-->

วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เกร็ดภาษาไทย 🔖 ใช้ “การ” และ “ความ” ให้งามสม


วันก่อนอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง พบข้อความตอนหนึ่งว่า
“เพื่อความพัฒนาที่ยั่งยืนทางด้านพลังงานของประเทศ...”
รู้สึกสะดุดกึกขึ้นมาทันทีกับคำว่า “ความพัฒนา” เพราะถ้าเพียงแต่ใช้คำว่า
“การพัฒนา” แทนคำว่า “ความ” ก็น่าจะเหมาะสมและสละสลวยมากกว่า

จริงอยู่... แม้เรื่องนี้ไม่ถึงกับเรียกว่า “วิบัติแห่งภาษา” เมื่อเทียบกับคำที่
พบเจอหลาย ๆ คำ โดยเฉพาะภาษาที่ใช้กันบนเน็ต แต่คงจะเป็นการดี
ถ้าจะหาหลักยึดไว้สักนิด เพื่อใช้ “การ” ให้ได้ “ความ”
# ใช้ “การ” และ “ความ” ให้งามสม #


โดยทั่วไป คำที่นำมาใช้พ่วงกับ “การ” และ “ความ” นั้น มีได้ทั้ง
คำนาม คำคุณศัพท์ (ขยายนาม) คำกริยา และคำวิเศษณ์ (ขยายกริยา)
มีข้อสังเกตง่าย ๆ ดังนี้

๑. คำนามและอาการนาม มักประกอบเข้ากับ “การ” เป็นส่วนใหญ่
เช่น การบ้าน.. การเมือง.. การเรือน.. การเงิน.. การคลัง.. การครัว..
การกิน.. การนอน.. การเคลื่อนไหว.. การยิ้ม.. การมองเห็น.. การดำรงชีวิต..
การทักทาย.. การพัฒนา...ฯลฯ เป็นต้น

๒. คำกริยาเฉพาะ “มี” และ “เป็น” เมื่อประกอบกับคำนามหรือคำวิเศษณ์
ให้ใช้ “ความ”นำหน้าเสมอ เช่น ความเป็นเพื่อน... ความเป็นมนุษย์..
ความเป็นคนดี...ความมีสติ.. ความมีรสนิยม.. ความมีโชค...ฯลฯ
คำเหล่านี้ไม่นิยมใช้ “การ” นำหน้า

๓. คำกริยานอกจาก “มี” และ “เป็น” เมื่อประกอบเป็นคำนาม
อาจใช้ได้ทั้ง “การ” และ “ความ” หากมีหลักสังเกตพอเป็นข้อกำหนดได้ว่า...
ถ้ากริยาที่ใช้ มีลักษณะเป็นรูปธรรมหรือทางกายภาพ เช่น
ซื้อ.. ขาย.. จ่าย.. แจก.. เย็บ.. ปัก.. ถัก.. ร้อย.. ห้อย.. ร้อง..
ทักทาย.. ไต่ถาม..สอบสวน...ฯลฯ กริยาเหล่านี้ต้องใช้ “การ”
จะใช้ “ความ” ไม่ได้

แต่ถ้ากริยาที่ใช้ มีลักษณะเป็นนามธรรม หรือโน้มไปทางใจ
เช่น รัก..เศร้า.. เหงา..สลด..หดหู่..เบิกบาน.. หวานชื่น.. ขื่นขม..
ฟุ้งซ่าน..ท้อแท้.. ฯลฯ เหล่านี้ ต้องใช้ “ความ” นำหน้าเป็นหลักเท่านั้น

อาจมีบ้างบางคำที่ใช้ประกอบคำว่า “การ” ได้โดยอนุโลม แต่ก็ไม่เป็นที่นิยม
รู้อย่างนี้แล้ว หวังว่าคงจะพอจับหลักการใช้ “การ” ให้ได้ “ความ”
เพื่อการ “สื่อสาร” และ “สืบสาน” ภาษาไทยให้วิวัฒน์ต่อไปนาน ๆ นะจ๊ะ..

# ใช้ “การ” และ “ความ” ให้งามสม #
https://planetpt.blogspot.com/search/label/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%20%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99เกร็ดภาษาไทย/ภาษาไทย-ใช้ให้เป็น


วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เกร็ดภาษาไทย 🧨 สระเอ...ชอบเดินเซ


เสน่ห์และความงามของภาษาไทย  นอกจากความเป็นภาษาเสียง ที่มีท่วงทำนองการอ่านละม้ายคล้ายคลึงกับเสียงดนตรีแล้ว  ในแง่คำและความหมายของคำ   ยังมีความมหัศจรรย์ให้คนรักภาษาไทยและนักนิรุกติศาสตร์ได้ค้นหาอีกไม่รู้จบ  ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดประการหนึ่ง   คือคำที่เกิดจากการประสมกับสระเอ  ส่วนใหญ่มักแสดงความหมายว่า “ไม่ตรง” หรือไม่แน่นอน  ไม่เชื่อก็ลองสังเกตคำเหล่านี้ดูสิ...

(ฟัน) เก...(ตา) เข... เค้เก้...(เดิน) เฉ...(โซ) เซ...(เตร็ด) เตร่...(ลาด) เท...(หน้า) เบ้...(ขา) เป๋...โยเย...(ร่อน) เร่...เฉ (ไฉ)...เหย.(เก)....หัน (เห)....(ตา) เหล่...
               

เอ้า! ยกตัวอย่างให้ฟังก็ได้นะ อะไรบ้างล่ะ...

อย่างเช่นคำว่า โคลงเคลง โอนเอน โงนเงน หน้าเบ้ ตาเหล่ ตาเข เหยเก โยเย หันเห เค้เก้ โผเผ โซเซ  ขาเป๋ โมเม เกเร  

   

เห็นมะ... ไล่ไปเลย คำพวกนี้ ไม่มีคำไหนที่มีความหมายว่า "ตรง" ซักคำ

จะมีก็แค่คำเดียว….คำนั้นก็คือคำว่า...


เด่!  

ตรงแหน็ว  แน่นอน...


วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2552

บทกวี >> รำพึง (ถึงเพื่อน) ในป่าปูน


วันนี้เสกสวรรค์สวรรค์สม
ไยปรารมภ์ถึงวันพรุ่ง
ประคิ่นโลก ประคองรุ้ง
ชั่วกาละขณะนี้


แต่เบื้องดึกดำบรรพ์
ทุกเผ่าพันธุ์มิพ้นผี
ปุบปับก็ลับลี้
ดะด่าวดิ้นกับดินดล

อย่าค้อมยอมใคร 
แม้ใหญ่เกินคน


ยืดกายยอเกศ 
เรืองเดชโดยตน
โดยเหตุโดยผล 
เทียบทิฆัมพร...

หนึ่งหยดน้ำใจให้
เจือเมรัยละเมียดอ่อน
แบ่งปันเอื้ออาทร
ประสาซื่อระหว่างเรา


สวรรค์ชั้นไหนไหน
จะเปรียบได้สองเราเล่า
ดื่ม..ดื่ม ให้มึนเมา
แล้วอุ้มเอาความรักไว้.


วันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เกร็ดภาษาไทย: คำว่า "ละ...ล่ะ, นะ...น่า, คะ...ค่ะ"

ภาษาไทย ใช้ให้เป็น                                           

หยิบเรื่องนี้มาพูดเพราะรู้สึกหงุดหงิดหัวใจมาหลายเพลาเต็มทนเกี่ยวกับ

การใช้คำเหล่านี้ในภาษาเขียน ที่แม้แต่ราชบัณฑิตยสถานก็ไม่เคยให้
อรรถาธิบายอย่างเป็นเรื่องราวเสียที เลยต้องทนเห็นงานเขียนหลาย ๆ ชิ้น
ที่ต้องลดทอนคุณค่าของตัวเองลงอย่างน่าเสียดาย เพราะใช้คำเหล่านี้ผิด
โดยเฉพาะในงานแปลชั้นดีหลายต่อหลายเรื่อง วันนี้เลยขออาจหาญทำ
หน้าที่อธิบายให้ชัดเจนอีกสักครั้ง...

๑. ละ ... เป็นคำที่ใช้ในประโยคบอกเล่า กร่อนเสียงมาจากคำว่า "แหละ"
เช่น เท่านั้นละ (แหละ), เอาอย่างนี้ละ (แหละ), ดีแล้วละ (แหละ)เป็นต้น

ล่ะ ...ใช้ในรูปประโยคคำถาม กร่อนเสียงมาจากคำว่า "เล่า" เช่น จะ
ไปไหนล่ะ (เล่า), กินข้าวด้วยกันไหมล่ะ (เล่า), ทีนี้จะทำอย่างไรกันดีล่ะ
(เล่า) เป็นต้น

ข้อควรจำ: เคยเห็นคนใช้คำว่า "หละ" หรือร้ายกว่านั้น "หล่ะ"
นี่ไม่ใช่ภาษาไทย ภาษากระเหรี่ยงก็ไม่มี!!!

๒. นะ ... ประกอบคำเป็นเชิงอ้อนวอนหรือเสริมให้หนักแน่นขึ้น เช่น
รอก่อนนะ, อย่าไปนะ, รักนะฯลฯ

น่ะ ...คำนี้ไม่ปรากฏในพจนานุกรม เข้าใจว่าน่าจะกร่อนเสียงมาจากคำว่า
"น่า" ในความหมายอ้อนวอน เชื้อเชิญ หรือชักชวน เช่น ลองดูหน่อย
เถิดน่า, อย่าทำอย่างนี้เลยน่า...ฯลฯ

๓. คะ ... ใช้ต่อท้ายคำเชิญชวนหรือคำถามอย่างสุภาพคล้ายกับ "จ๊ะ"
เช่น เชิญเข้ามาก่อนซิคะ, ตัดสินใจหรือยังคะ, จะไปไหนจ๊ะ ...ฯลฯ

ค่ะ ...เป็นคำรับในความหมายเดียวกับ "จ้ะ" หรือใช้ในประโยคบอกเล่า
เช่น กลับก่อนละค่ะ, ดีแล้วละค่ะ, ดูดีแล้วจ้ะ ....ฯลฯ

ข้อควรจำ: กรุณาอย่าใช้ "รักนะค่ะ" แทนที่จะใช้ "รักนะคะ" หรือ
"รักค่ะ" นะจ๊ะ...


วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2552

บทกวี >> เพลงกล่อมหมาบ้า



เจ้าหมาบ้าเอย... เจ้าหวนกลับมา ว่าจะตีท้ายครัว
น้ำลายฟูมปาก อยากจะฟัดไปทั่ว
ไม่รู้สึกตัว ว่ากำลังคลั่งเอย..


    เจ้าหมาบ้ามาแว้ว...ว..ว เอ้า! รีบแจวรีบหนี
    ขืนชักช้ารอรี ปฐพีคงเปื้อนเลือด

    มันคงฟัดจมเขี้ยว ขย้ำเคี้ยวด้วยดาลเดือด
    หนังจะเถือเนื้อจะเชือด จนลาญเละแหลกเหลว

ใครขืนแหลมเข้ามา ไม่ว่าฟ้าว่าเหว
จะจนดีมีเลว กูกัดไม่เลือกทั้งนั้น

จะฟาดฟัดสะบัดใส่ ให้สาใจอัดอั้น
อุตส่าห์หลบอยู่หลายวัน กว่าได้บ้าสมอยาก

    กูบ้าตามกติกา อย่ามาว่ากูอ้าปาก
    ไม่ต้องถางต้องถาก ว่าปากเหม็นเกินเหตุ

    เหวย! รอช้าอยู่ไย เหล่าหมาไทยหมาเทศ
    หรืออยากลองฤทธิ์เดช เขี้ยวหมาบ้าบี้บด

ทั้งหัวซอยท้ายซอย ต้องตามรอยตามกฎ
ใครแข็งข้อทรยศ ระวังจะอดบำเหน็จ

ตราบยังกัดไม่พอ ตราบยังล่อไม่เสร็จ
ยังตามล้างตามเช็ด ไม่สะเด็ดไม่สะเด่า

    อย่าหวังเลยว่าจะจบ ยอมสยบเลยนะเจ้า
    อย่างน้อยก็หอนเห่า เมาน้ำลายซะให้เข็ด

    จะขอลุยให้สุดลิ่ม จะแทงทิ่มให้ดุเด็ด
    ไม่ว่ากรวดว่าเพชร ไม่เกี่ยงเหล่าเกี่ยงสี

ขอป่วนเมืองอีกครั้ง ให้ตาตั้งกันถ้วนถี่
ใครหมาบ้าหมาดี มาต่อตีเดี๋ยวก็รู้

กูมีพวกคอยเชียร์ ทั้งนักเลียนักขู่
ล้วนพร้อมยอมพันตู เป็นพันธุ์กูทั้งนั้น

    ทั้งเขี้ยวคมเขี้ยวคด เขี้ยวกบฎเขี้ยวสั้น
    ล้วนแต่เชี่ยวเชิงชั้น เรื่องปากมันสัประยุทธ์

    ต่อให้เยี่ยมเทียมฟ้า ต่อให้ห้าเสาผุด
    ไม่ว่าชายว่าตุ๊ด ก็ขอท้า..กูบ้าเว้ย..ย..ย...!!!

เจ้าหมาบ้าเอย.. เจ้าหวนกลับมา ว่าจะชี้สองสถาน
ทางหนึ่งทึ้งเทพ ทางหนึ่งถึงมาร
หงุดหงิดงุ่นง่าน รอกลับบ้านเก่าเอย...

วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2552

บทกวี >> อิทัปปัจจัยตา ๒๕๕๒



บทกวี >> อิทัปปัจจัยตา ๒๕๕๒

เพราะมีสิ่งนี้        จึงมีสิ่งนั้น
เพราะมีความฝัน    จึงมีความหวัง
เพราะมีความรัก    จึงหนักความชัง
เพราะยากเหนี่ยวรั้ง    จึงต้องติงเตือน

ชะลอใจให้หยุดนิ่ง
แล้วความจริงจะเปิดเผย
เวลาที่ผ่านเลย
จักอ้างเอ่ยถึงตัวตน

เรื่องราวบนโลกนี้
ล้วนย่อมมีเหตุและผล
มีค่าประสาคน
ผู้เกิดมาและตายไป

ความดึทึ่หลงทาง
จะสรรค์สร้างอะไรได้
ตีปลาที่หน้าไซ
แค่ฉาบไล้ด้วยลมลวง

สัจจะคือขจัด
สาปอสัตย์ที่หล่นร่วง
กล้าห้ามและถามทวง
ถึงธาตุแท้ทุกทางธรรม

เพียงอยู่นิ่งยังมิหนำ
ขอดค่อนด้วยคาวคำ
ให้ขลาดคว้าไม่กล้าชิง

เป็นกลางแล้ววางเฉย
เหมือนละเลยในบางสิ่ง
อิดออดและทอดทิ้ง
กลบความจริงอันโหดร้าย

แม้ใจจะใฝ่ธรรม
หากหนุนกรรมอันเสียหาย
ก็เงียบเหงาและเปล่าดาย
กวักเมฆร้ายมากลืนเมือง./




วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2552

หลักจำ 🌏 ชื่อเมืองหลวง – ประเทศทั่วโลก


โลกของเรา..ชื่อเมืองหลวง - ประเทศทั่วโลก

อังกฤษ – ลอนดอน / ลิสบอน – โปรตุเกส / ฝรั่งเศส – ปารีส / กรีซ – เอเธนส์ / สวีเดน – สต็อคโฮล์ม/ โรม – อิตาลี / นิวเดลฮี – อินเดีย / รัสเซีย – มอสโคว์ / ออสโล – นอรเวย์ / ไทเป – ไต้หวัน / เยอรมัน – เบอร์ลิน / ดับลิน – ไอร์แลนด์ / จอร์แดน – อัมมัน / เวียงจันทร์ – ลาว / นัสเซา- บาฮามาส์/ ออตตาวา – แคนาดา/
เมียนมาร์ – เนปิดอว์ / วอร์ซอ – โปแลนด์ / ฟินด์แลนด์ – เฮลซิงกิ / ฟิจิ – ซูวา / เคนยา – ไนโรบี / ตุรกี – อังการา / ฮาวานา – คิวบา / ลิมา – เปรู / โมกาดิสชู – โซมาเลียมาเลเซีย – กัวลาลัมเปอร์ / ไนเจอร์ – นิอาเม - เวเน (ซูเอลา)– คารากัส / อิสลามาบัด –ปากีสถาน / เนปาล – กัฐมันฑุ  /ซาอุ (ดิอารเบีย) – ริยาด / ลาปาซ – โบลิเวียโคลัมเบีย -โบโกตา /กัมพูชา – พนมเปญ /  บาห์เรน – มานามา / บอตสวานา – กาโบโรน / โซล – เกาหลี / ฮังการี – บูดาเปสต์ / บูคาเรสต์ – โรมาเนีย / อินโดนีเซีย–จากาตาร์ / อาร์เจนตินา - บิวโนสไอเรส /  
บังคลาเทศ – ดัคกา /  มอลโดวา – คีซิเนียฟ / เคียฟ – อูเครน / สเปน – มาดริด /  เคเรกิช – บิสเค็ก / เช็ก - ปราก / เดนมาร์ก – โคเปนเฮเกน / อิสราเอล – เทลอาวิฟ / อียิปต์ – ไคโร / โคลัมโบ – ศรีลังกา / แคนเบอรา –ออสเตรเลีย / ลิเบีย – ตริโปลี / เม็กซิโกซิตี – เม็กซิโก / โมรอคโค – ราบัต /  ฮอนดูรัส –เตกูซิกัลปา / มนิลา – ฟิลิปปินส์บราซิล– บราซิเลีย / บอสเนีย – ซาราเยโว /มอนเตวิเดโอ– อุรุกวัย / ปารากวัย – อะซูนซิโอน /  เซียราร๊โอน –ฟรีทาวนส์ / จอร์ชทาวน์ – กายอานา / อุสตานา - คาซัคสถาน / เตหะราน – อิหร่าน / ภูฐาน – ทิมพู /บากู – อาเซอร์ไบจัน /วอชิงตัน – สหรัฐอเมริกา / คอสตาริกา – ซานโฮเซ / ยาอุนเด – คาเมรูน / คาบูล – อาฟกานิสถาน / เวลลิงตัน – นิวซีแลนด์ / เนเธอร์แลนด์ – อัมสเตอร์ดัม / ดาเอสซาลาม – แทนซาเนีย / โครเอเชีย – ซาเกรฟ / กรุงเทพฯ –  ประเทศไทย / แอฟริกาใต้ – พริทอเรีย / ลิเบีย – ตริโปลี / ชิลี – ซานติอาโก /ปอร์โตโนโว – เบนิน / จีน – ปักกิ่ง / คิงสตัน – จาเมกา / ปานามา – ปานามา / โดฮา – กาตาร์ / ดาการ์ – เซเนกัลโอมาน– มัสกัต / วัลนิอัส –ลิทัวเนียบัลกาเรีย – โซเฟีย /  อัลบาเนีย – ติรานา / ริกา – ลัตเวีย / อาร์เมเนีย– เยเรวาน / ทาจิกิสถาน – ดูชานเบ / ฮาเรเร – ซิมบับเว / ลิลองเว –  มาลาวีบุรุนดี – บูจิมบุรา / ซานา – เยเมน / เบลเยียม – บรัสเซล /  เซเชลส์ – วิคตอเรีย / ตูนิเซีย – ตูนิส / เบลิซ – เบลโมแพน / ไอซ์แลนด์ – เรดยะวิก /  โมซัมบิก – มาปูโต /  สิงคโปร์ – สิงคโปร์ / โมนาโค –โมนาโค / ซานโตโดมิงโก– โดมินิกัน / อาร์เซอร์ไบจัน – บากู / มาเซรู – เลโซโท / กิโต – เอกวาดอร์ / อูลานบาตอร์ – มองโกเลีย / สโลวาเกีย – บราติสลาวา / อาบูจา – ไนจีเรีย / ซีเรีย – ดามัสกัส / วาดัซ –ลิคเตนสไตน์ / บรูไน – บันดาร์เสรีเบกาวัน / อึมบาบัน – สวาซิแลนด์สวิตเซอร์แลนด์ – เบิร์น .....ฯฯฯ





วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2552

บทกวี >> อสมานฉันท์ (๕)



เดินกันคนละที่                     ดีอยู่คนละทาง
เห็นเป็นคนละอย่าง              ต่างไปคนละมุม

รวมจึงกลายเป็นแบ่ง             แย้งกันทีละกลุ่ม
หนาวจึงร้าวระรุม                   สุมสะท้านในทรวง

ถูกกลับกลายเป็นผิด             คิดแล้วน่าเป็นห่วง
ดาวดับทีละดวง                    ร่วงหล่นฟ้าละลาน

ดินกลางดงคนดิบ                 หยิบเอาขึ้นมาหว่าน
สอดเป็นสร้อยสะพาน            สานต่อท่ออธรรม

เจ็บที่ไม่รู้จัก                         รักจึงโลดถลำ
มึนจนหัวคะมำ                      กรรมอีกแล้วละกู

หลุดจากอุ้งมือมาร                 พาลมาเจอตาอยู่
เห็นสมบัติศัตรู                      ดูอยากผลัดกันชม

เรือที่จ้องจะพาย                   กลายกำลังจะล่ม
ผลัดธนานิยม                       ชมอำมาตย์อาชญา

ปาก..ประชาเป็นใหญ่           ใจ...เห็นเป็นขี้ข้า
ที่ไม่ขัดศรัทธา                     ก็คว้าสนองกำนัล

เด็ดเอามาประดับ                 จับเป็นตัวประกัน
เห็นไหมเทพสวรรค์              ปั้นหน้าเรียงสลอน

คราบสุภาพบุรุษ                  หยุดเพราะเกลือเป็นหนอน
ขืนให้ตกตะกอน                  พรจะกลายเป็นพิษ

เด่นจะกลายเป็นด่าง            กร่างจะมาสวมสิทธิ์
สาปจะรุมทั่วทิศ                  ผิดจะมากันครบ

ปล่อยชงเองกินเอง              เกรงจะไม่สงบ
เมืองจะเรืองแนวรบ              หลบอย่างไรไม่พ้น

เพราะไม่หยุดที่อยาก           ลากกันมาแต่ต้น
ขุ่นจึงเคล้าระคน                 ปนกับแค้นคาเคือง

เครียดจะกลายเป็นคลั่ง       ทั้งเสื้อแดงเสื้อเหลือง
กังสดาลงานเมือง                เปลืองและเปล่าปลี้ไป./


วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2552

กวีวัจนะ: ร้อยกระบวนสำนวนไทย (๓) กาพย์ฉบัง

นกน้อยทำรังแต่พอตัว

นกน้อยทำรังแต่พอตัว เหมาะเจาะถ้วนทั่ว
เสาะสุขทุกครั้งประมาณตน

ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น หน่อเนื้อเชื้อผล
มิผิดเพี้ยนเผ่าพงศ์พันธุ์

หงิมหงิมหยิบชิ้นปลามัน งุบงิบเงียบงัน
คว้าสิ่งสำคัญก่อนใคร

ยืมจมูกคนอื่นหายใจ ขัดข้องเพียงไหน
ยากนักจักหาค่าคุณ
เปรียบคิดหวังพึ่งใบบุญ คนช่วยค้ำหนุน
บ่ห่อนสมหวังดังใจ

แมลงเม่าบินเข้ากองไฟ รังแต่มอดไหม้
เหลือหนทางตายสถานเดียว
เฉกชนไร้แล้งแรงเรี่ยว หาญฮึกขับเคี่ยว
กับอำนาจเหนือกว่าเหนือ

แกงจืดจึ่งรู้คุณเกลือ ยามมีเหลือเฟือ
บ่ห่อนรู้ค่าของใด
ถึงคราวสิพรากจากไป ฉุกคิดขึ้นได้
เสียดายคุณค่านับอนันต์

วัวใครเข้าคอกคนนั้น กรรมย่อมตามทัน
ผู้ก่อเฉกเช่นเงาตัว

เห็นกงจักรเป็นดอกบัว อับเฉาเมามัว
เกรอะบาปอาบชั่วนัวเนีย

ขายหน้าวันละห้าเบี้ย ระอาจิตคิดเพลีย
เรื่องราวฉาวฉู่มิรู้วาย

ปลูกเรือนผิดคิดจนเรือนทลาย พลั้งพลาดอาจสาย
รอบคอบคิดเห็นเป็นคุณ

พกหินดีกว่าพกนุ่น ใจย่อมค้ำจุน
ผู้เป็นเจ้าของครองคน

ใจหนักหนักด้วยเหตุผล ทุกถ้อยยินยล
ตริตรึกนึกข้อเคลือบแคลง

ใจเบาใครเขายุแยง เสกสรรค์ปั้นแต่ง
หลงเชื่อวิบัติซัดเซ

หนีเสือปะจระเข้ เรื่องร้ายจำเจ
หนีหนึ่งเจอะอื่นจัญไร

กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ กว่าคิดแก้ไข
เหตุร้ายก็สายเกินการณ์

ปัดสวะให้พ้นหน้าบ้าน ทุกเรื่องพบผ่าน
ทอดธุระแค่พ้นไปที

ไม่มีมูลฝอยหมาไม่ขี้ มีผลย่อมมี
เหตุให้สืบสาวที่มา

กินบนเรือนขี้บนหลังคา เขาให้พึ่งพา
กลับคิดข้างเนรคุณพลัน

แย้มปากก็เห็นไรฟัน รู้เท่าทันกัน
ทุกถ้อยทุกท่าทีทำ

สอนจระเข้ให้ว่ายน้ำ สั่งสอนสิ่งซ้ำ
ตระหนักรู้ล้วนชวนหัว

ตัดช่องน้อยแต่พอตัว เพื่อนพ้องพันพัว
เล็ดลอดแต่เพียงลำพัง

เลือกที่รักมักที่ชัง กิเลสบดบัง
ลำเอียงทุกครั้งฟังความ

ช้าช้าได้พร้าเล่มงาม ขบคิดตรองตาม
ประจงจิตจ่อก่อสาน

สรรพสิ่งเขื่องโขโอฬาร แท้คือตำนาน
กำเนิดแห่งภัสมธุลี

ผ่านพลังสร้างสรรค์บรรดามี ผ่านวันเดือนปี
สุดท้ายจึงเห็นดั่งเห็น....


ร้อยกระบวนสำนวนไทย (๓) ฉบัง ๑๖
ร้อยกระบวนสำนวนไทย (๔)


วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2552

กวีวัจนะ: ร้อยกระบวนสำนวนไทย (๒) กาพย์ยานี

ร้อยกระบวนสำนวนไทย (๒) กาพย์ยานี ๑๑

กาพย์ยานี ๑๑

มีทองเท่าหนวดกุ้ง    นอนสะดุ้งจนเรือนไหว
เปรียบเปรยคนยากไร้    วุ่นวายใจในสินทรัพย์

สาวไส้ให้กากิน    ฉาวโฉ่สิ้นยามสดับ
เรื่องราวในเรือนลับ    ควรหรือเอาไปป่าวร้อง

พูดไปสองไพเบี้ย    นิ่งนิ่งเสียตำลึงทอง
ขานไขควรไตร่ตรอง    ใดควรพูดใดควรงำ

ปัญญาแค่หางอึ่ง    หมายถึงคนปัญญาต่ำ
ผักต้มขนมยำ    ปนเปไปไม่รู้พอ

เข้าเถื่อนอย่าลืมพร้า    ทุกแนวป่ามีภัยรอ
ประมาทอาจทุกข์ท้อ         ทุกข์การณ์ก่อต้องใคร่ครวญ

ฝนตกอย่าเชื่อดาว    ราวฟ้ากว้างกว่าเมฆกวน
เรื่องราวทั้งหลายล้วน    อย่าไว้ใจจนหมดใจ

ดีดลูกคิดรางแก้ว    ด่วนได้แล้วมักไม่ได้
ภาษิตติดเตือนใจ    อย่าหวังได้แต่ถ่ายเดียว

ดักลอบให้หมั่นกู้    ดักเจ้าชู้ให้หมั่นเกี้ยว
บอกบทอย่าลดเลี้ยว    ทุกงานทำต้องใส่ใจ

เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน    สอดประสานงานให้ได้
ใหญ่น้อยร้อยเรียงไป    จวบชี้เห็นเป็นรูปทรง

เงื้อง่าราคาแพง    เขาจักแย่งสิ่งประสงค์
หมายใจสิ่งใดจง    โหมเข้าหักอย่าชักช้า
 

ผิดถูกดีหรือร้าย    ค่อย ไปตายเอาดาบหน้า
ต่อตีตามวาสนา    กรรมบัญชาให้ได้พบ

ตกกระไดพลอยโจน    เหตุยื่นโยนยากหลีกหลบ
ชี้เห็นประเด็นครบ    โลดถลำจำเอออวย

ลูกขุนพลอยพยัก    เจ้าว่ารักข้ารักด้วย
บอดใบ้ไม่เขินขวย    ประจบจ้อสอพลอนาย

น้ำกลิ้งบนใบบอน    เปรียบกระล่อนอวดลวดลาย
เล่นเล่ห์เพทุบาย    พร่ำอวดโอ่แท้โฉเก

ฝากเนื้อไว้กับเสือ    ใครขืนเชื่อเสือเกเร
พลิกลิ้นว่ากินเจ    เผลอกลืนหมับวับหายสูญ

สำเนียงส่อภาษา    กิริยาส่อตระกูล
บอกเล่าเป็นเค้ามูล    ชนชั้นไหนใคร่ประพฤติ

หักด้ามพร้าด้วยเข่า    โหมหักเอาเข้ายื้อยึด
เจ็บเปล่าเขาอาจฮึด    สู้ขันแข็งสุดแรงขืน

เด็ดบัวไม่เหลือใย    ธารน้ำไหลไม่หวนคืน
สัมพันธ์อันหวานชื่น    ถึงบทจบเลิกคบค้า

หนามยอกเอาหนามบ่ง    ตอบโต้ตรงตาต่อตา
แรงไปก็แรงมา    ตอบให้เห็นเช่นเดียวกัน

น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ    เรือจะล่มจมเร็วพลัน
เขาร้อนมาอย่ากั้น    ขวางพรวดพราดอาจเจ็บตัว

ตีป่าให้เสือตื่น    ขู่เขาอื่นให้ตื่นกลัว
เขาอาจยิ้มเยาะยั่ว    หยอกเย้าเล่นเป็นอาจิณ

ถ่มน้ำลายรดฟ้า    รังแต่หน้าเปรอะราคิน
เปล่าประโยชน์ทั้งสิ้น    กลับร้อนรุกด้วยทุกข์โถม

กบในกะลาครอบ    ยิ่งโต้ตอบยิ่งเสื่อมโทรม

รู้น้อยต้องรู้โน้ม    ใช่อวดเก่งเบ่งความรู้

ฝนทั่งให้เป็นเข็ม    ค่อยและเล็มอย่าอดสู
หมั่นเพียรเรียนคำครู    ด้วยมานะพยายาม

เก็บเล็กผสมน้อย    ทุกถั่งถ้อยร้อยเรียงตาม
กลั่นกรองตรองไต่ถาม    ทีละน้อยค่อยสะสม

ตัดหนามอย่าไว้หน่อ    เข้าถึงตอทุกหลุมหล่ม
กระพี้ที่โสมม             เศษโคลนตมชำระทิ้ง

เส้นผมบังภูเขา    มายาเงาในความจริง
ลางเลือนเหมือนยากยิ่ง         แท้ที่จริงสิ่งง่ายดาย

เขาวัวอยู่ข้างหน้า    รอคนกล้าเข้าท้าทาย
เปรียบทางทุกที่หมาย         ซ่อนอุปสรรคและขวากหนาม

ลางเนื้อชอบลางยา    บ้างเห็นค่าควรฝ่าข้าม
บ้างถอย บ้างคล้อยตาม         บ้างกล่าวห้าม บ้างถามทวน

พายเรือคนละที    แข่งชิงดีแข่งได้ด่วน
สุดท้ายพายเรรวน         เรือหมุนคว้างขวางลำคลอง

ลูบหน้าปะจมูก    ล้วนพันผูกตามครรลอง
โน่นพี่นี่เพื่อนพ้อง         ยากแตะต้องยากลงทัณฑ์

ตีวัวกระทบคราด    อวดอำนาจด้วยอัดอั้น
ดุด่าทุกสิ่งอัน             หวังแดกดันคนข้างเคียง

ฟื้นฝอยหาตะเข็บ    เรื่องเก่าเก็บกลับไล่เรียง
รื้อฟื้นขึ้นถกเถียง         เสียเวลาต่อคารม

ปลาหมอตายเพราะปาก    เหลือแต่ซากคาเบ็ดคม
พล่อยพล่ามตามอารมณ์     ระวังเป็นเช่นปลาหมอ

ปิดครัวไฟไม่มิด    สร้างความผิดฉาวโฉ่ฉ้อ
ปิดเรื่องลบรอยรอ         คนหลงลืมคงไม่ไหว

หมองูตายเพราะงู    ฉลาดรู้ในสิ่งใด
ถึงฆาตพลาดพลั้งไป         ขาดเฉลียวใจหนีไม่ทัน

ตำข้าวสารกรอกหม้อ    หาแค่พอกินวันวัน
อีกไกลแค่ไหนนั่น         กว่าสำเร็จในชีวิต

ชี้นกบนปลายไม้    วาดหวังไกลเกินลิขิต
เปรียบคนก่นแต่คิด         หวังสูงมากยากดังหวัง

เข็นครกขึ้นภูเขา    แบกรับเอาตามคำสั่ง
งานยากเกินกำลัง         ยากเห็นผลต้องทนทำ

ทุบหม้อข้าวตัวเอง    ไม่ยำเกรงผูกใจจำ
ว่าร้ายนายเหยียบย่ำ         นายอาจซ้ำถึงตกงาน

ปลาใหญ่กินปลาเล็ก    ลำดับเด็กน่าสงสาร
ผู้ใหญ่ไล่รังควาน         ฉวยโอกาสอำนาจมี

หมากัดอย่ากัดตอบ    อย่าชื่นชอบความอัปรีย์
หลีกได้ให้หลีกหนี         คนชั่วช้าอย่าข้องแวะ

ยื่นแก้วให้วานร    มันมักค้อนมักค่อนแขวะ
ความดียื่นชี้แนะ             หารู้ค่าหารู้คิด

โง่แล้วอยากนอนเตียง    เฝ้าถกเถียงทั้งผิดผิด
พลาดหวังทั้งชีวิต         ยังทะนงหลงว่ารู้

ยืนกระต่ายสามขา    ยืนวาจาแก่ทุกผู้
ถูกผิดไม่คิดรู้     ยืนยันคำซ้ำทุกหน

เถียงคำไม่ตกฟาก    ชอบต่อปากไร้เหตุผล
ปากไวไม่ยอมคน         ไม่ผ่อนปรนไม่ยอมใคร
 

ล้อเล่นหมายเจรจา      กลับ ตีหน้ายักษ์เข้าใส่
ใครเขาอยากเข้าใกล้         เพียงแค่เห็นก็เผ่นแล้ว

หุงข้าวประชดหมา    อย่า ปิ้งปลาประชดแมว
หาไม่คงไม่แคล้ว    หมดตัวเปล่าไม่เข้าการณ์
เปรียบนายรู้ว่าบ่าว          ลักของข้าวนึกรำคาญ
แกล้งกองเกลื่อนเต็มบ้าน     หวังประชดเลยหมดตัว

เลี้ยงช้างกินขี้ช้าง    เฉกลูกจ้างคิดทางชั่ว
กอบประโยชน์เข้าหาตัว         จากหน้าที่การงานตน


ขูดรีดเอาทุกท่า         คน ทำนาบนหลังคน
เนื้อร้ายเมื่อปะปน    ต้องจำทนเชือดเนื้อร้าย

ตีงูให้หลังหัก    มักแว้งกัดเข้าข้างกาย
ตีงูต้องตีตาย    เหมือนกำจัดเหล่าศัตรู

สีซอให้ควายฟัง    มันนิ่งนั่งไม่รับรู้
ไร้ผลจนใจชู    เชิดคนโง่ให้เชี่ยวชาญ

ชักตะพานแหงนเถ่อ    เอ้อเรอเอ้อเต่ออยู่นาน
เปรียบคนรอผลงาน         ไม่ถึงไหนได้แต่รอ

สอนสั่งไม่ฟังคำ     เหมือน ตักน้ำรดหัวตอ
ราดรดน้ำหมดบ่อ         ไม่รู้สึกสำนึกตน

น้ำขึ้นให้รีบตัก  ชะล่านักจักเสียผล
โอกาสมาถึงตน             ควรรับไว้ให้เกิดการณ์

รู้รอรู้ต่อสู้    รู้ อดเปรี้ยวไว้กินหวาน
มวลหมู่ดอกไม้บาน    มิเคยใครไปเร่งมัน

ชี้โพรงให้กระรอก   ชี้ทางออกทุกสิ่งอัน
เสกสร้างทางสวรรค์    ให้เขาใช้เขาฉวยชม

แกว่งเท้าเข้าหาเสี้ยน   เสี้ยนย่อมซ้ำตำตีนจม
มีบ้างบางสิ่งสม    ควรห่างไว้ได้เป็นดี

ทำคุณบูชาโทษ   ก่อประโยชน์กลายกาลี
ความเขลาคนเรามี    ความหวังดีอาจเห็นร้าย

อยู่สูงให้นอนคว่ำ   หาก อยู่ต่ำให้นอนหงาย
ดุจข้าเข้าใจนาย             รู้ความหมายผู้ปกครอง

ใจเขาใส่ใจเรา   ผู้ใหญ่เข้า ใจลูกน้อง
อยู่สูงต้องคอยมอง   คอยจับจ้องคอยจุนเจือ

คนรักเท่าผืนหนัง   แต่ คนชังเท่าผืนเสื่อ
หมายใจเตือนให้เชื่อ         คนรักมักน้อยกว่าชัง

บ้างเผาบ้างเย้ายั่ว   บ้าง ตบหัวแล้วลูบหลัง
พลั้งพลาดฟาดไม่ยั้ง   เผลอปุบปับขอจับมือ

ชาติเสือต้องไว้ลาย    เกิดเป็นชายต้องไว้ชื่อ
เกียรติต้องประคองถือ    ไม่ระย่อต่ออธรรม

เสียชีพอย่าเสียสัตย์    ไม่ตระบัดไม่คืนคำ
พูดจริงทำจริงทำ    ทุกสิ่งย้ำคำคนจริง

เขียนเสือให้วัวกลัว      หวังเยาะยั่วให้เกรงกริ่ง
ขวัญผวาหวั่นว่าจริง    ขู่ด้วยเล่ห์คารมคม

ชักแม่น้ำทั้งห้า    เจรจาจนเห็นสม
หว่านล้อมกล่อมอารมณ์         เห็นคล้อยคิดติดตามฟัง

สี่เท้ายังรู้พลาด    แม้ นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง
หมื่นร้อยคอยระวัง    เหตุพลั้งพลาดยังอาจมี

ตักน้ำใส่กระโหลก    ชะโงกดูเงา ให้ดี
ซ่อนความหมายบ่งชี้         ให้รู้เจียมเนื้อเจียมตน

อย่าใฝ่สูงเกินศักดิ์   หมายสูงนักมักร่วงหล่น
สำนึกในศักดิ์ตน    ก่อนดิ้นรนคว้าฝันไกล

เลือกนักมักได้แร่    หลงว่าแท้กลับไม่ใช่
คิดมากอาจยากใจ         เพราะหวังได้ไม่รู้พอ

ฆ่าช้างหวังเอางา    ของสูงค่ากว่าเล่นล้อ
ทำลายได้ลงคอ      หมายสิ่งของรองศักดิ์ศรี

ขายผ้าเอาหน้ารอด    หวังแค่ปลอดพ้นไปที
ข้าวของบรรดามี    ยอมสูญสิ้นกลบกลิ่นฉาว

ฆ่าควายเสียดายพริก    อย่าจุกจิกทุกเรื่องราว
ทำการต้องหาญห้าว    ใช่เสียนิดคิดเสียดาย

ชักใบให้เรือเสีย    ชอบคุ้ยเขี่ยชอบยักย้าย
เรื่องคอขาดบาดตาย    พูดซุกซนจนไขว้เขว

ตาบอดสอดตาเห็น    อวดทำเป็นรู้ถมเถ
คุยเขื่องเรื่องทั้งเพ    แท้เหลวไหลไม่รู้จริง

ลูกไก่ในกำมือ    เขาจักถือหรือบีบทิ้ง
ย่อมได้ในทุกสิ่ง    สุดแต่จิตคิดเมตตา

น้ำมาปลากินมด    ยาม น้ำลดมดกินปลา
ทีเขาเราไม่ว่า    ถึงทีข้าอย่าโวยใคร

ไม้ซีกงัดไม้ซุง    ผู้น้อยมุ่งค้านผู้ใหญ่
เปล่าเปลืองแรงทำไป    เกิดพิษภัยก็แต่ตน
หลายซีกหลายแรงรวม    ร้อยใจร่วมด้วยเหตุผล
ซุงใหญ่จึงจำนน    พ่ายเพราะรักสามัคคี...

ร้อยกระบวนสำนวนไทย (๒)  กาพยานี ๑๑
ร้อยกระบวนสำนวนไทย (๓) ...
https://planetpt.blogspot.com/2009/09/blog-post_05.html

วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2552

บทกวี >> ค่าราชการ

บทกวี >> ค่าราชการ
โลกวันนี้พัฒนาจนกล้าแกร่ง
เพราะเรี่ยวแรงคนดีช่วยชี้หนุน
มอบหัวใจใฝ่ธรรมคอยค้ำจุน
พร้อมไออุ่นให้กล้าสู้อย่างผู้ดี

บนบันไดสู่สวรรค์วันละก้าว
ต้องผ่านความปวดร้าวในหน้าที่
กี่ครั้งทน กี่หนรับความอัปรีย์
กว่าจะถึงวันนี้ที่ปลายทาง

วันที่โบกมือลาสถานภาพ
ด้วยหัวใจไร้บาปกลิ่นสาบสาง
พร้อมศักดิ์ศรีที่เห็นเด่นรางชาง
โดยสืบสร้างวางหลักนักปกครอง

เมื่อถือน้ำพิพัฒน์สัตยา
คือถวายสัจจาประกาศก้อง
เราคือข้าราชการของพี่น้อง
และข้าทูลละอองของพระองค์

มีชีวิตเพียงอุทิศเพื่อหน้าที่
ปลูกความดีสัตย์ซื่อคือประสงค์
หวังเพียงรัฐพัฒนาค่ามั่นคง
สุขดำรงสยามรัฐกษัตริย์ไทย

มิใช่ข้ารัฐบาลสันดานโลภ
ผู้ถือครองความละโมบมาเป็นใหญ่
แล้วผลัดเปลี่ยนเวียนหน้ามาเติมภัย
จนบ้านเมืองบรรลัยไม่เว้นวัน

พรุ่งนี้เป็นอย่างไรยังไม่แน่
แต่คนจริงจะไม่แพ้แม้ถูกหยัน
เพราะหัวใจผู้กล้าคือราชันย์
ที่สวรรค์ต้องอุ้มต้องคุ้มครอง.

บทกวี >> ค่าราชการ

วันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2552

บทกวี >> คนปลูกดอกไม้


บทกวี >> คนปลูกดอกไม้

และแล้วความดีกว่าก็ปรากฎ
แม้ไม่หมดความเขลาเข้ามาเพิ่ม
แต่อย่างน้อยก็ยังมีดีกว่าเดิม
ตรงดีเติมเพิ่มหวังกำลังใจ

บนเวทีที่หมายสุดปลายฟ้า
เธอคือผู้ค้นหาความหมายใหม่
คอยทอดวางสำนึกผนึกใน
เพื่อดอกไม้ดอกใหม่ได้ผลิบาน

หยาดน้ำใสทีละหยดรดใบอ่อน
ดังคำพรประโลมไล้ให้แตกก้าน
หนึ่งเป็นสอง..สองเป็นสี่ คลี่ตระการ
สะท้อนสะท้านสำนึกใหม่ให้มีเป็น

กลางความโลภ โกรธ หลง ประจงจัด
ประคองคัดความดีชี้ให้เห็น
ทีละจุด ทีละแฉก แยกประเด็น
ที่ลี้เร้นเห็นต่างกระจ่างพลัน

เราอาจต่างตามวิถีชีวทัศน์
ซึ่งมีกรอบจำกัดมีขีดขั้น
อาจบอบบางเข้มข้นที่ชนชั้น
แต่มีฝันงดงามทุกความคิด

เนิ่นนานนักหนา...
กงล้อกาลเวลาก่อจริต
เริงระบำร่ำบรรเลงเพลงชีวิต
กว่าสำนึกถูกผิดจะถึงพร้อม

คนปลูกดอกไม้...
เธอก็คือผู้ให้กระไอหอม
กำจายกลิ่นสุขสมให้ดมดอม
ดื่มดวงใจไหวน้อมด้วยยินดี

เธอทำให้คนเห็นเช่นที่หวัง
ยุติธรรมคือพลังแห่งศักดิ์ศรี
ที่มนุษย์ผู่หนึ่งจะพึงมี
และชวนชี้ให้เห็นเป็นความงาม.

โพสต์แนะนำ

สาระนิทาน ชุด ไม้ไทยใจดี 🍽 เรื่อง "ข.ข้าว ขาว ขาว"

เขียวเอย...เขียวพรมผืนใหญ่ ใครมาถักทอไว้ แลไกลสุดตา  เจียวเอย... ตัวฉันนั่นไง  ใบ ข้าว เขียวเขียว ยืนต้นเดี่ยวเดี่ยว  ร...