-->

วันอังคารที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2555

บทกวี >> ขอสันติผลิบานตระการหล้า

ขอสันติผลิบานตระการหล้า
ขอเมตตากระอวลไอแผ่ไพศาล
ขอความรักแรเงาเคล้าดวงมาน
ขอสายธารแห่งน้ำใจไหลเรื่อยริน

ขอทุกข์ยากขวากหนามสยามรัฐ
เคียวสายลมพรมพัดวิบัติสิ้น
ขอไพร่ฟ้าหน้าหมองของแผ่นดิน
จงมีกินมีค่าประสาคน

ขอความต่างจะอย่่างไรเหมือนไม่ต่าง
ไม่ทิ้งขว้างขอบเขตของเหตุผล
ขอทุกข์เข็ญแค้นคาตำตาตน
อย่ามาเยือนแย้มให้ยลกันอีกเลย

ขอความดีคือความหวังคนทั้งโลก
รับสุขโศกโชคชตาอย่างผ่าเผย
ขอนิยามคำว่า “เพื่อน” เหมือนอย่างเคย
ยามเอื้อนเอ่ยอย่าหวานปากถากด้วยตา

ขอรอยยิ้มไมตรีจิตมิตรภาพ
กรุ่นกำซาบกลางทรวงแกมห่วงหา
ขอพลังพลุ่งโดยแรงแห่งศรัทธา
เพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่าอย่าสั่นคลอน

ขอคนโลภรู้จักพอไม่ก่อโลภ
รู้จุนเจือเอื้อโอบเมืองผุกร่อน
ขอคลองธรรมมรรคาคืออาภรณ์
ผลประโยชน์ทับซ้อนขอห่างไกล

ขอได้ไหมแผ่นดินนี้หากมีรัก
ขอตระหนักพลัดดวงก็ร่วงได้
ขอดอกไม้ธรรมาธิปไตย
บานสะพรั่งกลางใจไทยทุกคน./

วันพุธที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2555

บทกวี >> เปลี่ยน

ฤาถึงคราฟ้าเปลี่ยนสี อเวจีจึงกล้ากร้าว
เปลี่ยนถูกให้เป็นผิด
เปลี่ยนยาพิษเป็นอาหาร
เปลี่ยนดีเป็นดิบด้าน
เปลี่ยนนรกานต์เป็นธรรมา

เปลียนธุลีให้มีศักดิ์
เปลี่ยนความรักเป็นคลั่งบ้า
เปลี่ยนชั่วเป็นวิชา
เปลี่ยนศรัทธาเป็นอาจม

เปลี่ยนแผ่นดินเป็นสินทรัพย์
เปลี่ยนสรรพสัตว์ให้ขื่นขม
เปลี่ยนยิ้มใสให้ตรอมตรม
เปลี่ยนโลกกลมเป็นโลกกิน

เปลี่ยนสะคราญเป็นโสโครก
เปลี่ยนโลกงามให้ทรามสิ้น
เปลี่ยนความหวังให้พังภินท์
เปลี่ยนร่มเย็นเป็นร้อนร้าว

ฤาถึงคราฟ้าเปลี่ยนสี
อเวจีจึงกล้ากร้าว
เด็ดดึงถึงดวงดาว
แสยะยิ้มเพลินฉิมพลี...ฯ

วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ภาษาศิลป์ 📘 สร้อยคำ ๐ คำเสริม ๐ คำสร้อย


สร้อยคำนี้บางครั้งอาจเรียกว่าเป็นคำอุทานเสริมบทหรือเรียกสั้น ๆ ว่า คำเสริม ก็ได้
เสน่ห์และสุนทรียภาพในภาษาไทยอย่างหนึ่ง ซึ่งถือเป็นมรดกความงามทางวัฒนธรรมอันน่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งของคนไทยเรา คือความเป็นภาษาศิลป์ที่มีสุนทรียะผ่านทางระดับของเสียง (วรรณยุกต์) จังหวะสั้นยาว (สระ) ตลอดจนความหนักเบาหรือน้ำหนักของคำ (ครุ-ลหุ) อันทำให้สามารถก่อรูปฉันทลักษณ์ในรูปแบบต่างๆรวมทั้งสื่อแสดงอารมณ์ในเชิงวรรณศิลป์ได้มากมายอย่างยากที่จะหาในภาษาใด ๆ ในโลกมาเปรียบ

      ไม่เชื่อก็ลองอ่านหนึ่งในสุดยอดวรรณคดีไทยแห่งยุครัตนโกสินทร์ที่ชื่อ สามัคคีเภทคำฉันท์ ของท่าน “ชิต บุรทัต ท่อนนี้ดูซีครับ....

     
๏ เอออุเหม่นะมึงชิช่างกระไร   ทุทาสสถุลฉะนี้ไฉน
ก็มาเป็น
๏ ศึกบถึงและมึงก็ยังมิเห็น     จะน้อยจะมากจะยากจะเย็น
ประการใด
๏ อวดฉลาดและคาดแถลงเพราะใจ   ขยาดขยั้นมิทันอะไร  
ก็หมิ่นกู
๏ กลกากะหวาดขมังธนู   บห่อนจะเห็นธวัชริปู
สิล่าถอย…ฯลฯ

ลองอ่านออกเสียงดัง ๆ ดูสิ  พยายามจับจังหวะและนำหนักของเสียงที่เปล่งออกมา  เราอาจสัมผัสได้ถึงสื่ออารมณ์ของผู้พูดที่บริภาษออกมาด้วยความรู้สึกโกรธเกรี้ยวระคนผิดหวังรุนแรง ได้อย่างบาดลึกลงไปในจิตใจของคนฟังเลยทีเดียว...

      อีกตอนหนึ่ง....     

๐ บงเนื้อก็เนื้อเต้น      
พิศเส้นสรีร์รัว
ทั่วร่างและทั้งตัว               
ก็ระริกระริวไหว

๐ แลหลังละลามโล     
หิตโอ้เลอะหลั่งไป
เพ่งผาดอนาถใจ                        
ระกะร่อยเพราะรอยหวาย…ฯลฯ

ท่อนแรกประพันธ์ในรูปอีทิสฉันท์หรือ อีทิสังฉันท์ ๒๐ ส่วนท่อนหลังคือ อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑  แต่ทั้งสองท่อน  ต่างเต็มเปี่ยมไปด้วยความงามแห่งภาษาศิลป์ที่สะท้านสะเทือนอารมณ์ได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย..

วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สาระนิทาน ชุด ไม้ไทยใจดี 🍽 เรื่อง "ข.ข้าว ขาว ขาว"

planetp - สารนิทาน ชุด ไม้ไทยใจดี

เขียวเอย...เขียวพรมผืนใหญ่
ใครมาถักทอไว้
แลไกลสุดตา  เจียวเอย...





ตัวฉันนั่นไง  ใบข้าว
เขียวเขียว
ตัวฉันนั่นไง  ใบข้าวเขียวเขียว
ยืนต้นเดี่ยวเดี่ยว  รวมกับพวกดาษดื่น
ล้วนญาติวงศ์พงศ์เผ่า  ชาวนา ชาวน้ำ
เขามาปัก มาดำ      จนเติบโตเป็นผืน

เขาทำกันอย่างนี้                   เกือบหมื่นปีนับได้
แถบเอเชียออกใต้                   ก่อนแพร่หลายไปที่อื่น
ว่ากันตามหลักฐาน  แค่บ้านเชียงของเรา พวกเครื่องปั้นดินเผา  คลุกแกลบข้าวยืนพื้น
ว่ากันตามหลักฐาน     แค่บ้านเชียงของเรา
พวกเครื่องปั้นดินเผา  คลุกแกลบข้าวยืนพื้น

จึงพอชี้ให้เห็น           ฉันเป็นที่รู้จัก
แต่โบราณนานนัก      ช่วยให้คนอยู่ยีน

เปรียบเสมือนเพื่อนรัก  ที่แน่นหนักกว่าใคร
มีรักจริงยิ่งใหญ่       ถึงยอมให้..เคี้ยวกลืน


จึงพอชี้ให้เห็น    ฉันเป็นที่รู้จัก   แต่โบราณนานนัก   ช่วยให้คนอยู่ยีน



ดูกันแค่หน้าตา                       ฉันอาจเหมือนหญ้าอื่นอื่น
แต่ความจริงฉันแปลก           แตกต่างตรงข้อต่อ
มี “เยื่อกันน้ำ” เหนือข้อ     กับ “ตะขอ” คล้ายเขี้ยว
ส่วนพวกหญ้าสารพัน           เขามีกันอย่างเดียว
ไม่เยื่อกันน้ำก็เขี้ยว              ประกบติด “คอใบ”

วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2555

บทกวี >> มือที่ถือปากกา

มือที่ถือปากกามีค่านัก
มือที่ถือปากกามีค่านัก
ทุกรอยลักษณ์อักษรสะท้อนสิ่ง
จะเบนบิดหรือน้อมนำไขความจริง
ย่อมเอนอิงตามนิมิตแห่งจิตตน

จิตใจงามคิดความก็งามหมด
จิตใจคดก็เสื่อมเสียและสับสน
คนเป็นคนคงค่าสมค่าคน
ย่อมไม่จนใจคิดพินิจใจ

ยุคสมัยอันกำกวมต้องกล้าแกร่ง
ต้องชัดเจนแจ่มแจ้งทางที่ใช่
ไม่คลุมเครือหลอนหลอกมีนอกใน
ดังโคมไฟส่องสว่างทางสายงาม

จินตนา..คารม..คมความคิด
ถ้อยวิจิตรจากใจอันไหวหวาม
ซึ่งส่งผ่านอารมณ์เป็นคมความ
ต้องกล้าถามกล้าท้าทุกท่าที

เพื่อเผยทางสร้างสรรค์ตะวันรุ่ง
ขับม่านหมอกวันพรุ่งทุกถิ่นที่
ส่องเสี้ยนหนามรกชัฎในปัฐพี
เพื่อหลบลี้้และหาทางแผ้วถางมัน

ปากกาอาจขาดพลังไม่ดังมาก
แต่เมื่อปากต่อปากอยากรังสรรค์
เสียงก็ไพเราะดังเป็นรางวัล
อาจส่งฝันถึงวันใหม่ให้เป็นจริง

มือที่ถือปากกามีค่านัก
หากรู้จักพิทักษ์ธรรมนำทุกสิ่ง
หากบิดเบือนสัจจะหมายละทิ้ง
มันก็ยิ่งกว่าขยะสวะคน!



๑๙ กันย์ ‘๕๕
เยี่ยมชม ๐ Page...http://www.facebook.com/RaPhiPhchra?ref=hl


วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555

บทกวี >> แม่วงก์....แม่สะอื้น

เขียวขื่นกี่หมื่นเขียว โดนคมเขี้ยวเลื่อยยนต์บั่น
ขันแข็งแข่งเขมือบ
แล้วฝูงเหลือบก็รุมเข่น

ฟาดฟัดอย่างจัดเจน
บทผีดิบในดวงใจ

แม่วงก์..แม่สะอื้น
แม่จะยืนอยู่ตรงไหน
กลางฝุ่นและฟอนไฟ
หื่นตัณหาแห่งมานุษย์

แมงเกลื้อนแมลงกลาก
โผล่สำรากไม่หย่อนหยุด
มอดไม้ก็เร่งมุด
เขมือบไม้กันมุบมิบ

ป่าไม้ต้องรักษา
ปากก็ว่าตาขยิบ
เขม้นหมายไม่กระพริบ
แล้วป่าใหญ่ก็หายวับ


แลกสวยด้วยเขื่อนสูง
มยูรยูงอีกสัตว์สรรพ
ชีวิตอนันต์นับ
พินาศยับลงฉับพลัน


เขียวขื่นกี่หมื่นเขียว
โดนคมเขี้ยวเลื่อยยนต์บั่น
เพื่อคนกี่คนกัน
จึงสวรรค์ต้องวอดวาย

ฤาไทยต้องเลยเถิด
เตลิดล่มจนจมหาย
เมื่อนกรู้ต่างดูดาย
ไม่พร้อมพบสยบมัน...ฯ



วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

บทกวี >> คืนเหงา

เห็นตำตา..ตาจึงจำ..ไว้ตำใจ.
มาเพื่อชื่นดวงดาวพร่างพราวฟ้า
มาเพื่อทอดเวลาหาเหตุผล
มาเพื่อหลบหน้าหมองของผู้คน
มาเพื่อพ้นเงาทะมื่นที่กลืนเมือง

โอ้ละหนอ..ความดีที่หล่นหาย
กลับกลืนกลายเป็นเลวเสียทุกเรื่อง
แหงนมองฟ้าฟ้าเหงาเงาเรื่อเรือง
เหมือนซ่อนเคืองอัดอั้นกับฝันร้าย

คืนวันนี้..วันนั้น..หรือวันไหน
ล้วนจัญไรเจิดแจรงไม่แหนงหน่าย
สารพัดสารภัยก็ไล่ราย
เหลือเพียงเพลงสุดท้ายจะร่ายพิษ

วันพุธที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

บทกวี >> เมืองใด...

เมืองใดไร้ชื่อเรื่องซื่อตรง  จะเชิดหน้าทระนง...อย่าหวังเลย
เมืองใดไร้ซึ่งสิ่งพึงมี...
ย่อมขาดไร้ศักดิ์ศรีและคุณค่า
เมืองใดไร้ผู้ควรบูชา
ก็ได้แต่รอเวลาที่ดับลง

เมืองใดไร้ซึ่งทหารหาญ
ก็รอวันแหลกลาญเป็นผุยผง
เมืองใดไร้ชื่อเรื่องซื่อตรง
จะเชิดหน้าทระนง...อย่าหวังเลย

เมืองใดไร้ธรรมเป็นอำนาจ
กลับยอมรับทรราชย์หน้าตาเฉย
ย่อมไม่อาจอยู่เย็นเหมือนเช่นเคย
เหลือแต่ความเฉยเมยในแววตา

วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554

บทกวี >> ฤาโลกนี้มีแต่ฝันอันเหลือร้าย

นี่คือการทวงสิทธิ์ครั้งสุดท้าย เพื่อสืบลมหายใจให้พี่น้อง
ฤาโลกนี้มีแต่ฝันอันเหลือร้าย
ทุกสิ่งจึงดูสายไม่เหลือสวย
ฤาดิน ลม น้ำ ฟ้า ถึงคราม้วย
จึงโลกรวยความทุกข์ขุกเข็ญนัก

แก้วเจ้าจอม บานบุรี คลี่กลีบหม่น
ชเลชลฝูงปลาผวาหนัก
พรมพฤกษาร่ำไห้ยามทายทัก
หรือโลกนี้ป่วยหนักจนรักล้า

จึงมีแต่การทำลายไม่วายเว้น
มีแต่การฆ่าเข่นทุกหย่อมหญ้า
ทั้งผีเสื้อ เนื้อ หนอน สกุณา
ล้วนย่อยยับอัปราเพราะมือเรา

ฤาโลกนี้ไม่มีคนดีแล้ว
เพชรจึงไม่พราวแพรวเหมือนก่อนเก่า
ฤาความดีมัวไล่งับจับเงื้อมเงา
จนซึมเศร้า ดีไม่ได้.. ไปไม่เป็น

เหลือเพียงการวาดหวังที่ยังอยู่
เหลือเพียงแค่ทนดูทนรู้เห็น
อยากยืนรับลมชื่นคืนเดือนเพ็ญ
อยากกล่อมโลก ใจเย็นเย็น.. อย่าเพิ่งตาย

วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สาระนิทาน ชุด ไม้ไทยใจดี 🍌"เรื่อง กล้วย..กล้วย"

ฉันคือต้นไม้ธรรมดา รูปร่างหน้าตาแบบกล้วยกล้วย
ฉันคือต้นไม้ธรรมดา
รูปร่างหน้าตาแบบกล้วยกล้วย
ไม่เคยรู้สึก รู้สา
ก็จริงนี่นา  ฉันชื่อ...กล้วย

  ฉันชอบบุกเบิกดงดอน
ตามป่าเมืองร้อน ป่าดิบเขา
ห่มดินให้แล้งหาย..คลายร้อนเร่า
ปลุกพืชหลายเหล่า  มาเป็นเพื่อนคุย

ฉันชอบบุกเบิกดงดอน ตามป่าเมืองร้อน ป่าดิบเขา
จากป่ามาเคียงรั้วบ้าน
ยืนอยู่เหย้า ประจำยาม
พร้อมพวกพี่น้อง..เพื่อนน้ำ
กำหนดนามแตกต่างกันไป




กล้วยหอม  กล้วยน้ำว้า  กล้วยตานี
กล้วยมณี  กล้วยหักมุก  กล้วยไข่

พี่น้อง..เพื่อนน้ำ กำหนดนามแตกต่างกันไป
กล้วยนาก  กล้วยเล็บมือ  กล้วยน้ำไท
กล้วยใต้  กล้วยส้ม  กล้วยหอมจันทร์

วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เกร็ดภาษาไทย 📚 สำนวน "ศรศิลป์ไม่กินกัน", "ไม่กินเส้น"

สำนวน "ศรศิลป์ไม่กินกัน", "ไม่กินเส้น"
ตั้งใจไว้แต่เดิมว่า  จะปลีกวิเวกจากการเขียนอะไรต่อมิอะไรไปสักพักหนึ่ง  ด้วยรู้สึกจิตตกจากสาเหตุหลาย ๆ ประการดังที่เราท่านทั้งหลายต่างรับรู้กันดี  จนพลอยทำให้ตัวหนังสือทุกตัวที่วิ่งออกมาจากอารมณ์ ความคิดดูเหมือนเต็มไปด้วยความขุ่นมัว ติติง วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบต่อสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ในบ้านเมืองเสียเป็นส่วนใหญ่ สุดท้ายเลยต้องแอบขอลาหยุดกับตัวเอง  เอาแต่สวมหูฟังนั่งทอดหุ่ยฟังเพลงไปเรื่อย  จนหุ่ยที่ทอดไว้ไหม้ไปหลายตลบแล้ว..อิอิ

    เอ่ยถึงคำว่า "ทอดหุ่ย" ขึ้นมา  เลยอดสงสัยไม่ได้ว่าคำ ๆ นี้ที่มาจากไหน โดยเฉพาะคำว่า “หุ่ย”มาจากอะไร  น่าแปลกที่ขนาดถามตาเกิ้ล (คนละคนกับตาเกิ้นในเรื่อง “ล่องไพร” ของ “น้อย อินทนนท์”) ก็ยังไม่ได้เรื่อง  ยังดีที่ได้พบความไม่อยู่กับร่องกับรอยของพจนานุกรมไทยที่ยังความสับสนแก่นักเรียนและประชาชนอีกครั้งในสำนวนนี้ กล่าวคือ ในความหมายเดิม (ฉบับปี ๒๔๙๓) ราชบัณฑิตท่านให้ความหมายว่า “อาการนอนอย่างอ่อนอกอ่อนใจ” พูดง่าย ๆ ก็คือ ไม่สบายใจนั่นแหละ  แต่พอมาถึงฉบับปี ๒๕๒๕ ความหมายกลับเปลี่ยนไปเป็น “การนอนอย่างสบายใจ ปราศจากความวิตกกังวล”....คนละขั้วไปเลย
    ตัวอย่างคล้าย ๆ กันของสำนวนไทยที่แปรเปลี่ยนความหมายไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงอีกคำหนึ่งก็คือ คำว่า "ศรศิลป์ไม่กินกัน"

วันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2553

บทกวี >> ด้วยรัก....ที่รานร้าว

เอามีดมากรีดน้ำ
แล้วก็ย่ำย้ำรอยเก่า
มีแผลก็แค่เกา
สร้างบทนำคือจำยอม….

เหมือนละครน้ำครำดูซ้ำซาก
เห็นแต่ฉากรวยรูปจูบไม่หอม
วาทศิลป์กล่อมเกลี้ยงเผดียงดอม
หวังเพียงน้อมผู้คนให้ทนดู

จะปรองดองต้องปองดีเป็นที่ตั้ง
เพราะเสียงสั่งของหัวใจให้อดสู
ต่อความหมายพ่ายพับที่รับรู้
หรือตัวกูพวกกูอยู่ต่อไป

เชื่อมั่นประเทศไทย...ให้ใครเชื่อ
ถ้าตัวเองไม่เหลือความยิ่งใหญ่
ยอมระย่อต่อระยำที่ตำใจ
หวังเพียงขั้นบันไดของตนเอง

โพสต์แนะนำ

สาระนิทาน ชุด ไม้ไทยใจดี 🍽 เรื่อง "ข.ข้าว ขาว ขาว"

เขียวเอย...เขียวพรมผืนใหญ่ ใครมาถักทอไว้ แลไกลสุดตา  เจียวเอย... ตัวฉันนั่นไง  ใบ ข้าว เขียวเขียว ยืนต้นเดี่ยวเดี่ยว  ร...