-->

วันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2553

เกร็ดภาษาไทย ⏳ เวลาที่ผ่านเลย..คำว่า นาฬิกามาจากไหน

เวลาที่ผ่านเลย คำว่า "นาฬิกา"

สำหรับคนที่ตกอยู่ในห้วงแห่ง
ความรัก ความพอใจ หรือความรื่นเริงบันเทิงมีทั้งหลายทั้งปวง อาจมีความรู้สึกว่าเวลาช่างล่วงเลยไปรวดเร็วเสียเหลือเกิน แต่สำหรับคนที่กำลังเผชิญกับความทุกข์ ความเศร้าหมอง หรือความสิ้นหวัง อาจรู้สึกว่าวันเวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้าจนบางครั้ง รู้สึกอึดอัดไปหมด ทั้งที่อยู่ภายใต้พระอาทิตย์ดวงเดียวกัน

การเคลื่อนไปของเวลาจึงเป็นเสมือนรูปแบบอุปาทานชนิดหนึ่งที่จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกของแต่ละคนในช่วงขณะนั้น เหตุนี้กระมังที่ทำให้คนเราต้องประดิษฐ์คิดค้นนาฬิกาขึ้นมา เพื่อกำหนดหน่วยนับเวลาสากลที่ถูกต้องตรงกันแทนเวลาสมมติในความรู้สึกของมนุษย์

คำว่า “นาฬิกา” แต่เดิมเป็นคำมาจากรูปภาษาสันสกฤตว่า “นาฑิกา” แต่แปลงรูป “ฑ” มาเป็น “ฬ” แบบบาลี “นาฬิ” ในภาษาบาลีแปลว่า “ทะนาน” เมื่อรวมกับคำว่า “กา” (กำหนดเครื่องหมาย) เป็น นาฬิกา จึงแปลว่า การใช้ทะนานเป็นเครื่องกำหนดเวลา
เพราะในสมัยโบราณ นิยมวัดเวลาด้วยการใช้ทะนานหรือก็คือกะลามะพร้าวเจาะรูที่ก้นแล้วนำไปลอยน้ำ จนกว่ากะลาจะจม จมครั้งหนึ่งก็เรียกว่า ๑ นาฬิกาหรือ ๑๐ บาทตามมาตราไทย ซึ่งกำหนดหน่วยเวลา ๑ บาท = ๖ นาที สอดคล้องต้องกันกับมาตรฐานเวลาสากลที่กำหนดให้ ๑ นาฬิกา หรือหนึ่งชั่วโมงเท่ากับ ๖๐ นาทีพอดี

ส่วนที่ว่าทำไมเวลาสากลจึงกำหนดเป็นชั่วโมง นาทีและวินาที เรื่องนี้คงต้องย้อนเวลาหาอดีตไปถึงสมัยบาบิโลนโน่นแน่ะ ในฐานะเป็นคนต้นคิดใช้เลขฐานหกเป็นตัวกำหนดการหมุนรอบของวัตถุที่พบเห็นตามธรรมชาติ โดยแบ่งจังหวะการหมุนรอบของสิ่งต่าง ๆ ออกเป็นหกส่วนส่วนละ ๖๐ องศา หมุนครบหนึ่งรอบก็เท่ากับ ๓๖๐ องศา หนึ่งองศาเท่ากับ ๖๐ ลิปดา และหนึ่งลิปดาเท่ากับ ๖๐ พิลิปดาตามลำดับ กระทั่งต่อมา จึงมีการนำมาปรับใช้กับหน่วยเวลาอีกโสดหนึ่ง

กลับมาเรื่อง
การนับเวลาแบบไทยกันต่อ ไทยเรามีการนับเวลาทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ แบบทางการก็เรียกเป็นนาฬิกาดังได้กล่าวมาแล้วส่วนที่ไม่เป็นทางการก็เรียกตามช่วงเวลาของวันสุดแท้แต่สะดวกปาก มีใช้กันทั้ง..ทุ่ม, โมง, ยาม, ย่ำ, ตี.. ซึ่งคงต้องอธิบายกันยืดยาวไม่น้อยกว่าจะครบถ้วน
กระบวนความ จึงขอยกยอดเอาไว้พูดถึงในตอนต่อไปน่าจะเหมาะกว่า

ก่อนจบ..ขอฝากเรื่องการอ่านเวลาของคนสมัยก่อนสักนิด ซึ่งสมัยนี้คงไม่มีโอกาสได้ยินหรือได้เห็นกันแล้วนอกจากในตำราโหราศาสตร์ ตัวอย่างเช่นวันหนึ่งขึ้นค่ำ ย่ำรุ่งสองนาฬิกา เศษสังขยาห้าบาท แปลไทยเป็นไทยก็คงแปลได้ดังนี้...

วันหนึ่งขึ้นค่ำ = วันขึ้นหนึ่งค่ำ
ย่ำรุ่งสองนาฬิกา = เวลาสองโมงเช้า
เศษสังขยาหมายถึงเศษของหน่วยนับ (สังขยาในที่นี้ไม่ได้หมายถึงขนม)
ห้าบาท = ๕ x ๖ = ๓๐ นาที
รวมความก็คือ วันขึ้นหนึ่งค่ำ เวลาเช้า ๘.๓๐ น.
เอวัง...


https://planetpt.blogspot.com/search/label/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%20%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โพสต์แนะนำ

สาระนิทาน ชุด ไม้ไทยใจดี 🍽 เรื่อง "ข.ข้าว ขาว ขาว"

เขียวเอย...เขียวพรมผืนใหญ่ ใครมาถักทอไว้ แลไกลสุดตา  เจียวเอย... ตัวฉันนั่นไง  ใบ ข้าว เขียวเขียว ยืนต้นเดี่ยวเดี่ยว  ร...