-->

วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เกร็ดภาษาไทย 🔖 ใช้ “การ” และ “ความ” ให้งามสม


วันก่อนอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง พบข้อความตอนหนึ่งว่า
“เพื่อความพัฒนาที่ยั่งยืนทางด้านพลังงานของประเทศ...”
รู้สึกสะดุดกึกขึ้นมาทันทีกับคำว่า “ความพัฒนา” เพราะถ้าเพียงแต่ใช้คำว่า
“การพัฒนา” แทนคำว่า “ความ” ก็น่าจะเหมาะสมและสละสลวยมากกว่า

จริงอยู่... แม้เรื่องนี้ไม่ถึงกับเรียกว่า “วิบัติแห่งภาษา” เมื่อเทียบกับคำที่
พบเจอหลาย ๆ คำ โดยเฉพาะภาษาที่ใช้กันบนเน็ต แต่คงจะเป็นการดี
ถ้าจะหาหลักยึดไว้สักนิด เพื่อใช้ “การ” ให้ได้ “ความ”
# ใช้ “การ” และ “ความ” ให้งามสม #


โดยทั่วไป คำที่นำมาใช้พ่วงกับ “การ” และ “ความ” นั้น มีได้ทั้ง
คำนาม คำคุณศัพท์ (ขยายนาม) คำกริยา และคำวิเศษณ์ (ขยายกริยา)
มีข้อสังเกตง่าย ๆ ดังนี้

๑. คำนามและอาการนาม มักประกอบเข้ากับ “การ” เป็นส่วนใหญ่
เช่น การบ้าน.. การเมือง.. การเรือน.. การเงิน.. การคลัง.. การครัว..
การกิน.. การนอน.. การเคลื่อนไหว.. การยิ้ม.. การมองเห็น.. การดำรงชีวิต..
การทักทาย.. การพัฒนา...ฯลฯ เป็นต้น

๒. คำกริยาเฉพาะ “มี” และ “เป็น” เมื่อประกอบกับคำนามหรือคำวิเศษณ์
ให้ใช้ “ความ”นำหน้าเสมอ เช่น ความเป็นเพื่อน... ความเป็นมนุษย์..
ความเป็นคนดี...ความมีสติ.. ความมีรสนิยม.. ความมีโชค...ฯลฯ
คำเหล่านี้ไม่นิยมใช้ “การ” นำหน้า

๓. คำกริยานอกจาก “มี” และ “เป็น” เมื่อประกอบเป็นคำนาม
อาจใช้ได้ทั้ง “การ” และ “ความ” หากมีหลักสังเกตพอเป็นข้อกำหนดได้ว่า...
ถ้ากริยาที่ใช้ มีลักษณะเป็นรูปธรรมหรือทางกายภาพ เช่น
ซื้อ.. ขาย.. จ่าย.. แจก.. เย็บ.. ปัก.. ถัก.. ร้อย.. ห้อย.. ร้อง..
ทักทาย.. ไต่ถาม..สอบสวน...ฯลฯ กริยาเหล่านี้ต้องใช้ “การ”
จะใช้ “ความ” ไม่ได้

แต่ถ้ากริยาที่ใช้ มีลักษณะเป็นนามธรรม หรือโน้มไปทางใจ
เช่น รัก..เศร้า.. เหงา..สลด..หดหู่..เบิกบาน.. หวานชื่น.. ขื่นขม..
ฟุ้งซ่าน..ท้อแท้.. ฯลฯ เหล่านี้ ต้องใช้ “ความ” นำหน้าเป็นหลักเท่านั้น

อาจมีบ้างบางคำที่ใช้ประกอบคำว่า “การ” ได้โดยอนุโลม แต่ก็ไม่เป็นที่นิยม
รู้อย่างนี้แล้ว หวังว่าคงจะพอจับหลักการใช้ “การ” ให้ได้ “ความ”
เพื่อการ “สื่อสาร” และ “สืบสาน” ภาษาไทยให้วิวัฒน์ต่อไปนาน ๆ นะจ๊ะ..

# ใช้ “การ” และ “ความ” ให้งามสม #
https://planetpt.blogspot.com/search/label/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%20%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99เกร็ดภาษาไทย/ภาษาไทย-ใช้ให้เป็น


วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เกร็ดภาษาไทย 🧨 สระเอ...ชอบเดินเซ


เสน่ห์และความงามของภาษาไทย นอกจากความเป็นภาษาเสียงที่มีท่วงทำนองการอ่านละม้ายคล้ายคลึงกับเสียงดนตรีแล้วในแง่คำและความหมายของคำ   ยังมีความมหัศจรรย์ให้คนรักภาษาไทยและนักนิรุกติศาสตร์ได้ค้นหาอีกไม่รู้จบ ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดประการหนึ่ง  คือคำที่เกิดจากการประสมกับสระเอ ส่วนใหญ่มักแสดงความหมายว่า “ไม่ตรง” หรือไม่แน่นอน ไม่เชื่อก็ลองสังเกตคำเหล่านี้ดูสิ...

(ฟัน) เก...(ตา) เข... เค้เก้...(เดิน) เฉ...(โซ) เซ...(เตร็ด) เตร่...(ลาด) เท...(หน้า) เบ้...(ขา) เป๋...โยเย...(ร่อน) เร่...เส (ความ)...เหยเก...
หัก (เห)...(ตา) เหล่...
               

เอ้า! ยกตัวอย่างให้ฟังก็ได้ อะไรบ้างล่ะ...

อย่างเช่นคำว่า โคลงเคลง โอนเอน โงนเงน หน้าเบ้ ตาเหล่ ตาเข เหยเก โยเย หันเห เค้เก้ โผเผ โซเซ  ขาเป๋ 

   

เห็นมะ...ไล่ไปเลย คำพวกนี้ ไม่มีคำไหนที่มีความหมายว่า ตรง ซักคำ

จะมีก็แค่คำเดียว….คำนั้นก็คือคำว่า...

เด่!


วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2552

บทกวี >> รำพึง (ถึงเพื่อน) ในป่าปูน


วันนี้เสกสวรรค์สวรรค์สม
ไยปรารมภ์ถึงวันพรุ่ง
ประคิ่นโลก ประคองรุ้ง
ชั่วกาละขณะนี้


แต่เบื้องดึกดำบรรพ์
ทุกเผ่าพันธุ์มิพ้นผี
ปุบปับก็ลับลี้
ดะด่าวดิ้นกับดินดล

อย่าค้อมยอมใคร 
แม้ใหญ่เกินคน


ยืดกายยอเกศ 
เรืองเดชโดยตน
โดยเหตุโดยผล 
เทียบทิฆัมพร...

หนึ่งหยดน้ำใจให้
เจือเมรัยละเมียดอ่อน
แบ่งปันเอื้ออาทร
ประสาซื่อระหว่างเรา


สวรรค์ชั้นไหนไหน
จะเปรียบได้สองเราเล่า
ดื่ม..ดื่ม ให้มึนเมา
แล้วอุ้มเอาความรักไว้.


วันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เกร็ดภาษาไทย: คำว่า "ละ...ล่ะ, นะ...น่า, คะ...ค่ะ"

ภาษาไทย ใช้ให้เป็น                                           

หยิบเรื่องนี้มาพูดเพราะรู้สึกหงุดหงิดหัวใจมาหลายเพลาเต็มทนเกี่ยวกับ

การใช้คำเหล่านี้ในภาษาเขียน ที่แม้แต่ราชบัณฑิตยสถานก็ไม่เคยให้
อรรถาธิบายอย่างเป็นเรื่องราวเสียที เลยต้องทนเห็นงานเขียนหลาย ๆ ชิ้น
ที่ต้องลดทอนคุณค่าของตัวเองลงอย่างน่าเสียดาย เพราะใช้คำเหล่านี้ผิด
โดยเฉพาะในงานแปลชั้นดีหลายต่อหลายเรื่อง วันนี้เลยขออาจหาญทำ
หน้าที่อธิบายให้ชัดเจนอีกสักครั้ง...

๑. ละ ... เป็นคำที่ใช้ในประโยคบอกเล่า กร่อนเสียงมาจากคำว่า "แหละ"
เช่น เท่านั้นละ (แหละ), เอาอย่างนี้ละ (แหละ), ดีแล้วละ (แหละ)เป็นต้น

ล่ะ ...ใช้ในรูปประโยคคำถาม กร่อนเสียงมาจากคำว่า "เล่า" เช่น จะ
ไปไหนล่ะ (เล่า), กินข้าวด้วยกันไหมล่ะ (เล่า), ทีนี้จะทำอย่างไรกันดีล่ะ
(เล่า) เป็นต้น

ข้อควรจำ: เคยเห็นคนใช้คำว่า "หละ" หรือร้ายกว่านั้น "หล่ะ"
นี่ไม่ใช่ภาษาไทย ภาษากระเหรี่ยงก็ไม่มี!!!

๒. นะ ... ประกอบคำเป็นเชิงอ้อนวอนหรือเสริมให้หนักแน่นขึ้น เช่น
รอก่อนนะ, อย่าไปนะ, รักนะฯลฯ

น่ะ ...คำนี้ไม่ปรากฏในพจนานุกรม เข้าใจว่าน่าจะกร่อนเสียงมาจากคำว่า
"น่า" ในความหมายอ้อนวอน เชื้อเชิญ หรือชักชวน เช่น ลองดูหน่อย
เถิดน่า, อย่าทำอย่างนี้เลยน่า...ฯลฯ

๓. คะ ... ใช้ต่อท้ายคำเชิญชวนหรือคำถามอย่างสุภาพคล้ายกับ "จ๊ะ"
เช่น เชิญเข้ามาก่อนซิคะ, ตัดสินใจหรือยังคะ, จะไปไหนจ๊ะ ...ฯลฯ

ค่ะ ...เป็นคำรับในความหมายเดียวกับ "จ้ะ" หรือใช้ในประโยคบอกเล่า
เช่น กลับก่อนละค่ะ, ดีแล้วละค่ะ, ดูดีแล้วจ้ะ ....ฯลฯ

ข้อควรจำ: กรุณาอย่าใช้ "รักนะค่ะ" แทนที่จะใช้ "รักนะคะ" หรือ
"รักค่ะ" นะจ๊ะ...


โพสต์แนะนำ

สาระนิทาน ชุด ไม้ไทยใจดี 🍽 เรื่อง "ข.ข้าว ขาว ขาว"

เขียวเอย...เขียวพรมผืนใหญ่ ใครมาถักทอไว้ แลไกลสุดตา  เจียวเอย... ตัวฉันนั่นไง  ใบ ข้าว เขียวเขียว ยืนต้นเดี่ยวเดี่ยว  ร...