-->
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ สำนวนไทย แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ สำนวนไทย แสดงบทความทั้งหมด

วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

กวีวัจนะ📜 ร้อยกระบวนสำนวนไทย (๑) ร่ายสุภาพ/ฉันท์

สำนวนไทยในชีวิตประจำวัน https://planetpt.blogspot.com/
โวหารโบราณไทย แทรกแฝงไว้เป็นคติ ก่อดำริโดยชอบ ให้รอบคอบคิดเห็น ยามบำเพ็ญกอปรกิจ  แก่ชีวิตทุกขณะ  รู้ปะทะทางทุกข์ รู้สร้างสุขพอเสพ รู้จักเจ็บจักจำ รู้โถมทำรู้ถอย รู้รอคอยรู้เร่ง รู้ควรเก่งควรหลบ รู้สยบรู้ยอ รู้ควรงอควรหัก รู้ผ่อนหนักผ่อนเบา รู้ทางเขลาทางควร รู้ถี่ถ้วนทางเถิน รู้ดำเนินทางราบ รู้บำราบปรปักษ์ รู้ตอบรักหมู่มิตร รู้ขบคิดครวญใคร่ รู้สงสัยสืบเสาะ รู้ย่างเหยาะเย็นเยือก รู้ว่าเปลือกว่าแก่น รู้ตอบแทนตอบรับ รู้สดับรู้แสดง รู้ระแวงขานไข รู้เปิดใจเปิดปาก รู้ใดกากใดค่า รู้คบค้าเพื่อนมนุษย์ รู้สมมุติสงสาร รู้สราญเริงรื่น รู้หยิบยื่นแก่เขา รู้รับเอาเหมาะสม รู้ทางลมทางหลีก รู้ใครฉีกใครฉก รู้ยอยกชีวาตม์ รู้อำนาจยามใช้ รู้ปลอบใจยามหม่น รู้เจียมตนเจียมอยู่ รู้ศัตรูรู้มิตร หลั่งแง่คิดคมคาย หลากความหมายมากมี แล้วแต่ตีความขบ บ้างซ่อนทบหลายชั้น บ้างแดกดันพอเจ็บ บ้างหนักเหน็บตรงตรง บ้างเจตน์จงปรามาส บ้างประสาทสังสิทธิ บ้างสะกิดให้ฉุก บ้างปลอบปลุกให้สู้ บ้างโจมจู่จับใจ บ้างเลียดไถลเข้าข้าง บ้างสมอ้างเอาเอง ท่านเลบงบอกบท กำหนดข้อคำสอน  เป็นคำกลอนสุภาษิต ให้แง่คิดคำคม บ้างติชมเฉยเฉย เรียกคำพังเพยก็ว่า บ้างอุปมาอุปไมย ยกข้อไขเปรียบเทียบ เรียบเรียงไว้โวหาร เป็นบำนาญแห่งผู้ ชมชื่นหวังเรียนรู้ แบบเบื้องบุรพกาล  ท่านแฮ...

วิชชุมมาลาฉันท์


ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ คนดีมักไร้ เภทภัยแผ้วพาน

ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน อยากอยู่สำราญ อย่าเที่ยวโกงใคร

ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ ต่างรู้ไส้ใน ซึ่งกันและกัน
จอดไม่ต้องแจว เถื่อนแถวทางตัน ขัดข้องทั้งนั้น ทางสู้ทางหนี

หาเหาใส่หัว เปลืองตัวใช่ที่ ช่วยเขาเราซี หน้าเผือดเดือดร้อน

เอามือซุกหีบ ต้องรีบไถ่ถอน พิษร้ายภัยรอน อย่าวอนหาความ

อย่าหมิ่นทับถม คนล้มอย่าข้าม วันนี้ทรุดทราม วันงามยังมี
 

วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2556

กวีวัจนะ 📃 ร้อยกระบวนสำนวนไทย (๔) กลอนสุภาพ

ร้อยกระบวนสำนวนไทย (๔)..กลอนสุภาพ


กลอนสุภาพ


ตำน้ำพริกละลายในแม่น้ำ
เผ็ดจะนำรสได้อย่างไรหนอ
เปรียบงานนิดคิดเสียเพลินจนเกินพอ
เขาเยินยอจ่ายไม่ยั้งหวังคำชม
เอาเนื้อหนูปะเนื้อช้างหวังเอาหน้า
กับมหาเศรษฐีมีเงินถม
เจียดสินทรัพย์อย่างโก้แท้โง่งม
เราล่มจมเขามากเพิ่มแค่นิดเดียว
หวังงานใหญ่อย่าลองเล่นเช่นยาจก
กุ้งฝอยตกปลากะพงคงเสียเที่ยว
ลงทุนน้อยกำไรมากยากนักเชียว
กว่าขับเคี่ยว กว่าได้การ นานนานที
ไม่เห็นน้ำด่วนไปตัดกระบอก
อาจเสียดยอกทุกข์ทนรนหาที่
ยังไม่ถึงเวลาค่าควรมี
ด่วนทำไปก็เปล่าปลี้มีแต่เปลือง
เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้างเอาอย่างเขา
เที่ยวเกลือกกลั้วมัวเมาไม่เข้าเรื่อง
เขามั่งมี เรามีมั่ง ตั้งตาเคือง
เลียนแบบความฟุ้งเฟื่องเซื่องเซื่องไป

กินข้าวร้อน นอนตื่นสายอย่างนายเหนือ
รักสบายอยู่ทุกเมื่อน่าเบื่อไหม
ทุกงานทำก็ฝืนทำเพราะจำใจ

เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ งอมือตีน
คอยผัดวันประกันพรุ่งมุ่งผัดผ่อน
ต้องเดือดร้อนเพราะพาทีไม่มีศีล
ใครจะรอต่อให้แน่แม้ปวีน
ยากป่ายปีนความสำเร็จเสร็จทันกาล
ปากเป็นเอก เลขเป็นโท โวหารเปรียบ
ยกทำเนียบวิทยามหาศาล
ยังเป็นรองร้อยรสพจมาน
ที่ขับขานออกไปให้คนยิน

วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เกร็ดภาษาไทย 📚 สำนวน "ศรศิลป์ไม่กินกัน", "ไม่กินเส้น"

สำนวน "ศรศิลป์ไม่กินกัน", "ไม่กินเส้น"
ตั้งใจไว้แต่เดิมว่า  จะปลีกวิเวกจากการเขียนอะไรต่อมิอะไรไปสักพักหนึ่ง  ด้วยรู้สึกจิตตกจากสาเหตุหลาย ๆ ประการดังที่เราท่านทั้งหลายต่างรับรู้กันดี  จนพลอยทำให้ตัวหนังสือทุกตัวที่วิ่งออกมาจากอารมณ์ ความคิดดูเหมือนเต็มไปด้วยความขุ่นมัว ติติง วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบต่อสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ในบ้านเมืองเสียเป็นส่วนใหญ่ สุดท้ายเลยต้องแอบขอลาหยุดกับตัวเอง  เอาแต่สวมหูฟังนั่งทอดหุ่ยฟังเพลงไปเรื่อย  จนหุ่ยที่ทอดไว้ไหม้ไปหลายตลบแล้ว..อิอิ

    เอ่ยถึงคำว่า "ทอดหุ่ย" ขึ้นมา  เลยอดสงสัยไม่ได้ว่าคำ ๆ นี้ที่มาจากไหน โดยเฉพาะคำว่า “หุ่ย”มาจากอะไร  น่าแปลกที่ขนาดถามตาเกิ้ล (คนละคนกับตาเกิ้นในเรื่อง “ล่องไพร” ของ “น้อย อินทนนท์”) ก็ยังไม่ได้เรื่อง  ยังดีที่ได้พบความไม่อยู่กับร่องกับรอยของพจนานุกรมไทยที่ยังความสับสนแก่นักเรียนและประชาชนอีกครั้งในสำนวนนี้ กล่าวคือ ในความหมายเดิม (ฉบับปี ๒๔๙๓) ราชบัณฑิตท่านให้ความหมายว่า “อาการนอนอย่างอ่อนอกอ่อนใจ” พูดง่าย ๆ ก็คือ ไม่สบายใจนั่นแหละ  แต่พอมาถึงฉบับปี ๒๕๒๕ ความหมายกลับเปลี่ยนไปเป็น “การนอนอย่างสบายใจ ปราศจากความวิตกกังวล”....คนละขั้วไปเลย
    ตัวอย่างคล้าย ๆ กันของสำนวนไทยที่แปรเปลี่ยนความหมายไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงอีกคำหนึ่งก็คือ คำว่า "ศรศิลป์ไม่กินกัน"

วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2552

กวีวัจนะ: ร้อยกระบวนสำนวนไทย (๓) กาพย์ฉบัง

นกน้อยทำรังแต่พอตัว

นกน้อยทำรังแต่พอตัว เหมาะเจาะถ้วนทั่ว
เสาะสุขทุกครั้งประมาณตน

ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น หน่อเนื้อเชื้อผล
มิผิดเพี้ยนเผ่าพงศ์พันธุ์

หงิมหงิมหยิบชิ้นปลามัน งุบงิบเงียบงัน
คว้าสิ่งสำคัญก่อนใคร

ยืมจมูกคนอื่นหายใจ ขัดข้องเพียงไหน
ยากนักจักหาค่าคุณ
เปรียบคิดหวังพึ่งใบบุญ คนช่วยค้ำหนุน
บ่ห่อนสมหวังดังใจ

แมลงเม่าบินเข้ากองไฟ รังแต่มอดไหม้
เหลือหนทางตายสถานเดียว
เฉกชนไร้แล้งแรงเรี่ยว หาญฮึกขับเคี่ยว
กับอำนาจเหนือกว่าเหนือ

แกงจืดจึ่งรู้คุณเกลือ ยามมีเหลือเฟือ
บ่ห่อนรู้ค่าของใด
ถึงคราวสิพรากจากไป ฉุกคิดขึ้นได้
เสียดายคุณค่านับอนันต์

วัวใครเข้าคอกคนนั้น กรรมย่อมตามทัน
ผู้ก่อเฉกเช่นเงาตัว

เห็นกงจักรเป็นดอกบัว อับเฉาเมามัว
เกรอะบาปอาบชั่วนัวเนีย

ขายหน้าวันละห้าเบี้ย ระอาจิตคิดเพลีย
เรื่องราวฉาวฉู่มิรู้วาย

ปลูกเรือนผิดคิดจนเรือนทลาย พลั้งพลาดอาจสาย
รอบคอบคิดเห็นเป็นคุณ

พกหินดีกว่าพกนุ่น ใจย่อมค้ำจุน
ผู้เป็นเจ้าของครองคน

ใจหนักหนักด้วยเหตุผล ทุกถ้อยยินยล
ตริตรึกนึกข้อเคลือบแคลง

ใจเบาใครเขายุแยง เสกสรรค์ปั้นแต่ง
หลงเชื่อวิบัติซัดเซ

หนีเสือปะจระเข้ เรื่องร้ายจำเจ
หนีหนึ่งเจอะอื่นจัญไร

กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ กว่าคิดแก้ไข
เหตุร้ายก็สายเกินการณ์

ปัดสวะให้พ้นหน้าบ้าน ทุกเรื่องพบผ่าน
ทอดธุระแค่พ้นไปที

ไม่มีมูลฝอยหมาไม่ขี้ มีผลย่อมมี
เหตุให้สืบสาวที่มา

กินบนเรือนขี้บนหลังคา เขาให้พึ่งพา
กลับคิดข้างเนรคุณพลัน

แย้มปากก็เห็นไรฟัน รู้เท่าทันกัน
ทุกถ้อยทุกท่าทีทำ

สอนจระเข้ให้ว่ายน้ำ สั่งสอนสิ่งซ้ำ
ตระหนักรู้ล้วนชวนหัว

ตัดช่องน้อยแต่พอตัว เพื่อนพ้องพันพัว
เล็ดลอดแต่เพียงลำพัง

เลือกที่รักมักที่ชัง กิเลสบดบัง
ลำเอียงทุกครั้งฟังความ

ช้าช้าได้พร้าเล่มงาม ขบคิดตรองตาม
ประจงจิตจ่อก่อสาน

สรรพสิ่งเขื่องโขโอฬาร แท้คือตำนาน
กำเนิดแห่งภัสมธุลี

ผ่านพลังสร้างสรรค์บรรดามี ผ่านวันเดือนปี
สุดท้ายจึงเห็นดั่งเห็น....


ร้อยกระบวนสำนวนไทย (๓) ฉบัง ๑๖
ร้อยกระบวนสำนวนไทย (๔)


วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2552

กวีวัจนะ: ร้อยกระบวนสำนวนไทย (๒) กาพย์ยานี

ร้อยกระบวนสำนวนไทย (๒) กาพย์ยานี ๑๑

กาพย์ยานี ๑๑

มีทองเท่าหนวดกุ้ง    นอนสะดุ้งจนเรือนไหว
เปรียบเปรยคนยากไร้    วุ่นวายใจในสินทรัพย์

สาวไส้ให้กากิน    ฉาวโฉ่สิ้นยามสดับ
เรื่องราวในเรือนลับ    ควรหรือเอาไปป่าวร้อง

พูดไปสองไพเบี้ย    นิ่งนิ่งเสียตำลึงทอง
ขานไขควรไตร่ตรอง    ใดควรพูดใดควรงำ

ปัญญาแค่หางอึ่ง    หมายถึงคนปัญญาต่ำ
ผักต้มขนมยำ    ปนเปไปไม่รู้พอ

เข้าเถื่อนอย่าลืมพร้า    ทุกแนวป่ามีภัยรอ
ประมาทอาจทุกข์ท้อ         ทุกข์การณ์ก่อต้องใคร่ครวญ

ฝนตกอย่าเชื่อดาว    ราวฟ้ากว้างกว่าเมฆกวน
เรื่องราวทั้งหลายล้วน    อย่าไว้ใจจนหมดใจ

ดีดลูกคิดรางแก้ว    ด่วนได้แล้วมักไม่ได้
ภาษิตติดเตือนใจ    อย่าหวังได้แต่ถ่ายเดียว

ดักลอบให้หมั่นกู้    ดักเจ้าชู้ให้หมั่นเกี้ยว
บอกบทอย่าลดเลี้ยว    ทุกงานทำต้องใส่ใจ

เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน    สอดประสานงานให้ได้
ใหญ่น้อยร้อยเรียงไป    จวบชี้เห็นเป็นรูปทรง

เงื้อง่าราคาแพง    เขาจักแย่งสิ่งประสงค์
หมายใจสิ่งใดจง    โหมเข้าหักอย่าชักช้า
 

ผิดถูกดีหรือร้าย    ค่อย ไปตายเอาดาบหน้า
ต่อตีตามวาสนา    กรรมบัญชาให้ได้พบ

ตกกระไดพลอยโจน    เหตุยื่นโยนยากหลีกหลบ
ชี้เห็นประเด็นครบ    โลดถลำจำเอออวย

ลูกขุนพลอยพยัก    เจ้าว่ารักข้ารักด้วย
บอดใบ้ไม่เขินขวย    ประจบจ้อสอพลอนาย

น้ำกลิ้งบนใบบอน    เปรียบกระล่อนอวดลวดลาย
เล่นเล่ห์เพทุบาย    พร่ำอวดโอ่แท้โฉเก

ฝากเนื้อไว้กับเสือ    ใครขืนเชื่อเสือเกเร
พลิกลิ้นว่ากินเจ    เผลอกลืนหมับวับหายสูญ

สำเนียงส่อภาษา    กิริยาส่อตระกูล
บอกเล่าเป็นเค้ามูล    ชนชั้นไหนใคร่ประพฤติ

หักด้ามพร้าด้วยเข่า    โหมหักเอาเข้ายื้อยึด
เจ็บเปล่าเขาอาจฮึด    สู้ขันแข็งสุดแรงขืน

เด็ดบัวไม่เหลือใย    ธารน้ำไหลไม่หวนคืน
สัมพันธ์อันหวานชื่น    ถึงบทจบเลิกคบค้า

หนามยอกเอาหนามบ่ง    ตอบโต้ตรงตาต่อตา
แรงไปก็แรงมา    ตอบให้เห็นเช่นเดียวกัน

น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ    เรือจะล่มจมเร็วพลัน
เขาร้อนมาอย่ากั้น    ขวางพรวดพราดอาจเจ็บตัว

ตีป่าให้เสือตื่น    ขู่เขาอื่นให้ตื่นกลัว
เขาอาจยิ้มเยาะยั่ว    หยอกเย้าเล่นเป็นอาจิณ

ถ่มน้ำลายรดฟ้า    รังแต่หน้าเปรอะราคิน
เปล่าประโยชน์ทั้งสิ้น    กลับร้อนรุกด้วยทุกข์โถม

กบในกะลาครอบ    ยิ่งโต้ตอบยิ่งเสื่อมโทรม

รู้น้อยต้องรู้โน้ม    ใช่อวดเก่งเบ่งความรู้

ฝนทั่งให้เป็นเข็ม    ค่อยและเล็มอย่าอดสู
หมั่นเพียรเรียนคำครู    ด้วยมานะพยายาม

เก็บเล็กผสมน้อย    ทุกถั่งถ้อยร้อยเรียงตาม
กลั่นกรองตรองไต่ถาม    ทีละน้อยค่อยสะสม

ตัดหนามอย่าไว้หน่อ    เข้าถึงตอทุกหลุมหล่ม
กระพี้ที่โสมม             เศษโคลนตมชำระทิ้ง

เส้นผมบังภูเขา    มายาเงาในความจริง
ลางเลือนเหมือนยากยิ่ง         แท้ที่จริงสิ่งง่ายดาย

เขาวัวอยู่ข้างหน้า    รอคนกล้าเข้าท้าทาย
เปรียบทางทุกที่หมาย         ซ่อนอุปสรรคและขวากหนาม

ลางเนื้อชอบลางยา    บ้างเห็นค่าควรฝ่าข้าม
บ้างถอย บ้างคล้อยตาม         บ้างกล่าวห้าม บ้างถามทวน

พายเรือคนละที    แข่งชิงดีแข่งได้ด่วน
สุดท้ายพายเรรวน         เรือหมุนคว้างขวางลำคลอง

ลูบหน้าปะจมูก    ล้วนพันผูกตามครรลอง
โน่นพี่นี่เพื่อนพ้อง         ยากแตะต้องยากลงทัณฑ์

ตีวัวกระทบคราด    อวดอำนาจด้วยอัดอั้น
ดุด่าทุกสิ่งอัน             หวังแดกดันคนข้างเคียง

ฟื้นฝอยหาตะเข็บ    เรื่องเก่าเก็บกลับไล่เรียง
รื้อฟื้นขึ้นถกเถียง         เสียเวลาต่อคารม

ปลาหมอตายเพราะปาก    เหลือแต่ซากคาเบ็ดคม
พล่อยพล่ามตามอารมณ์     ระวังเป็นเช่นปลาหมอ

ปิดครัวไฟไม่มิด    สร้างความผิดฉาวโฉ่ฉ้อ
ปิดเรื่องลบรอยรอ         คนหลงลืมคงไม่ไหว

หมองูตายเพราะงู    ฉลาดรู้ในสิ่งใด
ถึงฆาตพลาดพลั้งไป         ขาดเฉลียวใจหนีไม่ทัน

ตำข้าวสารกรอกหม้อ    หาแค่พอกินวันวัน
อีกไกลแค่ไหนนั่น         กว่าสำเร็จในชีวิต

ชี้นกบนปลายไม้    วาดหวังไกลเกินลิขิต
เปรียบคนก่นแต่คิด         หวังสูงมากยากดังหวัง

เข็นครกขึ้นภูเขา    แบกรับเอาตามคำสั่ง
งานยากเกินกำลัง         ยากเห็นผลต้องทนทำ

ทุบหม้อข้าวตัวเอง    ไม่ยำเกรงผูกใจจำ
ว่าร้ายนายเหยียบย่ำ         นายอาจซ้ำถึงตกงาน

ปลาใหญ่กินปลาเล็ก    ลำดับเด็กน่าสงสาร
ผู้ใหญ่ไล่รังควาน         ฉวยโอกาสอำนาจมี

หมากัดอย่ากัดตอบ    อย่าชื่นชอบความอัปรีย์
หลีกได้ให้หลีกหนี         คนชั่วช้าอย่าข้องแวะ

ยื่นแก้วให้วานร    มันมักค้อนมักค่อนแขวะ
ความดียื่นชี้แนะ             หารู้ค่าหารู้คิด

โง่แล้วอยากนอนเตียง    เฝ้าถกเถียงทั้งผิดผิด
พลาดหวังทั้งชีวิต         ยังทะนงหลงว่ารู้

ยืนกระต่ายสามขา    ยืนวาจาแก่ทุกผู้
ถูกผิดไม่คิดรู้     ยืนยันคำซ้ำทุกหน

เถียงคำไม่ตกฟาก    ชอบต่อปากไร้เหตุผล
ปากไวไม่ยอมคน         ไม่ผ่อนปรนไม่ยอมใคร
 

ล้อเล่นหมายเจรจา      กลับ ตีหน้ายักษ์เข้าใส่
ใครเขาอยากเข้าใกล้         เพียงแค่เห็นก็เผ่นแล้ว

หุงข้าวประชดหมา    อย่า ปิ้งปลาประชดแมว
หาไม่คงไม่แคล้ว    หมดตัวเปล่าไม่เข้าการณ์
เปรียบนายรู้ว่าบ่าว          ลักของข้าวนึกรำคาญ
แกล้งกองเกลื่อนเต็มบ้าน     หวังประชดเลยหมดตัว

เลี้ยงช้างกินขี้ช้าง    เฉกลูกจ้างคิดทางชั่ว
กอบประโยชน์เข้าหาตัว         จากหน้าที่การงานตน


ขูดรีดเอาทุกท่า         คน ทำนาบนหลังคน
เนื้อร้ายเมื่อปะปน    ต้องจำทนเชือดเนื้อร้าย

ตีงูให้หลังหัก    มักแว้งกัดเข้าข้างกาย
ตีงูต้องตีตาย    เหมือนกำจัดเหล่าศัตรู

สีซอให้ควายฟัง    มันนิ่งนั่งไม่รับรู้
ไร้ผลจนใจชู    เชิดคนโง่ให้เชี่ยวชาญ

ชักตะพานแหงนเถ่อ    เอ้อเรอเอ้อเต่ออยู่นาน
เปรียบคนรอผลงาน         ไม่ถึงไหนได้แต่รอ

สอนสั่งไม่ฟังคำ     เหมือน ตักน้ำรดหัวตอ
ราดรดน้ำหมดบ่อ         ไม่รู้สึกสำนึกตน

น้ำขึ้นให้รีบตัก  ชะล่านักจักเสียผล
โอกาสมาถึงตน             ควรรับไว้ให้เกิดการณ์

รู้รอรู้ต่อสู้    รู้ อดเปรี้ยวไว้กินหวาน
มวลหมู่ดอกไม้บาน    มิเคยใครไปเร่งมัน

ชี้โพรงให้กระรอก   ชี้ทางออกทุกสิ่งอัน
เสกสร้างทางสวรรค์    ให้เขาใช้เขาฉวยชม

แกว่งเท้าเข้าหาเสี้ยน   เสี้ยนย่อมซ้ำตำตีนจม
มีบ้างบางสิ่งสม    ควรห่างไว้ได้เป็นดี

ทำคุณบูชาโทษ   ก่อประโยชน์กลายกาลี
ความเขลาคนเรามี    ความหวังดีอาจเห็นร้าย

อยู่สูงให้นอนคว่ำ   หาก อยู่ต่ำให้นอนหงาย
ดุจข้าเข้าใจนาย             รู้ความหมายผู้ปกครอง

ใจเขาใส่ใจเรา   ผู้ใหญ่เข้า ใจลูกน้อง
อยู่สูงต้องคอยมอง   คอยจับจ้องคอยจุนเจือ

คนรักเท่าผืนหนัง   แต่ คนชังเท่าผืนเสื่อ
หมายใจเตือนให้เชื่อ         คนรักมักน้อยกว่าชัง

บ้างเผาบ้างเย้ายั่ว   บ้าง ตบหัวแล้วลูบหลัง
พลั้งพลาดฟาดไม่ยั้ง   เผลอปุบปับขอจับมือ

ชาติเสือต้องไว้ลาย    เกิดเป็นชายต้องไว้ชื่อ
เกียรติต้องประคองถือ    ไม่ระย่อต่ออธรรม

เสียชีพอย่าเสียสัตย์    ไม่ตระบัดไม่คืนคำ
พูดจริงทำจริงทำ    ทุกสิ่งย้ำคำคนจริง

เขียนเสือให้วัวกลัว      หวังเยาะยั่วให้เกรงกริ่ง
ขวัญผวาหวั่นว่าจริง    ขู่ด้วยเล่ห์คารมคม

ชักแม่น้ำทั้งห้า    เจรจาจนเห็นสม
หว่านล้อมกล่อมอารมณ์         เห็นคล้อยคิดติดตามฟัง

สี่เท้ายังรู้พลาด    แม้ นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง
หมื่นร้อยคอยระวัง    เหตุพลั้งพลาดยังอาจมี

ตักน้ำใส่กระโหลก    ชะโงกดูเงา ให้ดี
ซ่อนความหมายบ่งชี้         ให้รู้เจียมเนื้อเจียมตน

อย่าใฝ่สูงเกินศักดิ์   หมายสูงนักมักร่วงหล่น
สำนึกในศักดิ์ตน    ก่อนดิ้นรนคว้าฝันไกล

เลือกนักมักได้แร่    หลงว่าแท้กลับไม่ใช่
คิดมากอาจยากใจ         เพราะหวังได้ไม่รู้พอ

ฆ่าช้างหวังเอางา    ของสูงค่ากว่าเล่นล้อ
ทำลายได้ลงคอ      หมายสิ่งของรองศักดิ์ศรี

ขายผ้าเอาหน้ารอด    หวังแค่ปลอดพ้นไปที
ข้าวของบรรดามี    ยอมสูญสิ้นกลบกลิ่นฉาว

ฆ่าควายเสียดายพริก    อย่าจุกจิกทุกเรื่องราว
ทำการต้องหาญห้าว    ใช่เสียนิดคิดเสียดาย

ชักใบให้เรือเสีย    ชอบคุ้ยเขี่ยชอบยักย้าย
เรื่องคอขาดบาดตาย    พูดซุกซนจนไขว้เขว

ตาบอดสอดตาเห็น    อวดทำเป็นรู้ถมเถ
คุยเขื่องเรื่องทั้งเพ    แท้เหลวไหลไม่รู้จริง

ลูกไก่ในกำมือ    เขาจักถือหรือบีบทิ้ง
ย่อมได้ในทุกสิ่ง    สุดแต่จิตคิดเมตตา

น้ำมาปลากินมด    ยาม น้ำลดมดกินปลา
ทีเขาเราไม่ว่า    ถึงทีข้าอย่าโวยใคร

ไม้ซีกงัดไม้ซุง    ผู้น้อยมุ่งค้านผู้ใหญ่
เปล่าเปลืองแรงทำไป    เกิดพิษภัยก็แต่ตน
หลายซีกหลายแรงรวม    ร้อยใจร่วมด้วยเหตุผล
ซุงใหญ่จึงจำนน    พ่ายเพราะรักสามัคคี...

ร้อยกระบวนสำนวนไทย (๒)  กาพยานี ๑๑
ร้อยกระบวนสำนวนไทย (๓) ...
https://planetpt.blogspot.com/2009/09/blog-post_05.html

โพสต์แนะนำ

สาระนิทาน ชุด ไม้ไทยใจดี 🍽 เรื่อง "ข.ข้าว ขาว ขาว"

เขียวเอย...เขียวพรมผืนใหญ่ ใครมาถักทอไว้ แลไกลสุดตา  เจียวเอย... ตัวฉันนั่นไง  ใบ ข้าว เขียวเขียว ยืนต้นเดี่ยวเดี่ยว  ร...