-->

วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

[s] เพลินเพลงอนุบาล [s]


๑. แมงมุม

แปดขาโย่งเย่ง
เดินโคลงเคลงอยู่บนหลังคา
แมลงวันถลันไปไถลมา
โอ๊ะ.. โอ๊ะ.. เสียท่า ติดใยแมงมุม.

๒. ปูขาเก
ปูขาเก เดินโซเซ เดินโซเซ
ตาซ้ายไม่เหล่ ตาขวาไม่เข
ทำไมเดินเซ เย้..เย เย้..เย..

๓. ลูกเป็ด กิ่ว..กิ๊ว..กิ่ว..กิ๊ว..กิ่ว..กิ๊ว..กิ่ว
ลูกเป็ดชักหิว อยากกินอาหาร
แม่เป็ดชวนลงลำธาร
สุดแสนสำราญ หาหอย ปู ปลา

๔. ลิง

ท่าทางดูคล้ายคล้ายคน
แต่แสนซุกซน เพราะว่ามันเป็นลิง

๕. แมลง บิน..บินไป..
แมลงมีไฝ บินไปเป็นหมู่
เอ๊ะ..เอ๊ะ นี่ผงอะไร
เกสรดอกไม้ ติดอยู่ในรูหู..

๖. แมวหง่าว
ปึงปัง ปึงปัง โปกเปก
เสียงโป๊กเป๊ก ดังมาจากครัว
นั่นแน่ เจ้าแมวสามตัว
เล่นกันในครัว โครมคราม..โปกเปก


๗. เดินเป็ด

เป็ดมันเดิน เดิน เป็ดมันเดิน เดิน
ดูแล้วเพลิดเพลิน มันเดินอย่างเป็ด
กิ๊บกับ..กิ๊บกับ..กิ๊บกับ..กิ๊บกับ


๘. ไข่ขอขา


ข.ไข่..ข.ไข่ ขอขา
อยากเดินตามหา แม่ไก่สักที
ข.ไข่ นับวันเดือนปี
รอขาดีดี จะได้ร้องจิ๊บ..จิ๊บ

๙. นกเขา
กรุ๊กกรู๊..กรุ๊กกรู๊.. นกเขาขันคู กรุ๊กกรู๊..กรุ๊กกรู๊
แม่นกตาหวาน บินผ่านมาหาคู่
ยินเสียงกรุ๊กกรู๊ อยู๋ไหนจ๊ะ..อยู๋ไหนจ๊ะ


๑๐. ลมพัดลมพัด ลมพัดฉิวฉิว
ใบไม้ปลิดปลิว หวิว หวิว ตามลม
ร่วงไป ร่วงไปเป็นผ้าห่ม


**********************
ฟังเพลงอนุบาลขุด "พระอาทิตย์ยิ้มแฉ่ง และ "ก.ไก่ ร็อกเก้ "


https://drive.google.com/drive/folders/16U8KgNm5uqGFjan0-kc9ljYnADsp65fC









วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

นิทาน ก.ไก่ 🐓 "ก.ไก่ ชมดง"


ไก่ ไล่กิ้งก่า ก-กา แลเก้งกวาง
ไข่ ใครมาวาง ขืนทิ้งขว้างเขาจะขอ
ฃวด หายไปไหน ใครทิ้งไว้ในป่าหนอ

ควาย ไล่ชนตอ ลับคมเขาเหลาคมคง
คน หัวหยักหยัก บ้างคือยักษ์ในไพรพง
ฆ่า สัตว์ป่าดง เลอะเลือนหลงไร้เมตตา

งู ดูให้ดี ประโยชน์มีมากเชียวนา
จิบ จอก จาบคา บินเริงร่าลัดฟ้าไกล
โฉบ เฉี่ยวฉับฉับอินทรีจับปลาตัวใหญ่


ช้าง งาหายไป โหยหวลไห้หาไม่เจอ



ซาก สัตว์เรียงราย น่าใจหายใช่ไหมเธอ
เฌอ ใช่กระเชอ ฌ เออ เฌอคือต้นไม้

หญ้า ระบัดยอด แทงตลอดทุกที่ไป
กฎ กำหนดไว้ โลกอยู่ได้ด้วยการุณ
รกชัฏ สัตว์ชอบซุก ยามภัยรุกเข้าซุกซุน


ฐาน ถิ่นค้ำจุน คอยเกื้อหนุนอุ่นกายใจ
ไพฑูรย์ เพชรตาแมว คือดวงแก้วสีไม้ไผ่

เฒ่า มากวุฒิวัย อย่าเผลอไผลล้อลามปาม
คุณ ใดหลายหลาก โทษยิ่งมากเป็นเงาตาม
ดอก ไม้แสนงาม สะพรึบพรั่งทั้งดงดอย


ต่อ แตน เต็มต้น แตกตื่นตนตั้งตาต่อย

ถ้ำ งามหินย้อย ริกริกร่อยทุกเถื่อนทาง
ทุ่ง โล่งครั้งนั้น เกลื่อนสมัน ทราย เก้ง กวาง
ธรรมชาติสร้าง ใช่มล้างจนสูญพันธุ์


นก เกลื่อนฟ้าคราม
คือความงามและความฝัน
ใบไม้ไหวสั่น พริ้วพร่างพรมห่มคลุมดิน
ป่าไม้ลำธาร ดุจดังบ้านของชีวิน
ผีเสื้อผกผิน กระซิบบอกสายลมไกว
ฝน หล่นจากฟ้า หอย ปู ปลา เริงน้ำใส
พืช แพร่พฤกษ์ไพร สูงลดหลั่นหลายชั้นเชิง
ฟัน ขบขวับขวับ กุบกุบกับหยุดยืนเบิ่ง
ภู ชะวากเวิ้ง สายน้ำตกซ่าโครมครืน
แมลง แข่งขับขาน สอดประสานเพลงกลางคืน


ใย ระโยงยื่น
ยะยับย้ำสีเงินยวง
รัง รวง และรู ร้อยรักอยู่ทุกรังรวง
ลิงชอบควักล้วง เขาจึงลวงเจ้าไปขาย
วัวแดง กระทิง โคไพร มหิงส์ วิ่งเร้นกาย
โศก เศร้าเสียดาย เขาคิดร้าย เจ้าจึงจำ
ฤาษี ชีไพรเอย วอนจงเผยชี้ทางนำ


เสือ สางสัตว์ส่ำ ล้วนรักตนเช่นคนเรา
หาง ห้อยโหนไม้ ปัดริ้นไรพอบรรเทา
 ฬา ฬ่อ คำเก่า  เดี๋ยวนี้เขาใช้ ล.ลิง
อารักขาไว้ เถิดดวงใจในทุกสิ่ง


โฮก ฮูมดังจริง นกฮูกนิ่งมองตาโต.






https://planetpt.blogspot.com/search/label/%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%AD 

วันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

บทกวี >> ลำนำไพร

บทกวี >> ลำนำไพร
พริ้ว พริ้ว ระริวไหว
ลิบลิบรำไรโพ้นผา
สายหมอกเรี่ยรายพรายตา
สกุณาเริงระบำริมบึง

ดุจดั่งภาพวาด
พื้นน้ำสวยสะอาดอัดอึ้ง
อ้อยอิ่งดื่มด่ำคำนึง
อาบเพลงรำพึงของสายลม

ทิวไม้ไหวร่างกลางแดด
โลมแสงสีแสดผสานผสม
ปรุงแต่งธาราอารมณ์
ทอรุ้งพร่างพรมระยิบระยับ

ไม้สูงระดะแซงเสียดยอด
ปรกเถากระหวัดกอดสอดสลับ
เหยียดรากเรื่อเรื้องเนื่องนับ
โจมจับดินสู้พายุร้าย

หวือ..หวือ..กระพือปีกนกฟ้า
แจ้ก..จ้า แจ้ก..จ้า ไม่ขาดสาย
หวิวหวีดหรีดระงมห่มกาย
ร่ายร้องลำนำป่าดง

ระบัดใบคลุมดินทั้งผืน
เหยียดยืนยอดหญ้าระหง
ชื่นชีวิตลิขิตขอทระนง
ยืนยงส่งฟ้าท้าไพร

ใดคือสรรพสิ่ง...
แท้จริงคือจิตยิ่งใหญ่
กำหนดความงาม ความนัย
สดใสลึกซึ้งหนึ่งเดียวฯ

ลำนำไพร

วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เกร็ดภาษาไทย 🖍 ไม้ มลาย ไม้ม้วน ควรจดจำ


        เคยวางหลักจำคำไทยที่ใช้ไม้ม้วนไปครั้งหนึ่งแล้วในรูปของกาพย์ยานี
ที่ครูบาอาจารย์ท่านแต่งไว้ให้จำได้ง่าย ๆ

ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่ ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ
ฝ่ใจเอาใส่ห่อ มิหลงใหลใครขอดู
จะใคร่ลงเรือใบ ดูน้ำใสและปลาปู
สิ่งใดอยู่ในตู้ มิใช่อยู่ใต้ตั่งเตียง
บ้าใบ้ถือใยบัว หูตามัวมาใกล้เคียง
แคล่วคล่องอย่าละเลี่ยง ยี่สิบม้วนจำจงดี

        และอีกบทหนึ่งที่โบราณท่านแต่งไว้เป็นกาพย์ยานีเหมือนกัน
ปรากฎในหนังสือประถมมาลา ดังนี้...

ใฝ่ใจให้ทานนี้ นอกในมีแลใหม่ใส
ใครใคร่แลยองใย อันใดใช้และใหลหลง
ใส่กลสะใภ้ใบ้ ทั้งต่ำใต้และใหญ่ยง
ใกล้ใบและใช่จง ใช้ให้คงคำบังคับ

        ท่องจำไว้เล่น ๆ ทั้งสองบทก็น่าจะดี แต่สำหรับผู้เขียน นิยมจำบทแรกเพราะคล่องปากและจดจำง่ายดี... 
        ที่ต้องจำก็เพราะคำอื่นที่ต้องใช้สระไอสะกด โบราณท่านให้หลักว่า จะต้องใช้ไม้มลายสะกดทั้งหมด  โดยเฉพาะคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาต่างประเทศเช่น ไวน์ ไฮไฟ กังไส ไหหลำ แกงได (เครื่องแทนการลงลายมือชื่อ) ฯลฯ

        อย่างไรก็ดี มีคำที่ใช้ไม้มลายอยู่หลายคำที่มีเสียงซ้ำกับคำที่ใช้ไม้ม้วน จึงควรจดจำไว้ด้วย คำ
เหล่านี้ ได้แก่..ไต้ (สำหรับจุดไฟ), ไส (ผลักไส) ไห้ (ร้องไห้), ไจ (เข็ดด้าย), ไย (ไฉน,อะไร ,ทำไม) ได (สลัดได, แกงได) ไน (ลองไน, ปลาไน), ไหล (ปลาไหล, เหล็กไหล, เลื่อนไหล, รื่นไหล, เหลวไหล, หลับไหล)...เป็นต้น
     
         อาจมีคนหัวใจซุกซนบางคนอดสงสัยไม่ได้ว่า เอ..แล้วทำไมภาษาไทยต้องมีทั้งไม้มลายไม้ม้วนให้ป่วนใจจำด้วยหว่า....?
         ขอตอบตามที่คุณ ม.ศรีบุษรา เคยค้นคว้ามาได้ดังนี้ครับ
          มีคำเมือง (ภาษาล้านนา) เก่าแก่คำหนึ่งว่า "มาย" แปลว่า "คลี่,คลาย,ขยาย" ซึ่งเป็นความหมายเดียวกันกับที่พบในพจนานุกรมภาษาถิ่นอีสาน ซึ่งสันนิษฐานว่า มีการนำมาใช้เป็นสระหรือ ไม้มาย เพื่ออ่านออกเสียงแทนสระไอ  และเมื่อมาถึงไทยก็แผลงจาก 'มาย' เป็น 'มลาย' ตามแบบอย่างอิทธิพลของเขมรที่นิยมกันตั้งแต่สมัยสุโขทัยและก่อนหน้านั้น ส่วนคำที่ใช้สระไอไม้ม้วนนั้น เดิมออกเสียงคล้ายสระอา+สระอือปนกัน พ่อขุนรามคำแหงจึงทรงให้ราชบัณฑิตสมัยนั้นกำหนดรูปไม้ม้วนไว้ใช้แทนเสียงดังกล่าวอีกรูปหนึ่ง ซึ่งกาลเวลาที่ผ่านไปกว่า ๗๐๐ ปี ก็ทำให้เสียงสระไอและสระใอกลายเป็นเสียงเดียวกันแต่ต่างรูปดังเช่นที่เห็นกันในปัจจุบัน

          และเป็นเหตุให้เราต้องท่องเพื่อจดจำหลักการใช้ไม้หน้าสาม เอ๊ย! ไม้ม้วน ไม้มลายจนทุกวันนี้....

        เฉพาะคำว่า หลับไหล นี้ ยังเป็นคำกำกวมที่แม้แต่ราชบัณฑิตยสภาเองก็ยังไม่มีบทสรุปและมิได้บัญญัติไว้ในพจนานุกรม เนื่องจากยังมีความเห็นแย้งกันอยู่ ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ควรใช้ไม้ม้วนสะกดโดยยก พจนานุกรมล้านนา-ไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง พ.ศ. ๒๕๓๓ ซึ่งเป็นฉบับร่างที่ ๒ เก็บคำ "ใหล" ว่า "ก. ละเมออย่างหลับใหล-นอนละเมอ, หลงใหล-หลงละเมอ หรือ พูดอยู่ตามลำพัง  ในขณะที่พจนานุกรมภาษาถิ่นอีสานกลับให้ความหมายเดียวกันนี้โดยสะกดด้วยไม้มลาย ซึ่งสำหรับผู้เขียนแล้ว ค่อนข้างเห็นด้วยกับฝ่ายหลัง เพราะสอดคล้องลงรอยกับหลักภาษากลางมากกว่า

        มีคำประสมที่ใช้ไม้ม้วนบางคำที่ควรสนใจ เช่น เหล็กใน (อาจเพราะอยู่ในตัวแมลง), หมาใน (ไม่ใช่หมานอก) เยื่อใย..ห่วงใย..ชักใย..ยองใย..(ล้วนมาจาก "ใย") นอกนั้นส่วนใหญ่รวมทั้งคำที่เกลื่อนกรายมาจากคำต่างประเทศ นิยมใช้ไม้มลายเป็นหลักทั้งนั้นครับ.


https://planetpt.blogspot.com/search/label/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%20%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99

วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

สาระนิทาน 🌳 เรื่อง "ในป่ามีอะไร..."

         
          ในป่ามีอะไร...
อยากรู้ไหมหนูจ๊ะ หนูจ๋า
อยากรู้ก็ตามกันมา
เดี๋ยวเราจะพากันเที่ยวท่องไพร…


ในป่ามีภูเขาสูงสูง
จับมือจูงจูงเป็นเทือกเขาใหญ่
พ่อแม่ลูกภูเขาเรียงไล่
เคียงบ่าเคียงไหล่ แลไกลลิบตา…


ขุนเขาเงาเงื้อมตระหง่าน
เขามาเป็นบ้าน วิมานพฤกษา
พืชพรรณไม้สูงเสียดฟ้า.
ไม้น้อยนานา
เติบกล้ากรูเกรียว...

เขาพากันมาจากไหน
มวลหมู่แมกไม้ ในป่าเขาเขียว
เหมือนพรมห่มดินผืนเดียว
ให้หายซีดเซียว ด้วยสีเขียวหวาน…
ครั้งหนึ่ง..ภูเขายังร้อน
ไม่มีผ้าผ่อน กันแดดเผาผลาญ
ดินแดงแห้งแล้งกันดาร
สายน้ำลำธาร ก็ไม่ค่อยรินไหล...
ต้นหญ้าเลยอาสามาก่อน
เพราะเขาทนร้อน แถมตัวไม่ใหญ่
ต่างมากันด้วยน้ำใจ
อยากเห็นป่าใหญ่ เห็นต้นไม้คลุมเขา...
แทรกสอดกอดดินหนุบหนับ
ชวนกันดูดซับ น้ำคืนสู่เหย้า
ไหลรินผ่านดินเบาเบา
มิให้เหี่ยวเฉา มิให้หล่นหาย...
น้ำริน..ผืนดินสะดุ้งตื่น
ยึดรากหญ้ายืน ฟื้นขึ้นดังหมาย
ขอบคุณยอดหญ้าคลุมกาย
ชุ่มฉ่ำสบาย ห่มให้ดินเย็น…
แฝก คา ป่าไผ่ ไม้พุ่ม
ติดตามสุมทุม ชุมนุมให้เห็น
กระจายกระสายกระเซ็น
กระโดดโลดเต้น ชี้ชวนหมู่ไม้...
เร็วเข้า...เจ้าเมล็ดไม้น้อย
จะเล่นลมลอย กันไปถึงไหน
มาซีตรงนี้นี่ไง
พี่เตรียมที่ไว้ ให้พวกเธออยู่กัน…
น้ำท่าอาหารมีพร้อม
เชิญ..พี่จะกล่อม เจ้าสู่อ้อมขวัญ
ยามแรงร้อนแสงตะวัน
จะคอยขวางกั้น ห่มให้หายร้อน...
เชิญเจ้าเหยียดแข้งเหยียดขา
หยั่งรากลืมตา หาที่หนุนหมอน
เกาะเกี่ยวลัดเลี้ยวไชชอน
ดื่มกินดินอ่อน ให้สนุกสนาน...
ลูกไม้หลายสกุลวงศ์
ละลิ่วปลิวลง ตามคำเรียกขาน
ทอดกายขยายวงศ์วาน
เร่งสร้างตำนาน นิทานป่าเขา...


กำยาน..สัก..ส้าน..เก็ด..ก่อ..
มะค่า..หลุมพอ..สละ..เสลา..
ยาง..ไทร..ไกร..กร่าง..กันเกรา..
กระบาก..กระเบา..เต็ง..รัง..พลวง..เหียง…

ต่างพากันมาเป็นแสน
จัดสรรปันแดน ไม่ทุ่มถกเถียง
แตกตนต่อต้นรายเรียง
พื้นราบ พื้นเอียง ไม่เกี่ยงสักหน...


ก้านกิ่งชิงแซงเสียดยอด
ประสานแทรกสอด ยุ่บยั่บสับสน
เหมือนมือ เหมือนแขนแสนกล
ยื่นไปขอฝน ขอน้ำจากฟ้า...


ลมไกวใบโบกโยกเยก
ขอน้ำท่วมเมฆ ลอยเข้ามาหา
ไม้สูงทั้งฝูงเฮฮา
กวักมือยิ้มร่า ขอฝนหล่นเม็ด...



เมฆขาว เมฆเทา เมฆดำ
ยินเสียงเพรียกพร่ำ สำรวลอึงเอ็ด
หยาดฝนหล่นดังหยาดเพชร
เอ้า! นี่บำเหน็จ ของเธอหมู่ไม้...

เชิญอาบกำซาบให้ชุ่ม
ไม้กอไม้พุ่มไม้เล็กไม้ใหญ่
อิ่มแล้วอย่าลืมอุ้มไว้
ฝากหิน ดิน ทราย ช่วยเก็บด้วยนะ...


เผื่อยามหน้าแล้งหน้าร้อน
เมฆฝนไปซ่อน พเนจรเปะปะ
จะได้แบ่งสรรพันธะ
ผ่อนเพลาภาระ มิให้โลกแล้ง...


ไม้อ่อนระดะดงดอย
เถาวัลย์พันห้อย ที่คอยแอบแฝง
ร่มเงาพฤกษากล้าแกร่ง
จะได้มีแรง พอยืนต้นไหว...


รินริน..แผ่นดินน้ำฉ่ำ
หมู่ไม้ดงดำ ซับน้ำกันใหญ่
ดื่มดึกน้ำลึกต่ำใต้
กักเก็บไว้ใช้ ยามไร้น้ำฟ้า...
ถึงคราฝนฟ้าไม่ตก

พฤกษาสะทก สะเทือนทั่วหน้า

ค่อยเจียดละเลียดธารา

ใต้พื้นพสุธา เอามาแบ่งกัน...



ไม้ใหญ่สลัดใบผลอยผลอย
ยอมกินแต่น้อย พอเลี้ยงกายมั่น
เผื่อเหลือเอื้อเฟื้อพืชพรรณ
ไม้น้อยทั้งนั้น เขาได้ดื่มกิน...

ใบบานนับล้านร่วงหล่น
ทอดร่างวางตน ป่นเป็นปุ๋ยดิน
เกื้อหนุนค้ำจุนชีวิน
พฤกษ์ไพรทั้งสิ้น ด้วยทิพย์อาหาร...


หวังให้ไม้ดกรกทึบ
ผืนดินแน่นหนึบ เป็นหลักเป็นฐาน
โอบอุ้มซับน้ำนานนาน
ตราบพ้นดินผ่าน เป็นสายธารรินไหล…


น้ำซึม น้ำซับปรากฎ
ทีละหยด ทีละหยด จากยอดเขาใหญ่
พรูพรมอ่อนเอื่อยเรื่อยไป
พบเพื่อนน้ำใส ก็ไหลรวมแรง...


ก่อเกิดหุบห้วยละหาน
ก่อเกิดสายธาร ทั่วทุกระแหง
พฤกษายิ่งเสียดยิ่งแซง
ผืนดินยิ่งแกร่ง ผืนป่ายิ่งไกล...


ดินดำ.. น้ำใส..ไม้ป่า
ผูกพันพึ่งพา ดั่งมิตรชิดใกล้
กลมเกลียวแผ่เขียวพฤกษ์ไพร
ห่มขุนเขาใหญ่ ใส่เสื้อสีเขียว...

ใส่เสื้อสีเขียวสีเดียว...
ใส่เสื้อสีเขียวสีเดียว..
ดูหลายหลายเที่ยว หลายเขียว หลายสี...





วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เพลงกล่อมเด็ก [s] ขวัญพ่อ


เพลงกล่อมเด็ก [s] ขวัญพ่อ

หลับเถิดนอน...ลูกนอนหลับฝัน
ฝันถึงวันคืนสุขแสนดี
ตราบพ้นวันผ่านเดือนและปี
พ่อนี้คอยอยู่เคียง...

ฝันถึงวันที่ดอกไม้บาน
กลิ่นหอมนานอวลผ่านไพรพง
ดั่งขวัญ..เจ้าเอย ยืนหยัดมั่นคง
ที่ตรงนั้นคือสุขสดใส...

หลับเถิดฝัน..ลูกนอนหลับฝัน
ฝันถึงวันเดินสู่เส้นชัย
หากแม้นมีขวากหนามกล้ำกราย
พ่อคุ้มภัยเจ้าเอง...
ขวัญเจ้าเอย...อย่าเลยลับลา
ฝากเจ้าพาเพลงจากดวงใจ...พ่อนี้
ขอพรมวลหมู่เทพไท
กอดเจ้าไว้...นอนเถิดคนดี
ลูกเหมือนดังแก้วตาขวัญใจ
พ่อคุ้มภัยเจ้าเอง..
พ่อคุ้มภัยเจ้าเอง...




 

วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

นิทานอนุบาล 🎐 เรื่อง "วันว่างของหนูหวาน"

นิทาน (๑) วันว่างของหนูหวาน
คุณพ่อ คุณแม่ไม่อยู่
วันนี้คุณหนู จะต้องอยู่บ้าน

เอ..หนูจะทำอะไรดี
เออคงเข้าที เล่นทำอาหาร

ตี๊ต่างว่าหนูเป็นกุ๊ก
มีหมีปุ๊กลุก คอยช่วยรับประทาน
นี่ไง ในครัวมีผัก
ทั้งถั่วทั้งฟัก มะเขือ แตงร้าน


ทีนี้ก็ต้องมีมีด
เอาไว้ใช้กรีด ใช้หั่น ใช้ฝาน

เล่มนี้เล็กดีสีสวย

แถมคมดีด้วย คงใช้ได้นาน


เอาละนะ.. ถึงเวลาหั่นแล้ว
ผักนอนเข้าแถว รอปรุงอาหาร
นี่เลย ถั่วฝักยาวก่อน
ตัดเป็นท่อนท่อน สนุกสนาน




ต่อไป แตงร้านกลมยาว
หั่นเป็นแว่นขาว เรียงไว้เต็มจาน
ตานี้ ก็มะเขือเปราะ
แหมกลมเหมาะเจาะ น่าฝาน น่าฝาน




โอ๊ยโย๋ อะไรกันนี่
อยู่อยู่นิ้วชี้ โดนมีดบาดผ่าน
เจ๊บ..เจ็บ เลือดไหลด้วยซี
จะทำไงดี ไม่มีใครอยู่บ้าน




รู้แล้ว ต้องใช้ผ้าพัน
ผ้าพันแผลนั่น อยู่ชั้นบนบ้าน
วิ่งตื๋อ ขึ้นบนบันได
หยิบผ้าพันไว้ พอหายเจ็บซ่าน




โอ๊ะโอ๋ ตามมาทำไม
ผ้าพันแผลม้วนใหญ่ ไล่ตามหนูหวาน
ไป..ไป๊ อย่าตามมานะ
เจ้าผ้าเกะกะ อย่ามาเพ่นพ่าน




ไชโย.. แม่มาพอดี
แม่จ๋าช่วยที หนูแสนรำคาญ
อุ๊ยตาย เป็นอะไรล่ะนี่
มีดบาดละซี โถ..น่าสงสาร


นิทาน (๑) วันว่างของหนูหวาน


หอมขวา หอมซ้าย จนหนูยิ้มหวาน

เข็ดแล้ว หนูจะไม่เป็นกุ๊ก
ไม่เห็นจะสนุก ตอนเลือดแดงฉาน

รู้แล้ว อยากเป็นอะไร
หนูบอกก็ได้ อยากเป็นพยาบาล...!!! 





วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

บทกวี >> กว่าเป็นคนเต็มคน




กว่าจะเป็นไม้ใหญ่ได้สักต้น
ต้องต่อสู้ดิ้นรนขนาดไหน
ต้องผ่านลม..ฝน..ฟ้ามาเท่าใด
ทั้งนกหนอน..ชอนไชกี่ภัยพาล

จึงเติบใหญ่ให้เห็นเป็นไม้หลัก
เป็นที่พักที่กินเป็นถิ่นฐาน
ให้ส่ำสัตว์ได้สิงสู่อยู่สุขสราญ
สืบตำนานผู้ให้แห่งไพรเย็น

กว่าเป็นคนเต็มคนสักคนหนึ่ง
กว่าเอื้อมถึงหลักชัยให้เขาเห็น
กว่าเปี่ยมศักดิ์บารมีอย่างที่เป็น
ต้องลำเค็ญแค่ไหนกว่าได้มา

ต้องบ่มเพาะประสบการณ์ทำงานหนัก
ต้องฟันฝ่าอุปสรรคอันหนักหนา
กี่หุบเหว กี่หนาวร้อน กี่อ่อนล้า
จึงสั่งสมบุญญาได้เท่านี้

แล้วไยเล่ายังไม่เข้าใจโลก
ว่าสุขโศกล้วนได้จากใจนี่
แม้อิ่มบุญวาสนามานานปี
ก็หลีกหนีไม่พ้นวงเวียนกรรม

ไยจึงต้องยึดติดนิมิตใหม่
ฝากหัวใจกับคนพาลสันดานต่ำ
ผู้ไร้ค่าแปดเปื้อนแต่เงื่อนงำ
สให้มืดดำในเบื้องท้ายปลายชีวิต

ไม่คิดถึงลูกหลานเลยบ้างหรือ
จึงดึงดื้อดันทุรังสร้างบาปผิด
ให้สายทรามตามตัวไปทั่วทิศ
ตามลิขิตประวัติศาสตร์จักวาดไว้

หยุดเสียเถิด วางเสียเถิด ไปเสียเถิด
ทางประเสริฐคงรู้อยู่หนไหน
เพื่อบุญของทวยราษฎร์ของชาติไทย
และเพื่อใจไม่ต้องตกนรกนาน...นาน.


วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เกร็ดภาษาไทย 🔖 ใช้ “การ” และ “ความ” ให้งามสม


วันก่อนอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง พบข้อความตอนหนึ่งว่า
“เพื่อความพัฒนาที่ยั่งยืนทางด้านพลังงานของประเทศ...”
รู้สึกสะดุดกึกขึ้นมาทันทีกับคำว่า “ความพัฒนา” เพราะถ้าเพียงแต่ใช้คำว่า
“การพัฒนา” แทนคำว่า “ความ” ก็น่าจะเหมาะสมและสละสลวยมากกว่า

จริงอยู่... แม้เรื่องนี้ไม่ถึงกับเรียกว่า “วิบัติแห่งภาษา” เมื่อเทียบกับคำที่
พบเจอหลาย ๆ คำ โดยเฉพาะภาษาที่ใช้กันบนเน็ต แต่คงจะเป็นการดี
ถ้าจะหาหลักยึดไว้สักนิด เพื่อใช้ “การ” ให้ได้ “ความ”
# ใช้ “การ” และ “ความ” ให้งามสม #


โดยทั่วไป คำที่นำมาใช้พ่วงกับ “การ” และ “ความ” นั้น มีได้ทั้ง
คำนาม คำคุณศัพท์ (ขยายนาม) คำกริยา และคำวิเศษณ์ (ขยายกริยา)
มีข้อสังเกตง่าย ๆ ดังนี้

๑. คำนามและอาการนาม มักประกอบเข้ากับ “การ” เป็นส่วนใหญ่
เช่น การบ้าน.. การเมือง.. การเรือน.. การเงิน.. การคลัง.. การครัว..
การกิน.. การนอน.. การเคลื่อนไหว.. การยิ้ม.. การมองเห็น.. การดำรงชีวิต..
การทักทาย.. การพัฒนา...ฯลฯ เป็นต้น

๒. คำกริยาเฉพาะ “มี” และ “เป็น” เมื่อประกอบกับคำนามหรือคำวิเศษณ์
ให้ใช้ “ความ”นำหน้าเสมอ เช่น ความเป็นเพื่อน... ความเป็นมนุษย์..
ความเป็นคนดี...ความมีสติ.. ความมีรสนิยม.. ความมีโชค...ฯลฯ
คำเหล่านี้ไม่นิยมใช้ “การ” นำหน้า

๓. คำกริยานอกจาก “มี” และ “เป็น” เมื่อประกอบเป็นคำนาม
อาจใช้ได้ทั้ง “การ” และ “ความ” หากมีหลักสังเกตพอเป็นข้อกำหนดได้ว่า...
ถ้ากริยาที่ใช้ มีลักษณะเป็นรูปธรรมหรือทางกายภาพ เช่น
ซื้อ.. ขาย.. จ่าย.. แจก.. เย็บ.. ปัก.. ถัก.. ร้อย.. ห้อย.. ร้อง..
ทักทาย.. ไต่ถาม..สอบสวน...ฯลฯ กริยาเหล่านี้ต้องใช้ “การ”
จะใช้ “ความ” ไม่ได้

แต่ถ้ากริยาที่ใช้ มีลักษณะเป็นนามธรรม หรือโน้มไปทางใจ
เช่น รัก..เศร้า.. เหงา..สลด..หดหู่..เบิกบาน.. หวานชื่น.. ขื่นขม..
ฟุ้งซ่าน..ท้อแท้.. ฯลฯ เหล่านี้ ต้องใช้ “ความ” นำหน้าเป็นหลักเท่านั้น

อาจมีบ้างบางคำที่ใช้ประกอบคำว่า “การ” ได้โดยอนุโลม แต่ก็ไม่เป็นที่นิยม
รู้อย่างนี้แล้ว หวังว่าคงจะพอจับหลักการใช้ “การ” ให้ได้ “ความ”
เพื่อการ “สื่อสาร” และ “สืบสาน” ภาษาไทยให้วิวัฒน์ต่อไปนาน ๆ นะจ๊ะ..

# ใช้ “การ” และ “ความ” ให้งามสม #
https://planetpt.blogspot.com/search/label/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%20%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99เกร็ดภาษาไทย/ภาษาไทย-ใช้ให้เป็น


วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เกร็ดภาษาไทย 🧨 สระเอ...ชอบเดินเซ


เสน่ห์และความงามของภาษาไทย  นอกจากความเป็นภาษาเสียง ที่มีท่วงทำนองการอ่านละม้ายคล้ายคลึงกับเสียงดนตรีแล้ว  ในแง่คำและความหมายของคำ   ยังมีความมหัศจรรย์ให้คนรักภาษาไทยและนักนิรุกติศาสตร์ได้ค้นหาอีกไม่รู้จบ  ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดประการหนึ่ง   คือคำที่เกิดจากการประสมกับสระเอ  ส่วนใหญ่มักแสดงความหมายว่า “ไม่ตรง” หรือไม่แน่นอน  ไม่เชื่อก็ลองสังเกตคำเหล่านี้ดูสิ...

(ฟัน) เก...(ตา) เข... เค้เก้...(เดิน) เฉ...(โซ) เซ...(เตร็ด) เตร่...(ลาด) เท...(หน้า) เบ้...(ขา) เป๋...โยเย...(ร่อน) เร่...เฉ (ไฉ)...เหย.(เก)....หัน (เห)....(ตา) เหล่...
               

เอ้า! ยกตัวอย่างให้ฟังก็ได้นะ อะไรบ้างล่ะ...

อย่างเช่นคำว่า โคลงเคลง โอนเอน โงนเงน หน้าเบ้ ตาเหล่ ตาเข เหยเก โยเย หันเห เค้เก้ โผเผ โซเซ  ขาเป๋ โมเม เกเร  

   

เห็นมะ... ไล่ไปเลย คำพวกนี้ ไม่มีคำไหนที่มีความหมายว่า "ตรง" ซักคำ

จะมีก็แค่คำเดียว….คำนั้นก็คือคำว่า...


เด่!  

ตรงแหน็ว  แน่นอน...


โพสต์แนะนำ

สาระนิทาน ชุด ไม้ไทยใจดี 🍽 เรื่อง "ข.ข้าว ขาว ขาว"

เขียวเอย...เขียวพรมผืนใหญ่ ใครมาถักทอไว้ แลไกลสุดตา  เจียวเอย... ตัวฉันนั่นไง  ใบ ข้าว เขียวเขียว ยืนต้นเดี่ยวเดี่ยว  ร...