เพทุบาย    พร่ำอวดโอ่แท้โฉเก

ฝากเนื้อไว้กับเสือ    ใครขืนเชื่อเสือเกเร
พลิกลิ้นว่ากินเจ    เผลอกลืนหมับวับหายสูญ

สำเนียงส่อภาษา    กิริยาส่อตระกูล
บอกเล่าเป็นเค้ามูล    ชนชั้นไหนใคร่ประพฤติ

หักด้ามพร้าด้วยเข่า    โหมหักเอาเข้ายื้อยึด
เจ็บเปล่าเขาอาจฮึด    สู้ขันแข็งสุดแรงขืน

เด็ดบัวไม่เหลือใย    ธารน้ำไหลไม่หวนคืน
สัมพันธ์อันหวานชื่น    ถึงบทจบเลิกคบค้า

หนามยอกเอาหนามบ่ง    ตอบโต้ตรงตาต่อตา
แรงไปก็แรงมา    ตอบให้เห็นเช่นเดียวกัน

น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ    เรือจะล่มจมเร็วพลัน
เขาร้อนมาอย่ากั้น    ขวางพรวดพราดอาจเจ็บตัว

ตีป่าให้เสือตื่น    ขู่เขาอื่นให้ตื่นกลัว
เขาอาจยิ้มเยาะยั่ว    หยอกเย้าเล่นเป็นอาจิณ

ถ่มน้ำลายรดฟ้า    รังแต่หน้าเปรอะราคิน
เปล่าประโยชน์ทั้งสิ้น    กลับร้อนรุกด้วยทุกข์โถม

กบในกะลาครอบ    ยิ่งโต้ตอบยิ่งเสื่อมโทรม

รู้น้อยต้องรู้โน้ม    ใช่อวดเก่งเบ่งความรู้

ฝนทั่งให้เป็นเข็ม    ค่อยและเล็มอย่าอดสู
หมั่นเพียรเรียนคำครู    ด้วยมานะพยายาม

เก็บเล็กผสมน้อย    ทุกถั่งถ้อยร้อยเรียงตาม
กลั่นกรองตรองไต่ถาม    ทีละน้อยค่อยสะสม

ตัดหนามอย่าไว้หน่อ    เข้าถึงตอทุกหลุมหล่ม
กระพี้ที่โสมม             เศษโคลนตมชำระทิ้ง

เส้นผมบังภูเขา    มายาเงาในความจริง
ลางเลือนเหมือนยากยิ่ง         แท้ที่จริงสิ่งง่ายดาย

เขาวัวอยู่ข้างหน้า    รอคนกล้าเข้าท้าทาย
เปรียบทางทุกที่หมาย         ซ่อนอุปสรรคและขวากหนาม

ลางเนื้อชอบลางยา    บ้างเห็นค่าควรฝ่าข้าม
บ้างถอย บ้างคล้อยตาม         บ้างกล่าวห้าม บ้างถามทวน

พายเรือคนละที    แข่งชิงดีแข่งได้ด่วน
สุดท้ายพายเรรวน         เรือหมุนคว้างขวางลำคลอง

ลูบหน้าปะจมูก    ล้วนพันผูกตามครรลอง
โน่นพี่นี่เพื่อนพ้อง         ยากแตะต้องยากลงทัณฑ์

ตีวัวกระทบคราด    อวดอำนาจด้วยอัดอั้น
ดุด่าทุกสิ่งอัน             หวังแดกดันคนข้างเคียง

ฟื้นฝอยหาตะเข็บ    เรื่องเก่าเก็บกลับไล่เรียง
รื้อฟื้นขึ้นถกเถียง         เสียเวลาต่อคารม

ปลาหมอตายเพราะปาก    เหลือแต่ซากคาเบ็ดคม
พล่อยพล่ามตามอารมณ์     ระวังเป็นเช่นปลาหมอ

ปิดครัวไฟไม่มิด    สร้างความผิดฉาวโฉ่ฉ้อ
ปิดเรื่องลบรอยรอ         คนหลงลืมคงไม่ไหว

หมองูตายเพราะงู    ฉลาดรู้ในสิ่งใด
ถึงฆาตพลาดพลั้งไป         ขาดเฉลียวใจหนีไม่ทัน

ตำข้าวสารกรอกหม้อ    หาแค่พอกินวันวัน
อีกไกลแค่ไหนนั่น         กว่าสำเร็จในชีวิต

ชี้นกบนปลายไม้    วาดหวังไกลเกินลิขิต
เปรียบคนก่นแต่คิด         หวังสูงมากยากดังหวัง

เข็นครกขึ้นภูเขา    แบกรับเอาตามคำสั่ง
งานยากเกินกำลัง         ยากเห็นผลต้องทนทำ

ทุบหม้อข้าวตัวเอง    ไม่ยำเกรงผูกใจจำ
ว่าร้ายนายเหยียบย่ำ         นายอาจซ้ำถึงตกงาน

ปลาใหญ่กินปลาเล็ก    ลำดับเด็กน่าสงสาร
ผู้ใหญ่ไล่รังควาน         ฉวยโอกาสอำนาจมี

หมากัดอย่ากัดตอบ    อย่าชื่นชอบความอัปรีย์
หลีกได้ให้หลีกหนี         คนชั่วช้าอย่าข้องแวะ

ยื่นแก้วให้วานร    มันมักค้อนมักค่อนแขวะ
ความดียื่นชี้แนะ             หารู้ค่าหารู้คิด

โง่แล้วอยากนอนเตียง    เฝ้าถกเถียงทั้งผิดผิด
พลาดหวังทั้งชีวิต         ยังทะนงหลงว่ารู้

ยืนกระต่ายสามขา    ยืนวาจาแก่ทุกผู้
ถูกผิดไม่คิดรู้     ยืนยันคำซ้ำทุกหน

เถียงคำไม่ตกฟาก    ชอบต่อปากไร้เหตุผล
ปากไวไม่ยอมคน         ไม่ผ่อนปรนไม่ยอมใคร
 

ล้อเล่นหมายเจรจา      กลับ ตีหน้ายักษ์เข้าใส่
ใครเขาอยากเข้าใกล้         เพียงแค่เห็นก็เผ่นแล้ว

หุงข้าวประชดหมา    อย่า ปิ้งปลาประชดแมว
หาไม่คงไม่แคล้ว    หมดตัวเปล่าไม่เข้าการณ์
เปรียบนายรู้ว่าบ่าว          ลักของข้าวนึกรำคาญ
แกล้งกองเกลื่อนเต็มบ้าน     หวังประชดเลยหมดตัว

เลี้ยงช้างกินขี้ช้าง    เฉกลูกจ้างคิดทางชั่ว
กอบประโยชน์เข้าหาตัว         จากหน้าที่การงานตน


ขูดรีดเอาทุกท่า         คน ทำนาบนหลังคน
เนื้อร้ายเมื่อปะปน    ต้องจำทนเชือดเนื้อร้าย

ตีงูให้หลังหัก    มักแว้งกัดเข้าข้างกาย
ตีงูต้องตีตาย    เหมือนกำจัดเหล่าศัตรู

สีซอให้ควายฟัง    มันนิ่งนั่งไม่รับรู้
ไร้ผลจนใจชู    เชิดคนโง่ให้เชี่ยวชาญ

ชักตะพานแหงนเถ่อ    เอ้อเรอเอ้อเต่ออยู่นาน
เปรียบคนรอผลงาน         ไม่ถึงไหนได้แต่รอ

สอนสั่งไม่ฟังคำ     เหมือน ตักน้ำรดหัวตอ
ราดรดน้ำหมดบ่อ         ไม่รู้สึกสำนึกตน

น้ำขึ้นให้รีบตัก  ชะล่านักจักเสียผล
โอกาสมาถึงตน             ควรรับไว้ให้เกิดการณ์

รู้รอรู้ต่อสู้    รู้ อดเปรี้ยวไว้กินหวาน
มวลหมู่ดอกไม้บาน    มิเคยใครไปเร่งมัน

ชี้โพรงให้กระรอก   ชี้ทางออกทุกสิ่งอัน
เสกสร้างทางสวรรค์    ให้เขาใช้เขาฉวยชม

แกว่งเท้าเข้าหาเสี้ยน   เสี้ยนย่อมซ้ำตำตีนจม
มีบ้างบางสิ่งสม    ควรห่างไว้ได้เป็นดี

ทำคุณบูชาโทษ   ก่อประโยชน์กลายกาลี
ความเขลาคนเรามี    ความหวังดีอาจเห็นร้าย

อยู่สูงให้นอนคว่ำ   หาก อยู่ต่ำให้นอนหงาย
ดุจข้าเข้าใจนาย             รู้ความหมายผู้ปกครอง

ใจเขาใส่ใจเรา   ผู้ใหญ่เข้า ใจลูกน้อง
อยู่สูงต้องคอยมอง   คอยจับจ้องคอยจุนเจือ

คนรักเท่าผืนหนัง   แต่ คนชังเท่าผืนเสื่อ
หมายใจเตือนให้เชื่อ         คนรักมักน้อยกว่าชัง

บ้างเผาบ้างเย้ายั่ว   บ้าง ตบหัวแล้วลูบหลัง
พลั้งพลาดฟาดไม่ยั้ง   เผลอปุบปับขอจับมือ

ชาติเสือต้องไว้ลาย    เกิดเป็นชายต้องไว้ชื่อ
เกียรติต้องประคองถือ    ไม่ระย่อต่ออธรรม

เสียชีพอย่าเสียสัตย์    ไม่ตระบัดไม่คืนคำ
พูดจริงทำจริงทำ    ทุกสิ่งย้ำคำคนจริง

เขียนเสือให้วัวกลัว      หวังเยาะยั่วให้เกรงกริ่ง
ขวัญผวาหวั่นว่าจริง    ขู่ด้วยเล่ห์คารมคม

ชักแม่น้ำทั้งห้า    เจรจาจนเห็นสม
หว่านล้อมกล่อมอารมณ์         เห็นคล้อยคิดติดตามฟัง

สี่เท้ายังรู้พลาด    แม้ นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง
หมื่นร้อยคอยระวัง    เหตุพลั้งพลาดยังอาจมี

ตักน้ำใส่กระโหลก    ชะโงกดูเงา ให้ดี
ซ่อนความหมายบ่งชี้         ให้รู้เจียมเนื้อเจียมตน

อย่าใฝ่สูงเกินศักดิ์   หมายสูงนักมักร่วงหล่น
สำนึกในศักดิ์ตน    ก่อนดิ้นรนคว้าฝันไกล

เลือกนักมักได้แร่    หลงว่าแท้กลับไม่ใช่
คิดมากอาจยากใจ         เพราะหวังได้ไม่รู้พอ

ฆ่าช้างหวังเอางา    ของสูงค่ากว่าเล่นล้อ
ทำลายได้ลงคอ      หมายสิ่งของรองศักดิ์ศรี

ขายผ้าเอาหน้ารอด    หวังแค่ปลอดพ้นไปที
ข้าวของบรรดามี    ยอมสูญสิ้นกลบกลิ่นฉาว

ฆ่าควายเสียดายพริก    อย่าจุกจิกทุกเรื่องราว
ทำการต้องหาญห้าว    ใช่เสียนิดคิดเสียดาย

ชักใบให้เรือเสีย    ชอบคุ้ยเขี่ยชอบยักย้าย
เรื่องคอขาดบาดตาย    พูดซุกซนจนไขว้เขว

ตาบอดสอดตาเห็น    อวดทำเป็นรู้ถมเถ
คุยเขื่องเรื่องทั้งเพ    แท้เหลวไหลไม่รู้จริง

ลูกไก่ในกำมือ    เขาจักถือหรือบีบทิ้ง
ย่อมได้ในทุกสิ่ง    สุดแต่จิตคิดเมตตา

น้ำมาปลากินมด    ยาม น้ำลดมดกินปลา
ทีเขาเราไม่ว่า    ถึงทีข้าอย่าโวยใคร

ไม้ซีกงัดไม้ซุง    ผู้น้อยมุ่งค้านผู้ใหญ่
เปล่าเปลืองแรงทำไป    เกิดพิษภัยก็แต่ตน
หลายซีกหลายแรงรวม    ร้อยใจร่วมด้วยเหตุผล
ซุงใหญ่จึงจำนน    พ่ายเพราะรักสามัคคี...

ร้อยกระบวนสำนวนไทย (๒)  กาพยานี ๑๑
ร้อยกระบวนสำนวนไทย (๓) ...
https://planetpt.blogspot.com/2009/09/blog-post_05.html

โพสต์แนะนำ

สาระนิทาน ชุด ไม้ไทยใจดี 🍽 เรื่อง "ข.ข้าว ขาว ขาว"

เขียวเอย...เขียวพรมผืนใหญ่ ใครมาถักทอไว้ แลไกลสุดตา  เจียวเอย... ตัวฉันนั่นไง  ใบ ข้าว เขียวเขียว ยืนต้นเดี่ยวเดี่ยว  ร...