-->

วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เกร็ดภาษาไทย 🖍 ไม้ มลาย ไม้ม้วน ควรจดจำ


        เคยวางหลักจำคำไทยที่ใช้ไม้ม้วนไปครั้งหนึ่งแล้วในรูปของกาพย์ยานี
ที่ครูบาอาจารย์ท่านแต่งไว้ให้จำได้ง่าย ๆ

ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่ ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ
ฝ่ใจเอาใส่ห่อ มิหลงใหลใครขอดู
จะใคร่ลงเรือใบ ดูน้ำใสและปลาปู
สิ่งใดอยู่ในตู้ มิใช่อยู่ใต้ตั่งเตียง
บ้าใบ้ถือใยบัว หูตามัวมาใกล้เคียง
แคล่วคล่องอย่าละเลี่ยง ยี่สิบม้วนจำจงดี

        และอีกบทหนึ่งที่โบราณท่านแต่งไว้เป็นกาพย์ยานีเหมือนกัน
ปรากฎในหนังสือประถมมาลา ดังนี้...

ใฝ่ใจให้ทานนี้ นอกในมีแลใหม่ใส
ใครใคร่แลยองใย อันใดใช้และใหลหลง
ใส่กลสะใภ้ใบ้ ทั้งต่ำใต้และใหญ่ยง
ใกล้ใบและใช่จง ใช้ให้คงคำบังคับ

        ท่องจำไว้เล่น ๆ ทั้งสองบทก็น่าจะดี แต่สำหรับผู้เขียน นิยมจำบทแรกเพราะคล่องปากและจดจำง่ายดี... 
        ที่ต้องจำก็เพราะคำอื่นที่ต้องใช้สระไอสะกด โบราณท่านให้หลักว่า จะต้องใช้ไม้มลายสะกดทั้งหมด  โดยเฉพาะคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาต่างประเทศเช่น ไวน์ ไฮไฟ กังไส ไหหลำ แกงได (เครื่องแทนการลงลายมือชื่อ) ฯลฯ

        อย่างไรก็ดี มีคำที่ใช้ไม้มลายอยู่หลายคำที่มีเสียงซ้ำกับคำที่ใช้ไม้ม้วน จึงควรจดจำไว้ด้วย คำ
เหล่านี้ ได้แก่..ไต้ (สำหรับจุดไฟ), ไส (ผลักไส) ไห้ (ร้องไห้), ไจ (เข็ดด้าย), ไย (ไฉน,อะไร ,ทำไม) ได (สลัดได, แกงได) ไน (ลองไน, ปลาไน), ไหล (ปลาไหล, เหล็กไหล, เลื่อนไหล, รื่นไหล, เหลวไหล, หลับไหล)...เป็นต้น
     
         อาจมีคนหัวใจซุกซนบางคนอดสงสัยไม่ได้ว่า เอ..แล้วทำไมภาษาไทยต้องมีทั้งไม้มลายไม้ม้วนให้ป่วนใจจำด้วยหว่า....?
         ขอตอบตามที่คุณ ม.ศรีบุษรา เคยค้นคว้ามาได้ดังนี้ครับ
          มีคำเมือง (ภาษาล้านนา) เก่าแก่คำหนึ่งว่า "มาย" แปลว่า "คลี่,คลาย,ขยาย" ซึ่งเป็นความหมายเดียวกันกับที่พบในพจนานุกรมภาษาถิ่นอีสาน ซึ่งสันนิษฐานว่า มีการนำมาใช้เป็นสระหรือ ไม้มาย เพื่ออ่านออกเสียงแทนสระไอ  และเมื่อมาถึงไทยก็แผลงจาก 'มาย' เป็น 'มลาย' ตามแบบอย่างอิทธิพลของเขมรที่นิยมกันตั้งแต่สมัยสุโขทัยและก่อนหน้านั้น ส่วนคำที่ใช้สระไอไม้ม้วนนั้น เดิมออกเสียงคล้ายสระอา+สระอือปนกัน พ่อขุนรามคำแหงจึงทรงให้ราชบัณฑิตสมัยนั้นกำหนดรูปไม้ม้วนไว้ใช้แทนเสียงดังกล่าวอีกรูปหนึ่ง ซึ่งกาลเวลาที่ผ่านไปกว่า ๗๐๐ ปี ก็ทำให้เสียงสระไอและสระใอกลายเป็นเสียงเดียวกันแต่ต่างรูปดังเช่นที่เห็นกันในปัจจุบัน

          และเป็นเหตุให้เราต้องท่องเพื่อจดจำหลักการใช้ไม้หน้าสาม เอ๊ย! ไม้ม้วน ไม้มลายจนทุกวันนี้....

        เฉพาะคำว่า หลับไหล นี้ ยังเป็นคำกำกวมที่แม้แต่ราชบัณฑิตยสภาเองก็ยังไม่มีบทสรุปและมิได้บัญญัติไว้ในพจนานุกรม เนื่องจากยังมีความเห็นแย้งกันอยู่ ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ควรใช้ไม้ม้วนสะกดโดยยก พจนานุกรมล้านนา-ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง พ.ศ. ๒๕๓๓ ซึ่งเป็นฉบับร่างที่ ๒ เก็บคำ "ใหล" ว่า "ก. ละเมออย่างหลับใหล-นอนละเมอ, หลงใหล-หลงละเมอ หรือ พูดอยู่ตามลำพัง  ในขณะที่พจนานุกรมภาษาถิ่นอีสานกลับให้ความหมายเดียวกันนี้โดยสะกดด้วยไม้มลาย ซึ่งสำหรับผู้เขียนแล้ว ค่อนข้างเห็นด้วยกับฝ่ายหลัง เพราะสอดคล้องลงรอยกับหลักภาษากลางมากกว่า

        มีคำประสมที่ใช้ไม้ม้วนบางคำที่ควรสนใจ เช่น เหล็กใน (อาจเพราะอยู่ในตัวแมลง), หมาใน (ไม่ใช่หมานอก) เยื่อใย..ห่วงใย..ชักใย..ยองใย..(ล้วนมาจาก "ใย") นอกนั้นส่วนใหญ่รวมทั้งคำที่เกลื่อนกรายมาจากคำต่างประเทศ นิยมใช้ไม้มลายเป็นหลักทั้งนั้นครับ.


https://planetpt.blogspot.com/search/label/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%20%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ20 สิงหาคม 2555 เวลา 22:38

    ขอบคุณครับ เป็นความรู้ที่ดีทีเดียว

    ตอบลบ

โพสต์แนะนำ

สาระนิทาน ชุด ไม้ไทยใจดี 🍽 เรื่อง "ข.ข้าว ขาว ขาว"

เขียวเอย...เขียวพรมผืนใหญ่ ใครมาถักทอไว้ แลไกลสุดตา  เจียวเอย... ตัวฉันนั่นไง  ใบ ข้าว เขียวเขียว ยืนต้นเดี่ยวเดี่ยว  ร...