-->

วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ภาษาศิลป์ 📘 สร้อยคำ ๐ คำเสริม ๐ คำสร้อย


สร้อยคำนี้บางครั้งอาจเรียกว่าเป็นคำอุทานเสริมบทหรือเรียกสั้น ๆ ว่า คำเสริม ก็ได้
เสน่ห์และสุนทรียภาพในภาษาไทยอย่างหนึ่ง ซึ่งถือเป็นมรดกความงามทางวัฒนธรรมอันน่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งของคนไทยเรา คือความเป็นภาษาศิลป์ที่มีสุนทรียะผ่านทางระดับของเสียง (วรรณยุกต์) จังหวะสั้นยาว (สระ) ตลอดจนความหนักเบาหรือน้ำหนักของคำ (ครุ-ลหุ) อันทำให้สามารถก่อรูปฉันทลักษณ์ในรูปแบบต่างๆรวมทั้งสื่อแสดงอารมณ์ในเชิงวรรณศิลป์ได้มากมายอย่างยากที่จะหาในภาษาใด ๆ ในโลกมาเปรียบ

      ไม่เชื่อก็ลองอ่านหนึ่งในสุดยอดวรรณคดีไทยแห่งยุครัตนโกสินทร์ที่ชื่อ สามัคคีเภทคำฉันท์ ของท่าน “ชิต บุรทัต ท่อนนี้ดูซีครับ....

     
๏ เอออุเหม่นะมึงชิช่างกระไร   ทุทาสสถุลฉะนี้ไฉน
ก็มาเป็น
๏ ศึกบถึงและมึงก็ยังมิเห็น     จะน้อยจะมากจะยากจะเย็น
ประการใด
๏ อวดฉลาดและคาดแถลงเพราะใจ   ขยาดขยั้นมิทันอะไร  
ก็หมิ่นกู
๏ กลกากะหวาดขมังธนู   บห่อนจะเห็นธวัชริปู
สิล่าถอย…ฯลฯ

ลองอ่านออกเสียงดัง ๆ ดูสิ  พยายามจับจังหวะและนำหนักของเสียงที่เปล่งออกมา  เราอาจสัมผัสได้ถึงสื่ออารมณ์ของผู้พูดที่บริภาษออกมาด้วยความรู้สึกโกรธเกรี้ยวระคนผิดหวังรุนแรง ได้อย่างบาดลึกลงไปในจิตใจของคนฟังเลยทีเดียว...

      อีกตอนหนึ่ง....     

๐ บงเนื้อก็เนื้อเต้น      
พิศเส้นสรีร์รัว
ทั่วร่างและทั้งตัว               
ก็ระริกระริวไหว

๐ แลหลังละลามโล     
หิตโอ้เลอะหลั่งไป
เพ่งผาดอนาถใจ                        
ระกะร่อยเพราะรอยหวาย…ฯลฯ

ท่อนแรกประพันธ์ในรูปอีทิสฉันท์หรือ อีทิสังฉันท์ ๒๐ ส่วนท่อนหลังคือ อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑  แต่ทั้งสองท่อน  ต่างเต็มเปี่ยมไปด้วยความงามแห่งภาษาศิลป์ที่สะท้านสะเทือนอารมณ์ได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย..




นอกจากความเป็นภาษาวรรณศิลป์ที่ให้เสียงประดุจท่วงทำนองดนตรีโดยธรรมชาติแล้ว  นิสัยเจ้าบทเจ้ากลอนของคนไทยเราเองก็มีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้ภาษาไทยมีวิวัฒนาการสืบเนื่องต่อมาไม่หยุดยั้ง  ตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนออกมาให้เห็นเด่นชัดคือความนิยมในการพูดจาประสาสร้อยคำจนติดปาก เช่น หนังสือหนังหา..เข้าอกเข้าใจ...ไม่รู้ไม่ชี้ เวล่ำเวลา...อาบน้ำอาบท่า...ล้างมือล้างไม้...กินหยูกกินยา...วิตกวิจาร...กำชับกำชา...กระดูกกระเดี้ยว....มืดมน..รถรา..ผ้าผ่อน..มากมาย..ไวไฟฯลฯ  หรือแม้แต่ภาษาปากประเภท กาฟงกาแฟ..กินเกิน..เดินแดน..หิวเหิว..ปวดแปด..ร้องแร้ง..นับแน๊บ..
คิดเคิ้ด..ฯลฯ คำเหล่านี้ล้วนจัดอยู่ในลักษณะของสร้อยคำทั้งสิ้น

สร้อยคำนี้บางครั้งอาจเรียกว่าเป็นคำอุทานเสริมบทหรือเรียกสั้น ๆ ว่า คำเสริม ก็ได้ เพราะมีจุดประสงค์ในการใช้เพื่อขยายคำพูดและการสื่อสารให้ชัดเจน กระชับ และสละสลวยขึ้น   มีข้อน่าสังเกตสำหรับลักษณะเฉพาะของคำเหล่านี้คือ แม้แยกคำออกจากกันคำหลักก็ยังคงความหมายเดิมพอที่จะเข้าใจได้อยู่ เช่น หนังสือหนังหา...ตัดคำว่า หนังหาออก อาบน้ำอาบท่า..ตัดคำว่าอาบท่าออก กำชับกำชา..ตัดคำว่ากำชาออก รถรา..ตัดคำว่าราออก ไวไฟ..ตัดคำว่าไฟออกไป คำทุกคำก็ยังคงความหมายเป็นที่เข้าใจอยู่ดี  โดยคำที่ถูกตัดออกไปไม่ส่งผลกระทบแต่อย่างใด



คำอุทานเสริมบทที่ทำหน้าที่ในลักษณะคำเสริมนี้บ่อยครั้งที่ทำหน้าที่คล้ายสะพานทอดเชื่อมสัมผัสระหว่างคำจนกลายเป็นคำคล้องจองคล่องปากขึ้นมาตัวอย่างเช่นคำว่าสิงสาราสัตว์...วัดวาอาราม...
ลูกเต้าเหล่าใคร...พิธีรีตอง...ฤกษ์ผานาที...เฒ่าชะแรแก่ชรา...หน้านิ่วคิ้วขมวด...ถ้วยโถโอชาม...ถ้วยชามลามไห..ฯลฯ เป็นต้น  ซึ่งกลับกลายเป็นความงอกงามทางภาษาให้มีวิวัฒนาการในการสร้างสรรค์คำใหม่ ๆ ขึ้นมานอกเหนือไปจากการใช้ คำคู่, คำซ้ำ, คำซ้อน เป็นแนวทางในการสร้างคำที่ใช้สื่อภาษาและอารมณ์ในภาษาไทยอีกเป็นส่วนใหญ่ซึ่งคงจะต้องยกยอดไปอธิบายในตอนต่อไปเนื่องจากมีความสำคัญและ
ข้อควรสังเกตหลายประการที่ไม่อาจละเลย



มีสร้อยคำอีกชนิดหนึ่งที่เป็นคำอุทานเสริมบทเช่นกัน  มักนิยมใช้ต่อท้ายในคำประพันธ์ร้อยกรองประเภทร่ายและโคลงเพื่อเสริมคำประพันธ์ให้จบครบสมบูรณ์ตามกรอบฉันทลักษณ์ คำอุทานชนิดนี้ ผู้รู้บางท่านให้ชื่อว่า คำสร้อย เพื่อให้ต่างจากสร้อยคำที่เป็นคำอุทานเสริมบทอีกแบบหนึ่ง เนื่องจากคำสร้อยใช้เรียกจำกัดเฉพาะคำลงท้ายบทประพันธ์ที่เติมลงไปให้ครบพยางค์ตามบังคับแบบฉันทลักษณ์เท่านั้น โดยไม่มีความหมายของคำเพิ่มขึ้นมาแต่ประการใด เช่น ฮา..เฮย...เอย..นา...รา...แล
อะไรทำนองนี้เป็นต้น

ตัวอย่างคำสร้อยนี้ นอกจากจะพบในร่ายสุภาพที่บังคับฉันทลักษณ์ให้จบความด้วยโคลงสองแล้ว  ยังมักพบเห็นเสมอ ๆ ในโคลงสี่สุภาพเพื่อให้เกิดความลงตัวในถ้อยความ ดังจะขอหยิบยกมาให้ดูเป็นตัวอย่างพอเข้าใจ...


๐ พระพี่พระผู้ผ่าน         ภพอุต - ดมเอย
ไปชอบเชษฐ์ยืนหยุด     ร่มไม้
เชิญราชร่วมคชยุทธิ์       เผยอเกียรติ  ไว้แฮ
สืบกว่าสองเราไสร้         สุดสิ้นฤๅมีฯ


จากบทท้ารบสุดคลาสสิกก่อนทรงทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรครับ พระนิพนธ์ใน สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส เรื่อง ลิลิตตะเลงพ่ายไพเราะเพราะพริ้งสำหรับคำประพันธ์ในรูปโคลง
ผสมร่าย เรื่องนี้  มีเวลาน่าจะหาโอกาสสัมผัสความงามของภาษาที่ท่านใช้สักครั้ง  ใช่แต่กลอนที่หวานได้ โคลงนั้นไซร้ก็หวานเป็น  ไม่เชื่อก็ลองดูบทนี้สิครับ


๐ อบเชยอบชื่นชี้            เฌอสม  ญาฤๅ
อบว่าอรอบรม รื่นเร้า
อบเชยพี่เชยชม กลิ่นอบ เฌอนา
อบดั่งอบองค์เจ้า อบให้เรียมเชย


เพราะเสียไม่มีละ....จริงมั้ยครับ
คงต้องต่อกันอีกสักตอน เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับหน้าทีและพัฒนาการของคำ
ในภาษาไทยของเรา...


1 ความคิดเห็น:

โพสต์แนะนำ

สาระนิทาน ชุด ไม้ไทยใจดี 🍽 เรื่อง "ข.ข้าว ขาว ขาว"

เขียวเอย...เขียวพรมผืนใหญ่ ใครมาถักทอไว้ แลไกลสุดตา  เจียวเอย... ตัวฉันนั่นไง  ใบ ข้าว เขียวเขียว ยืนต้นเดี่ยวเดี่ยว  ร...