-->

วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เพลงกล่อมเด็ก [s] ขวัญพ่อ


เพลงกล่อมเด็ก [s] ขวัญพ่อ

หลับเถิดนอน...ลูกนอนหลับฝัน
ฝันถึงวันคืนสุขแสนดี
ตราบพ้นวันผ่านเดือนและปี
พ่อนี้คอยอยู่เคียง...

ฝันถึงวันที่ดอกไม้บาน
กลิ่นหอมนานอวลผ่านไพรพง
ดั่งขวัญ..เจ้าเอย ยืนหยัดมั่นคง
ที่ตรงนั้นคือสุขสดใส...

หลับเถิดฝัน..ลูกนอนหลับฝัน
ฝันถึงวันเดินสู่เส้นชัย
หากแม้นมีขวากหนามกล้ำกราย
พ่อคุ้มภัยเจ้าเอง...
ขวัญเจ้าเอย...อย่าเลยลับลา
ฝากเจ้าพาเพลงจากดวงใจ...พ่อนี้
ขอพรมวลหมู่เทพไท
กอดเจ้าไว้...นอนเถิดคนดี
ลูกเหมือนดังแก้วตาขวัญใจ
พ่อคุ้มภัยเจ้าเอง..
พ่อคุ้มภัยเจ้าเอง...




 

วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

นิทานอนุบาล 🎐 เรื่อง "วันว่างของหนูหวาน"

นิทาน (๑) วันว่างของหนูหวาน
คุณพ่อ คุณแม่ไม่อยู่
วันนี้คุณหนู จะต้องอยู่บ้าน

เอ..หนูจะทำอะไรดี
เออคงเข้าที เล่นทำอาหาร

ตี๊ต่างว่าหนูเป็นกุ๊ก
มีหมีปุ๊กลุก คอยช่วยรับประทาน
นี่ไง ในครัวมีผัก
ทั้งถั่วทั้งฟัก มะเขือ แตงร้าน


ทีนี้ก็ต้องมีมีด
เอาไว้ใช้กรีด ใช้หั่น ใช้ฝาน

เล่มนี้เล็กดีสีสวย

แถมคมดีด้วย คงใช้ได้นาน


เอาละนะ.. ถึงเวลาหั่นแล้ว
ผักนอนเข้าแถว รอปรุงอาหาร
นี่เลย ถั่วฝักยาวก่อน
ตัดเป็นท่อนท่อน สนุกสนาน




ต่อไป แตงร้านกลมยาว
หั่นเป็นแว่นขาว เรียงไว้เต็มจาน
ตานี้ ก็มะเขือเปราะ
แหมกลมเหมาะเจาะ น่าฝาน น่าฝาน




โอ๊ยโย๋ อะไรกันนี่
อยู่อยู่นิ้วชี้ โดนมีดบาดผ่าน
เจ๊บ..เจ็บ เลือดไหลด้วยซี
จะทำไงดี ไม่มีใครอยู่บ้าน




รู้แล้ว ต้องใช้ผ้าพัน
ผ้าพันแผลนั่น อยู่ชั้นบนบ้าน
วิ่งตื๋อ ขึ้นบนบันได
หยิบผ้าพันไว้ พอหายเจ็บซ่าน




โอ๊ะโอ๋ ตามมาทำไม
ผ้าพันแผลม้วนใหญ่ ไล่ตามหนูหวาน
ไป..ไป๊ อย่าตามมานะ
เจ้าผ้าเกะกะ อย่ามาเพ่นพ่าน




ไชโย.. แม่มาพอดี
แม่จ๋าช่วยที หนูแสนรำคาญ
อุ๊ยตาย เป็นอะไรล่ะนี่
มีดบาดละซี โถ..น่าสงสาร


นิทาน (๑) วันว่างของหนูหวาน


หอมขวา หอมซ้าย จนหนูยิ้มหวาน

เข็ดแล้ว หนูจะไม่เป็นกุ๊ก
ไม่เห็นจะสนุก ตอนเลือดแดงฉาน

รู้แล้ว อยากเป็นอะไร
หนูบอกก็ได้ อยากเป็นพยาบาล...!!! 





วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

บทกวี >> กว่าเป็นคนเต็มคน




กว่าจะเป็นไม้ใหญ่ได้สักต้น
ต้องต่อสู้ดิ้นรนขนาดไหน
ต้องผ่านลม..ฝน..ฟ้ามาเท่าใด
ทั้งนกหนอน..ชอนไชกี่ภัยพาล

จึงเติบใหญ่ให้เห็นเป็นไม้หลัก
เป็นที่พักที่กินเป็นถิ่นฐาน
ให้ส่ำสัตว์ได้สิงสู่อยู่สุขสราญ
สืบตำนานผู้ให้แห่งไพรเย็น

กว่าเป็นคนเต็มคนสักคนหนึ่ง
กว่าเอื้อมถึงหลักชัยให้เขาเห็น
กว่าเปี่ยมศักดิ์บารมีอย่างที่เป็น
ต้องลำเค็ญแค่ไหนกว่าได้มา

ต้องบ่มเพาะประสบการณ์ทำงานหนัก
ต้องฟันฝ่าอุปสรรคอันหนักหนา
กี่หุบเหว กี่หนาวร้อน กี่อ่อนล้า
จึงสั่งสมบุญญาได้เท่านี้

แล้วไยเล่ายังไม่เข้าใจโลก
ว่าสุขโศกล้วนได้จากใจนี่
แม้อิ่มบุญวาสนามานานปี
ก็หลีกหนีไม่พ้นวงเวียนกรรม

ไยจึงต้องยึดติดนิมิตใหม่
ฝากหัวใจกับคนพาลสันดานต่ำ
ผู้ไร้ค่าแปดเปื้อนแต่เงื่อนงำ
สให้มืดดำในเบื้องท้ายปลายชีวิต

ไม่คิดถึงลูกหลานเลยบ้างหรือ
จึงดึงดื้อดันทุรังสร้างบาปผิด
ให้สายทรามตามตัวไปทั่วทิศ
ตามลิขิตประวัติศาสตร์จักวาดไว้

หยุดเสียเถิด วางเสียเถิด ไปเสียเถิด
ทางประเสริฐคงรู้อยู่หนไหน
เพื่อบุญของทวยราษฎร์ของชาติไทย
และเพื่อใจไม่ต้องตกนรกนาน...นาน.


วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เกร็ดภาษาไทย 🔖 ใช้ “การ” และ “ความ” ให้งามสม


วันก่อนอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง พบข้อความตอนหนึ่งว่า
“เพื่อความพัฒนาที่ยั่งยืนทางด้านพลังงานของประเทศ...”
รู้สึกสะดุดกึกขึ้นมาทันทีกับคำว่า “ความพัฒนา” เพราะถ้าเพียงแต่ใช้คำว่า
“การพัฒนา” แทนคำว่า “ความ” ก็น่าจะเหมาะสมและสละสลวยมากกว่า

จริงอยู่... แม้เรื่องนี้ไม่ถึงกับเรียกว่า “วิบัติแห่งภาษา” เมื่อเทียบกับคำที่
พบเจอหลาย ๆ คำ โดยเฉพาะภาษาที่ใช้กันบนเน็ต แต่คงจะเป็นการดี
ถ้าจะหาหลักยึดไว้สักนิด เพื่อใช้ “การ” ให้ได้ “ความ”
# ใช้ “การ” และ “ความ” ให้งามสม #


โดยทั่วไป คำที่นำมาใช้พ่วงกับ “การ” และ “ความ” นั้น มีได้ทั้ง
คำนาม คำคุณศัพท์ (ขยายนาม) คำกริยา และคำวิเศษณ์ (ขยายกริยา)
มีข้อสังเกตง่าย ๆ ดังนี้

๑. คำนามและอาการนาม มักประกอบเข้ากับ “การ” เป็นส่วนใหญ่
เช่น การบ้าน.. การเมือง.. การเรือน.. การเงิน.. การคลัง.. การครัว..
การกิน.. การนอน.. การเคลื่อนไหว.. การยิ้ม.. การมองเห็น.. การดำรงชีวิต..
การทักทาย.. การพัฒนา...ฯลฯ เป็นต้น

๒. คำกริยาเฉพาะ “มี” และ “เป็น” เมื่อประกอบกับคำนามหรือคำวิเศษณ์
ให้ใช้ “ความ”นำหน้าเสมอ เช่น ความเป็นเพื่อน... ความเป็นมนุษย์..
ความเป็นคนดี...ความมีสติ.. ความมีรสนิยม.. ความมีโชค...ฯลฯ
คำเหล่านี้ไม่นิยมใช้ “การ” นำหน้า

๓. คำกริยานอกจาก “มี” และ “เป็น” เมื่อประกอบเป็นคำนาม
อาจใช้ได้ทั้ง “การ” และ “ความ” หากมีหลักสังเกตพอเป็นข้อกำหนดได้ว่า...
ถ้ากริยาที่ใช้ มีลักษณะเป็นรูปธรรมหรือทางกายภาพ เช่น
ซื้อ.. ขาย.. จ่าย.. แจก.. เย็บ.. ปัก.. ถัก.. ร้อย.. ห้อย.. ร้อง..
ทักทาย.. ไต่ถาม..สอบสวน...ฯลฯ กริยาเหล่านี้ต้องใช้ “การ”
จะใช้ “ความ” ไม่ได้

แต่ถ้ากริยาที่ใช้ มีลักษณะเป็นนามธรรม หรือโน้มไปทางใจ
เช่น รัก..เศร้า.. เหงา..สลด..หดหู่..เบิกบาน.. หวานชื่น.. ขื่นขม..
ฟุ้งซ่าน..ท้อแท้.. ฯลฯ เหล่านี้ ต้องใช้ “ความ” นำหน้าเป็นหลักเท่านั้น

อาจมีบ้างบางคำที่ใช้ประกอบคำว่า “การ” ได้โดยอนุโลม แต่ก็ไม่เป็นที่นิยม
รู้อย่างนี้แล้ว หวังว่าคงจะพอจับหลักการใช้ “การ” ให้ได้ “ความ”
เพื่อการ “สื่อสาร” และ “สืบสาน” ภาษาไทยให้วิวัฒน์ต่อไปนาน ๆ นะจ๊ะ..

# ใช้ “การ” และ “ความ” ให้งามสม #
https://planetpt.blogspot.com/search/label/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%20%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99เกร็ดภาษาไทย/ภาษาไทย-ใช้ให้เป็น


วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เกร็ดภาษาไทย 🧨 สระเอ...ชอบเดินเซ


เสน่ห์และความงามของภาษาไทย  นอกจากความเป็นภาษาเสียง ที่มีท่วงทำนองการอ่านละม้ายคล้ายคลึงกับเสียงดนตรีแล้ว  ในแง่คำและความหมายของคำ   ยังมีความมหัศจรรย์ให้คนรักภาษาไทยและนักนิรุกติศาสตร์ได้ค้นหาอีกไม่รู้จบ  ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดประการหนึ่ง   คือคำที่เกิดจากการประสมกับสระเอ  ส่วนใหญ่มักแสดงความหมายว่า “ไม่ตรง” หรือไม่แน่นอน  ไม่เชื่อก็ลองสังเกตคำเหล่านี้ดูสิ...

(ฟัน) เก...(ตา) เข... เค้เก้...(เดิน) เฉ...(โซ) เซ...(เตร็ด) เตร่...(ลาด) เท...(หน้า) เบ้...(ขา) เป๋...โยเย...(ร่อน) เร่...เฉ (ไฉ)...เหย.(เก)....หัน (เห)....(ตา) เหล่...
               

เอ้า! ยกตัวอย่างให้ฟังก็ได้นะ อะไรบ้างล่ะ...

อย่างเช่นคำว่า โคลงเคลง โอนเอน โงนเงน หน้าเบ้ ตาเหล่ ตาเข เหยเก โยเย หันเห เค้เก้ โผเผ โซเซ  ขาเป๋ โมเม เกเร  

   

เห็นมะ... ไล่ไปเลย คำพวกนี้ ไม่มีคำไหนที่มีความหมายว่า "ตรง" ซักคำ

จะมีก็แค่คำเดียว….คำนั้นก็คือคำว่า...


เด่!  

ตรงแหน็ว  แน่นอน...


วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2552

บทกวี >> รำพึง (ถึงเพื่อน) ในป่าปูน


วันนี้เสกสวรรค์สวรรค์สม
ไยปรารมภ์ถึงวันพรุ่ง
ประคิ่นโลก ประคองรุ้ง
ชั่วกาละขณะนี้


แต่เบื้องดึกดำบรรพ์
ทุกเผ่าพันธุ์มิพ้นผี
ปุบปับก็ลับลี้
ดะด่าวดิ้นกับดินดล

อย่าค้อมยอมใคร 
แม้ใหญ่เกินคน


ยืดกายยอเกศ 
เรืองเดชโดยตน
โดยเหตุโดยผล 
เทียบทิฆัมพร...

หนึ่งหยดน้ำใจให้
เจือเมรัยละเมียดอ่อน
แบ่งปันเอื้ออาทร
ประสาซื่อระหว่างเรา


สวรรค์ชั้นไหนไหน
จะเปรียบได้สองเราเล่า
ดื่ม..ดื่ม ให้มึนเมา
แล้วอุ้มเอาความรักไว้.


วันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เกร็ดภาษาไทย: คำว่า "ละ...ล่ะ, นะ...น่า, คะ...ค่ะ"

ภาษาไทย ใช้ให้เป็น                                           

หยิบเรื่องนี้มาพูดเพราะรู้สึกหงุดหงิดหัวใจมาหลายเพลาเต็มทนเกี่ยวกับ

การใช้คำเหล่านี้ในภาษาเขียน ที่แม้แต่ราชบัณฑิตยสถานก็ไม่เคยให้
อรรถาธิบายอย่างเป็นเรื่องราวเสียที เลยต้องทนเห็นงานเขียนหลาย ๆ ชิ้น
ที่ต้องลดทอนคุณค่าของตัวเองลงอย่างน่าเสียดาย เพราะใช้คำเหล่านี้ผิด
โดยเฉพาะในงานแปลชั้นดีหลายต่อหลายเรื่อง วันนี้เลยขออาจหาญทำ
หน้าที่อธิบายให้ชัดเจนอีกสักครั้ง...

๑. ละ ... เป็นคำที่ใช้ในประโยคบอกเล่า กร่อนเสียงมาจากคำว่า "แหละ"
เช่น เท่านั้นละ (แหละ), เอาอย่างนี้ละ (แหละ), ดีแล้วละ (แหละ)เป็นต้น

ล่ะ ...ใช้ในรูปประโยคคำถาม กร่อนเสียงมาจากคำว่า "เล่า" เช่น จะ
ไปไหนล่ะ (เล่า), กินข้าวด้วยกันไหมล่ะ (เล่า), ทีนี้จะทำอย่างไรกันดีล่ะ
(เล่า) เป็นต้น

ข้อควรจำ: เคยเห็นคนใช้คำว่า "หละ" หรือร้ายกว่านั้น "หล่ะ"
นี่ไม่ใช่ภาษาไทย ภาษากระเหรี่ยงก็ไม่มี!!!

๒. นะ ... ประกอบคำเป็นเชิงอ้อนวอนหรือเสริมให้หนักแน่นขึ้น เช่น
รอก่อนนะ, อย่าไปนะ, รักนะฯลฯ

น่ะ ...คำนี้ไม่ปรากฏในพจนานุกรม เข้าใจว่าน่าจะกร่อนเสียงมาจากคำว่า
"น่า" ในความหมายอ้อนวอน เชื้อเชิญ หรือชักชวน เช่น ลองดูหน่อย
เถิดน่า, อย่าทำอย่างนี้เลยน่า...ฯลฯ

๓. คะ ... ใช้ต่อท้ายคำเชิญชวนหรือคำถามอย่างสุภาพคล้ายกับ "จ๊ะ"
เช่น เชิญเข้ามาก่อนซิคะ, ตัดสินใจหรือยังคะ, จะไปไหนจ๊ะ ...ฯลฯ

ค่ะ ...เป็นคำรับในความหมายเดียวกับ "จ้ะ" หรือใช้ในประโยคบอกเล่า
เช่น กลับก่อนละค่ะ, ดีแล้วละค่ะ, ดูดีแล้วจ้ะ ....ฯลฯ

ข้อควรจำ: กรุณาอย่าใช้ "รักนะค่ะ" แทนที่จะใช้ "รักนะคะ" หรือ
"รักค่ะ" นะจ๊ะ...


วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2552

บทกวี >> เพลงกล่อมหมาบ้า



เจ้าหมาบ้าเอย... เจ้าหวนกลับมา ว่าจะตีท้ายครัว
น้ำลายฟูมปาก อยากจะฟัดไปทั่ว
ไม่รู้สึกตัว ว่ากำลังคลั่งเอย..


    เจ้าหมาบ้ามาแว้ว...ว..ว เอ้า! รีบแจวรีบหนี
    ขืนชักช้ารอรี ปฐพีคงเปื้อนเลือด

    มันคงฟัดจมเขี้ยว ขย้ำเคี้ยวด้วยดาลเดือด
    หนังจะเถือเนื้อจะเชือด จนลาญเละแหลกเหลว

ใครขืนแหลมเข้ามา ไม่ว่าฟ้าว่าเหว
จะจนดีมีเลว กูกัดไม่เลือกทั้งนั้น

จะฟาดฟัดสะบัดใส่ ให้สาใจอัดอั้น
อุตส่าห์หลบอยู่หลายวัน กว่าได้บ้าสมอยาก

    กูบ้าตามกติกา อย่ามาว่ากูอ้าปาก
    ไม่ต้องถางต้องถาก ว่าปากเหม็นเกินเหตุ

    เหวย! รอช้าอยู่ไย เหล่าหมาไทยหมาเทศ
    หรืออยากลองฤทธิ์เดช เขี้ยวหมาบ้าบี้บด

ทั้งหัวซอยท้ายซอย ต้องตามรอยตามกฎ
ใครแข็งข้อทรยศ ระวังจะอดบำเหน็จ

ตราบยังกัดไม่พอ ตราบยังล่อไม่เสร็จ
ยังตามล้างตามเช็ด ไม่สะเด็ดไม่สะเด่า

    อย่าหวังเลยว่าจะจบ ยอมสยบเลยนะเจ้า
    อย่างน้อยก็หอนเห่า เมาน้ำลายซะให้เข็ด

    จะขอลุยให้สุดลิ่ม จะแทงทิ่มให้ดุเด็ด
    ไม่ว่ากรวดว่าเพชร ไม่เกี่ยงเหล่าเกี่ยงสี

ขอป่วนเมืองอีกครั้ง ให้ตาตั้งกันถ้วนถี่
ใครหมาบ้าหมาดี มาต่อตีเดี๋ยวก็รู้

กูมีพวกคอยเชียร์ ทั้งนักเลียนักขู่
ล้วนพร้อมยอมพันตู เป็นพันธุ์กูทั้งนั้น

    ทั้งเขี้ยวคมเขี้ยวคด เขี้ยวกบฎเขี้ยวสั้น
    ล้วนแต่เชี่ยวเชิงชั้น เรื่องปากมันสัประยุทธ์

    ต่อให้เยี่ยมเทียมฟ้า ต่อให้ห้าเสาผุด
    ไม่ว่าชายว่าตุ๊ด ก็ขอท้า..กูบ้าเว้ย..ย..ย...!!!

เจ้าหมาบ้าเอย.. เจ้าหวนกลับมา ว่าจะชี้สองสถาน
ทางหนึ่งทึ้งเทพ ทางหนึ่งถึงมาร
หงุดหงิดงุ่นง่าน รอกลับบ้านเก่าเอย...

วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2552

บทกวี >> อิทัปปัจจัยตา ๒๕๕๒



บทกวี >> อิทัปปัจจัยตา ๒๕๕๒

เพราะมีสิ่งนี้        จึงมีสิ่งนั้น
เพราะมีความฝัน    จึงมีความหวัง
เพราะมีความรัก    จึงหนักความชัง
เพราะยากเหนี่ยวรั้ง    จึงต้องติงเตือน

ชะลอใจให้หยุดนิ่ง
แล้วความจริงจะเปิดเผย
เวลาที่ผ่านเลย
จักอ้างเอ่ยถึงตัวตน

เรื่องราวบนโลกนี้
ล้วนย่อมมีเหตุและผล
มีค่าประสาคน
ผู้เกิดมาและตายไป

ความดึทึ่หลงทาง
จะสรรค์สร้างอะไรได้
ตีปลาที่หน้าไซ
แค่ฉาบไล้ด้วยลมลวง

สัจจะคือขจัด
สาปอสัตย์ที่หล่นร่วง
กล้าห้ามและถามทวง
ถึงธาตุแท้ทุกทางธรรม

เพียงอยู่นิ่งยังมิหนำ
ขอดค่อนด้วยคาวคำ
ให้ขลาดคว้าไม่กล้าชิง

เป็นกลางแล้ววางเฉย
เหมือนละเลยในบางสิ่ง
อิดออดและทอดทิ้ง
กลบความจริงอันโหดร้าย

แม้ใจจะใฝ่ธรรม
หากหนุนกรรมอันเสียหาย
ก็เงียบเหงาและเปล่าดาย
กวักเมฆร้ายมากลืนเมือง./




วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2552

หลักจำ 🌏 ชื่อเมืองหลวง – ประเทศทั่วโลก


โลกของเรา..ชื่อเมืองหลวง - ประเทศทั่วโลก

อังกฤษ – ลอนดอน / ลิสบอน – โปรตุเกส / ฝรั่งเศส – ปารีส / กรีซ – เอเธนส์ / สวีเดน – สต็อคโฮล์ม/ โรม – อิตาลี / นิวเดลฮี – อินเดีย / รัสเซีย – มอสโคว์ / ออสโล – นอรเวย์ / ไทเป – ไต้หวัน / เยอรมัน – เบอร์ลิน / ดับลิน – ไอร์แลนด์ / จอร์แดน – อัมมัน / เวียงจันทร์ – ลาว / นัสเซา- บาฮามาส์/ ออตตาวา – แคนาดา/
เมียนมาร์ – เนปิดอว์ / วอร์ซอ – โปแลนด์ / ฟินด์แลนด์ – เฮลซิงกิ / ฟิจิ – ซูวา / เคนยา – ไนโรบี / ตุรกี – อังการา / ฮาวานา – คิวบา / ลิมา – เปรู / โมกาดิสชู – โซมาเลียมาเลเซีย – กัวลาลัมเปอร์ / ไนเจอร์ – นิอาเม - เวเน (ซูเอลา)– คารากัส / อิสลามาบัด –ปากีสถาน / เนปาล – กัฐมันฑุ  /ซาอุ (ดิอารเบีย) – ริยาด / ลาปาซ – โบลิเวียโคลัมเบีย -โบโกตา /กัมพูชา – พนมเปญ /  บาห์เรน – มานามา / บอตสวานา – กาโบโรน / โซล – เกาหลี / ฮังการี – บูดาเปสต์ / บูคาเรสต์ – โรมาเนีย / อินโดนีเซีย–จากาตาร์ / อาร์เจนตินา - บิวโนสไอเรส /  
บังคลาเทศ – ดัคกา /  มอลโดวา – คีซิเนียฟ / เคียฟ – อูเครน / สเปน – มาดริด /  เคเรกิช – บิสเค็ก / เช็ก - ปราก / เดนมาร์ก – โคเปนเฮเกน / อิสราเอล – เทลอาวิฟ / อียิปต์ – ไคโร / โคลัมโบ – ศรีลังกา / แคนเบอรา –ออสเตรเลีย / ลิเบีย – ตริโปลี / เม็กซิโกซิตี – เม็กซิโก / โมรอคโค – ราบัต /  ฮอนดูรัส –เตกูซิกัลปา / มนิลา – ฟิลิปปินส์บราซิล– บราซิเลีย / บอสเนีย – ซาราเยโว /มอนเตวิเดโอ– อุรุกวัย / ปารากวัย – อะซูนซิโอน /  เซียราร๊โอน –ฟรีทาวนส์ / จอร์ชทาวน์ – กายอานา / อุสตานา - คาซัคสถาน / เตหะราน – อิหร่าน / ภูฐาน – ทิมพู /บากู – อาเซอร์ไบจัน /วอชิงตัน – สหรัฐอเมริกา / คอสตาริกา – ซานโฮเซ / ยาอุนเด – คาเมรูน / คาบูล – อาฟกานิสถาน / เวลลิงตัน – นิวซีแลนด์ / เนเธอร์แลนด์ – อัมสเตอร์ดัม / ดาเอสซาลาม – แทนซาเนีย / โครเอเชีย – ซาเกรฟ / กรุงเทพฯ –  ประเทศไทย / แอฟริกาใต้ – พริทอเรีย / ลิเบีย – ตริโปลี / ชิลี – ซานติอาโก /ปอร์โตโนโว – เบนิน / จีน – ปักกิ่ง / คิงสตัน – จาเมกา / ปานามา – ปานามา / โดฮา – กาตาร์ / ดาการ์ – เซเนกัลโอมาน– มัสกัต / วัลนิอัส –ลิทัวเนียบัลกาเรีย – โซเฟีย /  อัลบาเนีย – ติรานา / ริกา – ลัตเวีย / อาร์เมเนีย– เยเรวาน / ทาจิกิสถาน – ดูชานเบ / ฮาเรเร – ซิมบับเว / ลิลองเว –  มาลาวีบุรุนดี – บูจิมบุรา / ซานา – เยเมน / เบลเยียม – บรัสเซล /  เซเชลส์ – วิคตอเรีย / ตูนิเซีย – ตูนิส / เบลิซ – เบลโมแพน / ไอซ์แลนด์ – เรดยะวิก /  โมซัมบิก – มาปูโต /  สิงคโปร์ – สิงคโปร์ / โมนาโค –โมนาโค / ซานโตโดมิงโก– โดมินิกัน / อาร์เซอร์ไบจัน – บากู / มาเซรู – เลโซโท / กิโต – เอกวาดอร์ / อูลานบาตอร์ – มองโกเลีย / สโลวาเกีย – บราติสลาวา / อาบูจา – ไนจีเรีย / ซีเรีย – ดามัสกัส / วาดัซ –ลิคเตนสไตน์ / บรูไน – บันดาร์เสรีเบกาวัน / อึมบาบัน – สวาซิแลนด์สวิตเซอร์แลนด์ – เบิร์น .....ฯฯฯ





วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2552

บทกวี >> อสมานฉันท์ (๕)



เดินกันคนละที่                     ดีอยู่คนละทาง
เห็นเป็นคนละอย่าง              ต่างไปคนละมุม

รวมจึงกลายเป็นแบ่ง             แย้งกันทีละกลุ่ม
หนาวจึงร้าวระรุม                   สุมสะท้านในทรวง

ถูกกลับกลายเป็นผิด             คิดแล้วน่าเป็นห่วง
ดาวดับทีละดวง                    ร่วงหล่นฟ้าละลาน

ดินกลางดงคนดิบ                 หยิบเอาขึ้นมาหว่าน
สอดเป็นสร้อยสะพาน            สานต่อท่ออธรรม

เจ็บที่ไม่รู้จัก                         รักจึงโลดถลำ
มึนจนหัวคะมำ                      กรรมอีกแล้วละกู

หลุดจากอุ้งมือมาร                 พาลมาเจอตาอยู่
เห็นสมบัติศัตรู                      ดูอยากผลัดกันชม

เรือที่จ้องจะพาย                   กลายกำลังจะล่ม
ผลัดธนานิยม                       ชมอำมาตย์อาชญา

ปาก..ประชาเป็นใหญ่           ใจ...เห็นเป็นขี้ข้า
ที่ไม่ขัดศรัทธา                     ก็คว้าสนองกำนัล

เด็ดเอามาประดับ                 จับเป็นตัวประกัน
เห็นไหมเทพสวรรค์              ปั้นหน้าเรียงสลอน

คราบสุภาพบุรุษ                  หยุดเพราะเกลือเป็นหนอน
ขืนให้ตกตะกอน                  พรจะกลายเป็นพิษ

เด่นจะกลายเป็นด่าง            กร่างจะมาสวมสิทธิ์
สาปจะรุมทั่วทิศ                  ผิดจะมากันครบ

ปล่อยชงเองกินเอง              เกรงจะไม่สงบ
เมืองจะเรืองแนวรบ              หลบอย่างไรไม่พ้น

เพราะไม่หยุดที่อยาก           ลากกันมาแต่ต้น
ขุ่นจึงเคล้าระคน                 ปนกับแค้นคาเคือง

เครียดจะกลายเป็นคลั่ง       ทั้งเสื้อแดงเสื้อเหลือง
กังสดาลงานเมือง                เปลืองและเปล่าปลี้ไป./


วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2552

กวีวัจนะ: ร้อยกระบวนสำนวนไทย (๓) กาพย์ฉบัง

นกน้อยทำรังแต่พอตัว

นกน้อยทำรังแต่พอตัว เหมาะเจาะถ้วนทั่ว
เสาะสุขทุกครั้งประมาณตน

ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น หน่อเนื้อเชื้อผล
มิผิดเพี้ยนเผ่าพงศ์พันธุ์

หงิมหงิมหยิบชิ้นปลามัน งุบงิบเงียบงัน
คว้าสิ่งสำคัญก่อนใคร

ยืมจมูกคนอื่นหายใจ ขัดข้องเพียงไหน
ยากนักจักหาค่าคุณ
เปรียบคิดหวังพึ่งใบบุญ คนช่วยค้ำหนุน
บ่ห่อนสมหวังดังใจ

แมลงเม่าบินเข้ากองไฟ รังแต่มอดไหม้
เหลือหนทางตายสถานเดียว
เฉกชนไร้แล้งแรงเรี่ยว หาญฮึกขับเคี่ยว
กับอำนาจเหนือกว่าเหนือ

แกงจืดจึ่งรู้คุณเกลือ ยามมีเหลือเฟือ
บ่ห่อนรู้ค่าของใด
ถึงคราวสิพรากจากไป ฉุกคิดขึ้นได้
เสียดายคุณค่านับอนันต์

วัวใครเข้าคอกคนนั้น กรรมย่อมตามทัน
ผู้ก่อเฉกเช่นเงาตัว

เห็นกงจักรเป็นดอกบัว อับเฉาเมามัว
เกรอะบาปอาบชั่วนัวเนีย

ขายหน้าวันละห้าเบี้ย ระอาจิตคิดเพลีย
เรื่องราวฉาวฉู่มิรู้วาย

ปลูกเรือนผิดคิดจนเรือนทลาย พลั้งพลาดอาจสาย
รอบคอบคิดเห็นเป็นคุณ

พกหินดีกว่าพกนุ่น ใจย่อมค้ำจุน
ผู้เป็นเจ้าของครองคน

ใจหนักหนักด้วยเหตุผล ทุกถ้อยยินยล
ตริตรึกนึกข้อเคลือบแคลง

ใจเบาใครเขายุแยง เสกสรรค์ปั้นแต่ง
หลงเชื่อวิบัติซัดเซ

หนีเสือปะจระเข้ เรื่องร้ายจำเจ
หนีหนึ่งเจอะอื่นจัญไร

กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ กว่าคิดแก้ไข
เหตุร้ายก็สายเกินการณ์

ปัดสวะให้พ้นหน้าบ้าน ทุกเรื่องพบผ่าน
ทอดธุระแค่พ้นไปที

ไม่มีมูลฝอยหมาไม่ขี้ มีผลย่อมมี
เหตุให้สืบสาวที่มา

กินบนเรือนขี้บนหลังคา เขาให้พึ่งพา
กลับคิดข้างเนรคุณพลัน

แย้มปากก็เห็นไรฟัน รู้เท่าทันกัน
ทุกถ้อยทุกท่าทีทำ

สอนจระเข้ให้ว่ายน้ำ สั่งสอนสิ่งซ้ำ
ตระหนักรู้ล้วนชวนหัว

ตัดช่องน้อยแต่พอตัว เพื่อนพ้องพันพัว
เล็ดลอดแต่เพียงลำพัง

เลือกที่รักมักที่ชัง กิเลสบดบัง
ลำเอียงทุกครั้งฟังความ

ช้าช้าได้พร้าเล่มงาม ขบคิดตรองตาม
ประจงจิตจ่อก่อสาน

สรรพสิ่งเขื่องโขโอฬาร แท้คือตำนาน
กำเนิดแห่งภัสมธุลี

ผ่านพลังสร้างสรรค์บรรดามี ผ่านวันเดือนปี
สุดท้ายจึงเห็นดั่งเห็น....


ร้อยกระบวนสำนวนไทย (๓) ฉบัง ๑๖
ร้อยกระบวนสำนวนไทย (๔)


โพสต์แนะนำ

สาระนิทาน ชุด ไม้ไทยใจดี 🍽 เรื่อง "ข.ข้าว ขาว ขาว"

เขียวเอย...เขียวพรมผืนใหญ่ ใครมาถักทอไว้ แลไกลสุดตา  เจียวเอย... ตัวฉันนั่นไง  ใบ ข้าว เขียวเขียว ยืนต้นเดี่ยวเดี่ยว  ร...