-->

วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2553

เกร็ดภาษาไทย 🌀 บล๊อก...บล็อก...ไม้เจ็ด...ไม้แปด...หลักการใช้ไม้ตรี ไม้ไต่คู้

เผลอไปกับเทศกาลงานฉลองช่วงลงปีเก่าขึ้นปีใหม่เพียง
แว่บเดียว วันเวลาก็ผ่านเลยครึ่งเดือนแรกของปีแล้ว
สมกับคำที่โบราณท่านว่าไว้จริง ๆ “เวลาและวารี ไม่เคยรอรีคอยท่าใคร...”
ขอเปิดศักราชใหม่ต้อนรับปีเสือด้วยคำง่าย ๆ ว่า “บล็อก” ที่บังเอิญได้ยินวัยรุ่นเขาคุยกัน
ว่าอยากจะทำนี่แหละ แล้วจึงเลยไปถึงการถกเถียงกันเรื่องไม้เจ็ดไม้แปดไปโน่น
ตอนแรกนึกว่าเขากำลังพูดถึงเรื่องวิ่งผลัด...
เอ..แล้ววิ่งผลัดประเทศไหนกันนะที่มีไม้เจ็ดไม้แปด สุดท้ายจึงจับความได้ว่า ไม้เจ็ดไม้แปดที่เขาหมายถึงก็คือ ไม้ตรีและไม้ไต่คู้ที่ใช้สะกดคำว่า “Blog”ในภาษาไทยนี่เอง จะใช้ไม้อะไรดี...
ที่จริง ถ้าจับหลักได้ก็ง่ายนิดเดียวสำหรับการทำความเข้าใจในเรื่องนี้

เริ่มจากไม้ตรีหรือ ๗ หรือเลขเจ็ดไทยเด็กบางคน เรียกก่อน..
เรารู้กันอยู่แล้วว่า ไม้ตรี คือวรรณยุกต์ที่ใช้ผันเสียงตรีให้กับอักษรกลางเท่านั้น ส่วนอักษรต่ำ จะต้องใช้ไม้โทในการผันเสียงตรี...


หลักข้อต่อมา ว่าด้วยไม้ไต่คู้...
ไม้ไต่คู้ เป็นเครื่องหมายกำกับสระให้ออกเสียงสั้น และใช้กำกับเฉพาะพยางค์ที่มีตัวสะกด เท่านั้น ยกเว้นคำว่า “ก็”ซึ่งลดรูปมาจาก “เก้าะ” เป็นคำเฉพาะเพียงคำเดียว นอกนั้น มักใช้วิธีเปลี่ยนรูปไปเลย เช่น เอะ+น = เอ็น, เหะ+น = เห็น, แขะ+ง = แข็ง, เลาะ+ก = ล็อก เป็นต้น..

โดยทั่วไป ไม้ไต่คู้มักใช้กำกับคำไทยและคำจากภาษาอื่นที่ไม่ใช่บาลี สันสกฤตเพื่อกำหนดให้ออกเสียงสั้น เช่น เค็ม เซ็ง เผ็ด เสร็จ เสด็จ ฮาเร็ม ช็อกโกเล็ต...ฯลฯ ที่ไม่ต้องการออกเสียงสั้นก็ไม่ต้องใส่ไม้ไต่คู้เช่น เลน เสน เบน เอน...ฯลฯ ส่วนคำที่มาจากภาษาบาลี สันสกฤต ถือเป็นข้อต้องห้ามมิให้ใช้ไม้ไต่คู้กำกับ แม้จะออกเสียงสั้นก็ตามตัวอย่างคำเหล่านี้ที่เราคุ้นเคยกันดีก็เช่น คำว่า เพชร เบญจวัคคีย์ เป็นต้น

ปัญหาต่อไปที่น่าพิจารณาก็คือ แล้วเสียงตรีได้มาจากไหน ในเมื่อไม้ไต่คู้ไม่ใช่วรรณยุกต์ แต่ทำไมจึงมีอำนาจผันเสียง ดังที่ปรากฎในคำว่า “ลอก” (เสียงโท) กลับกลายเป็นเสียงตรีทันทีที่ใส่ไม้ไต่คู้กำกับ (ล็อก)
 เช่นเดียวกับคำว่า “บลอก” (เสียงเอก) ซึ่งมีอักษรนำเป็นอักษรกลางจึงออกเสียงตรีได้ก็ต่อเมื่อมีวรรณยุกต์ตรี (๗) กำกับ (บล๊อก) แต่เนื่องจากแม้มีเสียงตรีปรากฏ ก็ยังมิใช่ออกเสียงสั้นอย่างแท้จริง จึงต้องใช้ไม้ไต่คู้กำกับ เพื่อให้ได้เสียงสั้นตามต้องการ

คำตอบของการผันเสียง จึงมิได้อยู่ที่ไม้ใต่คู้แต่อย่างใด หากอำนาจของการผันเสียงอยู่ที่พยัญชนะ
ที่ผันไปตามอักษรสูง กลาง ต่ำ นั่นเอง...
คำว่า Blog เมื่อเขียนเป็นภาษาไทยจึงควรใช้ว่า “บล็อก” เช่นเดียวกับคำว่า Taxi เมื่อ
เขียนเป็นภาษาไทยก็ควรใช้ “แท็กซี” โดยอาศัยหลักเดียวกัน
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้...

                                   บล๊อก...บล็อก...ไม้เจ็ด...ไม้แปด...หลักการใช้ไม้ตรี ไม้ไต่คู้
เกร็ดภาษาไทย/ภาษาไทย-ใช้ให้เป็น   https://planetpt.blogspot.com/search/label/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%20%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99

วันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2552

นิทานชวนเพลิน 🧚‍♂️ : นุ้ยกับนกเอี้ยงวิเศษ

นิทานชวนเพลิน >> นุ้ยกับนกเอี้ยงวิเศษ
นุ้ยเป็นเด็กเลี้ยงควายอยู่ในชนบทแห่งหนึ่ง เขายากจนมากเพราะกำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่ยังเล็ก ดังนั้น จึงต้องรับจ้างเลี้ยงควายให้กับพวกชาวนา เพื่อแลกที่พักและข้าวปลาอาหารไปวัน ๆ
สมบัติที่นุ้ยมีติดตัวก็คือ เสื้อผ้าที่ทั้งเก่าและขาดซึ่งสวมใส่อยู่ กับมีดอีกเล่มหนึ่ง แต่เขาก็ไม่รู้สึกเดือดร้อนกับความลำบากยากจนของตนแต่อย่างใด เพราะเขามีความคิดฝันอยู่เสมอว่า สักวันหนึ่งเขาจะต้องประสบโชคดี
ทุกครั้งที่นุ้ยนั่งอยู่บนหลังควาย นุ้ยมักจะร้องเพลงอย่างมีความสุข และฝัน..ฝัน..ฝัน ถึงโชคของเขา

น่าเสียดายที่ทุก ๆ วัน นุ้ยต้องวุ่นวายอยู่กับฝูงควายที่ตนเลี้ยงอยู่ตลอดเวลา
ต้องพาไปกินหญ้า กินน้ำ อาบน้ำ คอยขับไล่ไม่ให้ควายบุกรุกเข้าไปในที่นาของคนอื่น และยังต้องคอยดูแลควายบางตัวที่เกเรอีก
นุ้ยได้แต่เลี้ยงควายและ..ฝัน..ฝัน ถึงโชค
ดังนั้น นุ้ยจึงไม่มีโอกาสออกไปหาโชค และไม่เคยคิดออกไปหา นอกจากรอคอยให้โชคเข้ามาหาตัวเอง
วันแล้ว..วันเล่า โชคดีก็ไม่มาหานุ้ยสักที นุ้ยได้แต่คอย..คอย..คอย และฝัน..ฝัน..ฝันนิทานชวนเพลิน >> นุ้ยกับนกเอี้ยง
จนกระทั่งวันหนึ่ง มีนกเอี้ยงวิเศษตัวหนึ่งบินผ่านมา มันเห็นนุ้ยนั่งเหม่ออยู่ใต้ต้นไม้ จึงบินมาเกาะข้าง ๆ และซักถามเรื่องราว พอทราบเรื่องมันก็หัวเราะ
“โธ่เอ๊ย...เรื่องแค่นี้เอง” มันพูด “ถ้าจะมีอะไรในโลกนี้ที่หาได้ง่ายที่สุดแล้วละก้อ ฉันว่า “โชค” นี่แหละที่หาง่ายกว่าเพื่อน ง่ายยิ่งกว่าหากล้วยกินเสียอีก”
นกเอี้ยงเสนอโชคให้นุ้ย
นุ้ยได้ฟังดังนั้นก็ดีใจยิ่งนัก รีบพูดขึ้นว่า “ถ้าอย่างนั้น เรามาแลกกันไหมล่ะ ฉันจะหากล้วยมาให้เธอ ส่วนเธอก็ไปหาโชคมาให้ฉัน เอาไหม”
พอนกเอี้ยงวิเศษรับคำ นุ้ยก็รีบวิ่งไปหากล้วยมาป้อนนกเอี้ยงวิเศษทันที แต่ด้วยความรีบร้อน เขาจึงทำกล้วยหล่นลงบนพื้นจนเปรอะเปื้อนไปหมด
“นุ้ย..นุ้ย..ลองใหม่อีกครั้ง” นกเอี้ยงวิเศษร้องขณะโผบินไปเกาะกิ่งไม้ใกล้ ๆ “เธอควรจะทำรังให้ฉันนะ แล้วเอากล้วยไปวางไว้ในนั้น ฉันจะได้กินง่าย ๆ แล้วฉันจะได้ไปนำโชคมาให้เธอ”“นุ้ย..นุ้ย..ลองใหม่อีกครั้ง” นกเอี้ยงวิเศษร้อง
นุ้ยจึงไปตัดกิ่งไม้เล็ก ๆ มาเป็นจำนวนมาก และนำมาประกอบกันเข้าจนกลายเป็นรังนกที่สวยงาม มีปล่องอยู่ตรงหลังคา และมีประตูทางเข้ากับหน้าต่างบานเล็ก ๆ ไว้ให้นกเอี้ยงมองทิวทัศน์ภายนอก ตรงกลางห้องมีคอนไม้กลม ๆ แขวนโยงด้วยเถาวัลย์เส้นเล็ก ๆ จากเพดาน สำหรับเป็นที่นอนของนกเอี้ยงวิเศษ
พอสร้างเสร็จ นุ้ยก็นำไปให้นกเอี้ยงวิเศษดู...
“ฉันอยู่รังอย่างนี้ไม่ได้หรอก เดี๋ยวแมวร้ายจะมารังแกฉัน นุ้ย..นุ้ย..รังนี้มันเล็กเกินไป..”
“นุ้ย..นุ้ย นี่เธอทำรังไว้ให้ใครอยู่นะ” นกเอี้ยงวิเศษร้องขึ้น “ฉันอยู่ในรังอย่างนี้ไม่ได้หรอก เดี๋ยวแมวร้ายจะมารังแกฉัน นุ้ย..นุ้ย..รังนี้มันเล็กเกินไป..” ว่าแล้ว นกเอี้ยงวิเศษก็โผบินขึ้นสู่ท้องฟ้า โดยไม่ยอมกินกล้วยที่นุ้ยวางไว้ให้เลย
นิทานชวนเพลิน >> นุ้ยกับนกเอี้ยงวิเศษ
“ถ้าฉันสร้างรังให้ใหญ่และสวยงาม มีลักษณะเหมือนบ้านมากกว่านี้ นกเอี้ยงวิเศษคงจะชอบและนำโชคมาให้ฉัน” นุ้ยคิดแล้วจึงไปขอยืมขวานจากชาวนาผู้เป็นเจ้าของควายที่ตนรับจ้างเลี้ยง พอได้ขวานมาก็ไปขอตัดไม้ในที่ดินของเพื่อนบ้านมาจำนวนหนึ่ง
นุ้ยเริ่มทำงาน...ทำงาน...และทำงาน ตั้งแต่เช้าจรดค่ำทุกวัน จนไม่มีเวลาเลี้ยงควาย และต้องขอให้ชาวนาผู้อารีดูแลควายของตนต่อไปตามเดิม
นุ้ยเริ่มทำงาน...ทำงาน...และทำงาน ตั้งแต่เช้าจรดค่ำทุกวัน
หลายเดือนต่อมา รังใหม่ที่ใหญ่โตจนดูเหมือนกระท่อมหลังน้อย ๆ ก็เสร็จสิ้นพร้อม ๆ กับร่างกายของนุ้ยก็เติบโตและแข็งแรงกว่าเดิมเป็นอันมาก
กระท่อมหลังนี้มีห้องนอน ๒ ห้อง กับห้องนั่งเล่น ๑ ห้อง และยังมีห้องใต้หลังคาซึ่งมีประตูเล็ก ๆ ไว้ให้นกเอี้ยงวิเศษบินเข้าออกได้อีกทางหนึ่ง
นุ้ยรู้สึกภูมิใจกับกระท่อมที่สร้างขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเองเป็นอย่างมาก“ฉันจะต้องสร้างบ้านให้ใหญ่และสวยงามกว่านี้มาก ๆ ต้องทำให้นกเอี้ยงวิเศษพอใจให้ได้”
น่าสงสารนุ้ยเสียจริง เจ้านกเอี้ยงวิเศษไม่ชอบกระท่อมของนุ้ยเลย ทันทีที่มันเห็นเข้าก็ร้องขึ้นว่า “นุ้ย..นุ้ย.. เธอสร้างกระท่อมไว้ให้ใคร ฉันอยู่กระท่อมแบบนี้ไม่ได้หรอก มันไม่สวยงามพอสำหรับนกเอี้ยงวิเศษอย่างฉัน” ว่าแล้ว นกเอี้ยงวิเศษก็บินจากไปโดยไม่ยอมแตะต้องกล้วยที่นุ้ยจัดเตรียมไว้ให้อีกเช่นเคย
“ฉันจะต้องสร้างบ้านให้ใหญ่และสวยงามกว่านี้มาก ๆ ต้องทำให้นกเอี้ยงวิเศษพอใจให้ได้” นุ้ยคิด แล้วจึงไปขอยืมขวาน เลื่อย สิ่ว และค้อนจากชาวนาผู้อารีอีกครั้ง พอได้มาก็ไปขอตัดต้นไม้ในที่ดินของเพื่อนบ้านอีกหลายต้น แล้วเริ่มสร้างบ้านหลังใหม่ทันที
นุ้ยทำงาน..ทำงาน..และทำงานอย่างหนักทุกวันนุ้ยทำงาน..ทำงาน..และทำงานอย่างหนักทุกวัน เลื่อยไม้ ทำเสาเข็ม เหลากระดานและฝาบ้านเป็นจำนวนมาก จากนั้นก็นำมาประกอบกันอย่างประณีต ทีละชิ้น ๆ จนบ้านหลัง ๆ ค่อย ๆ ปรากฎเป็นรูปเป็นร่างขึ้นทีละน้อยนิทานชวนเพลิน >> นุ้ยกับนกเอี้ยงวิเศษ
หลายปีผ่านไป บ้านหลังใหญ่ที่สวยงาม แข็งแรง ก็เสร็จสมบูรณ์ ขณะที่นุ้ยก็เติบโตเป็นชายหนุ่มที่สง่างาม แข็งแรง และมีความสามารถทางช่างไม้มาก
นุ้ยเติบโตเป็นชายหนุ่มที่สง่างาม แข็งแรง และมีความสามารถทางช่างไม้มาก น่าเสียดายที่นกเอี้ยงวิเศษไม่เห็นบ้านหลังนี้ มันไม่เคยปรากฎกายอีกเลยนับแต่นุ้ยเริ่มสร้างบ้านหลังนี้
เช่นเดียวกับนุ้ยที่ใจจดใจจ่ออยู่กับการสร้างบ้าน จนหลงลืมนกเอี้ยงวิเศษไป แต่เขาก็ไม่ใส่ใจ เพราะบัดนี้ นุ้ยรู้แล้วว่าการทำงานที่ตนทุ่มเทลงไปนั้น ก่อให้เกิดสิ่งที่ดีกว่า “โชค” เป็นไหน ๆ
บัดนี้ นุ้ยรู้แล้วว่าการทำงานที่ตนทุ่มเทลงไปนั้น ก่อให้เกิดสิ่งที่ดีกว่า “โชค” เป็นไหน ๆ
นุ้ยเติบใหญ่ขึ้นเป็นชายหนุ่มรูปร่างสง่างาม มีบ้านหลังใหญ่เป็นที่อาศัย ทั้งยังเป็นช่างไม้ฝีมือดีที่ใคร ๆ อยากจ้างให้ไปช่วยสร้างบ้านให้เสมอ ๆ
นุ้ยไม่เคยคิดฝันถึงโชคอีกเลย...


นิทานชวนเพลิน >> นุ้ยกับนกเอี้ยงวิเศษ
https://planetpt.blogspot.com/search/label/%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%AD

วันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เกร็ดภาษาไทย 🎗 หลักการ (ไม่) ใช้ไม้ยมก

        เคยรู้สึกสะดุดตา สะดุดใจบ้างไหม เวลา เขียน คำวำ “ต่าง ๆ นานา” ทำไมไม่เขียนว่า “ต่าง ๆ นา ๆ” หรือ “ต่างต่างนานา”

        นั่นก็เป็นเพราะคำว่า “นานา” เป็นคำสำเร็จรูปมาจากภาษาบาลี แปลว่า “ต่าง ๆ” อยู่แล้ว จึงไม่เขียน “นา ๆ”.....

        นี่ก็พอจะนับเป็นหลักโดยอนุโลมหลักหนึ่งของการไม่ใช้ไม้ยมกกับคำที่ไม่ใช่คำไทย.....

        ดังได้กล่าวมาแล้วว่า 'ยมก' แปลว่า “คู่” ซึ่งหมายถึงการออกเสียงซ้ำนั่นเอง และอาจเป็นการออกเสียงซ้ำคำ เช่น งู ๆ ปลา ๆ , ซ้ำวลี เช่น แต่ละคน ๆ  หรือซ้ำทั้งประโยค เช่น น้องเฌอกลับมาแล้ว ๆ ก็ได้

        ทีนี้จะรู้ได้อย่างไรว่า กรณีไหนจึงจะใช้ไม้ยมกกำกับท้ายคำหรือความที่ต้องการออกเสียงซ้ำ และกรณีไหนห้ามใช้ไม้ยมกกำกับ


        ที่จริง ถ้าจะจำหลักการใช้ไม้ยมก  ถ้าจะให้ดี น่าจะจำหลักการงดใช้น่าจะง่ายและสะดวกกว่า

ประการแรก - คำพ้องรูปที่ทำหน้าที่ต่างชนิดกัน จะไม่ใช้ไม้ยมก เช่น นี่ไม่ใช่ที่ที่ควรอยู่, ดินสอ ๓ แท่ง แท่งละ ๕ บาท...ฯลฯ

ประการต่อมาคำพ้องรูปที่เป็นคำคนละความหมาย ก็เช่นกัน ห้ามใช้ไม้ยมก เช่น นี่ของของหนูนะ, ที่บางปลาปลาสลิดอร่อย...ฯลฯ

ประการที่สาม - ไม่ใช้ไม้ยมก เมื่อรูปคำเดิมเป็นคำสองพยางค์ซ้ำกัน เช่นคำว่า นานา,จะจะ, หรือหลัดหลัด เป็นต้น

ประการที่สี่ - คำที่ให้ความหมายเชิงเอกพจน์ คนคนนั้น (คนเดียว) หนู..หนู..(หมายถึงเด็กคนเดิมแต่เรียกสองหน) แต่ถ้าใช้ หนู ๆ เช่นนี้ หมายถึงเด็ก ๆ หลายคน

ประการสุดท้าย - คำในภาษากวี มักนิยมเขียนซ้ำ ไม่นิยมใช้ไม้ยมก เช่น ใดใดในโลกล้วน อนิจจัง, เรืองเรืองไตรรัตน์พ้น พันแสง, ทิ้งทั้งหนูน้อยน้อยร่อยร่อยรับ..ฯลฯ

        ที่น่าสังเกต ก็คือ นอกจากไม้ยมกจะสื่อแสดงถึงความซ้ำกันของคำหรือความแล้ว บางครั้ง ไม้ยมกยังสื่อแสดงถึงภาษาอารมณ์ได้ด้วยโดยเฉพาะใช้ในเชิงแสดงความรำคาญ ความหงุดหงิด งุ่นง่าน เช่น เบื่อคนบ่น เอาแต่บ่น ๆๆๆๆๆ อยู่นั่นแหละ, โอ๊ย...เมื่อไหร่จะเสร็จเสียที มัวแต่เขียนคิ้ว เขียน ๆๆๆๆ
อยู่ได้...ฯลฯ

         ยิ่งสมัยนี้ ไม้ยมกยิ่งไปไกลถึงขนาดติดอาร์ก้าหรือเอ็มสิบหกในการให้ความหมายไม่จำกัดแทนความหมายแค่สองเหมือนที่เคย เช่น ปัง..ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ
จนไม้ยมกเต็มบรรทัดก็ยังมี...

        เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ หวังว่าคงช่วยให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นนะครับ.

    
https://planetpt.blogspot.com/search/label/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%20%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99เกร็ดภาษาไทย/ภาษาไทย-ใช้ให้เป็น                                                 


วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เกร็ดภาษาไทย 🎗 ตำนานไม้ยมก


เขียนเรื่องเด็ก ๆ มาหลายตอนแล้ว ขอพักมาพูดเรื่องภาษาไทยของเรากันบ้าง
วันนี้ ขอพูดถึงเรื่องการใช้ไม้ยมก เพราะว่ากันอันที่จริง เราเพิ่งมีไม้ยมกใช้กันในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาสมัยพระชัยราชานี่เอง ก่อนหน้านั้น แม้แต่ตำราภาษาไทยเล่มแรกของไทยคือ “จินดามณี” ซึ่งเรียบเรียงขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ยังไม่มีไม้ยมกใช้

        “อนึ่ง แม่หนังสือแต่ก กา ถึงกนฯลฯจนถึงเกยนั้น เมืองขอมก็แต่งมีอยู่แล้ว
พญาร่วงเจ้า (พ่อขุนรามคำแหง) จึงให้แต่งรูปอักษรไท ต่างต่าง...”

แสดงว่า ไม้ยมกสมัยนั้น ยังไม่มีใช้...


         จนอีกกว่าร้อยปีต่อมานั่นแหละ จึงปรากฏในจารึกวัดเขมา (หลักที่ ๑๔) ความว่า “แลกูเกิดมาชาติใด ๆ ก็ดี ขอกูจุ่งมีปรีชญาณแลสมบัติเกิดมาแด่กูทุก ๆ กำเนิด...”

        ปรากฎรูป “ๆ” ขึ้นตอนนี้เอง ส่วนข้อที่ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น สันนิษฐานกันว่า เพราะความขี้เกียจของอาลักษณ์หรือเสมียนเขียนหนังสือ ที่เห็นว่าคำเหมือนกันจะไปเขียนสองครั้งให้เมื่อยทำไม เลยเขียนเป็นเลข “๒” ต่อมาเลยเกิดลัทธิเอาอย่างให้เสมียนคนอื่น ๆ เขียนตาม จนเกลื่อนกลายมาเป็นขาเหยียดตรงอย่างที่เห็นกันทุกวันนี้
       
         ปรากฏการณ์เช่นนี้ในภาษาไทย ชวนให้นึกไปถึงที่มาของคำไทยอีกคำหนึ่งคือ "ณ" ซึ่งใช้ในความหมายปัจจุบันแปลว่า "ที่อยู่,ที่ตั้ง" อาจมาจากการเขียนว่า "ใน" อย่างหวัด ๆ เร็ว ๆ จนอ่านเห็นเป็น "" ก็น่าจะเป็นไปได้เช่นกัน

        คำว่า “ยมก”เป็นคำมาจากภาษาบาลี แปลว่า “คู่” หรือ “แฝด” แปลกตรงที่ว่าในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาซึ่งมีคำว่า “ยมกปาฎิหาริย์” ปรากฎอยู่นั้น คำว่า“ยมกปาฎิหาริย์” มิได้มีความหมายว่าคู่เหมือนแต่อย่างเดียว หากยังแปลความหมายถึงการแสดงปาฎิหาริย์เป็นคู่ ๆ แม้จะเป็นคู่ต่างด้วย เช่นพระหัตถ์ซ้ายทรงบันดาลให้เกิดเป็นสายน้ำพวยพุ่งออกมาขณะพระหัตถ์ซ้ายทรงบันดาลให้เกิดเปลวไฟลุกโชนขึ้นมาพร้อมกันด้วย

        ชักจะยาว...เห็นทีจะต้องยกยอดไปพูดถึงเรื่องหลักการใช้ไม้ยมกให้เป็นเรื่องเป็นราวในคราวต่อไป...

                                         


วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2552

นิทานสราญใจ : เรื่อง "หนูแพงรวยเพื่อน"

เด็กหญิงแพง มีเพื่อนมากมาย

ทั้งหญิงทั้งชาย สัตว์น้อยนานา


หนูตัวนิด แมลงปอตัวน้อย

เจ้ากบเล็กจ้อย
จิ้งโกร่งเพื่อนยาสี่สหาย รักใคร่กันดี
เพราะแพงใจดี มีใจเมตตา

รักสัตว์เลี้ยง ไม่ทิ้งไม่ขว้าง
ทุกวันยามว่าง เล่นหัวเฮฮา


อ้าว..เอ๊ะ..ว้า..! ต้องเลิกแล้วซี
คุณพ่อเรียกนี่ ต้องรีบไปหา

ไปก่อนละ สวัสดีเกลอ
อยู่ดีนะเออ เดี๋ยวแพงกลับมา
ดีใจจัง พ่อชวนไปเที่ยว
ไร่นาป่าเขียว หนูแพงยิ้มร่า


พร้อมแล้วละ ทั้งเสบียงกรัง
ข้าวของรองนั่ง มา..ขึ้นรถมา
ผ่านเขตเมือง ตัดตรงตามทาง

ชานกรุงทุ่งกว้าง จุดหมายปลายนา
เพลินชมป่า ละเมาะหมู่ไม้
ดอกหญ้าฟ้าใส สวยงามนักหนา

โน่น..ขุนเขา โน่นนกเล่นลม
ผลัดชวนชี้ชม
กันตามประสา
เห็นทิวไม้ ชายไร่ริมทาง
ไม้บานลานกว้าง ดูดูเข้าท่า

จอดตรงนี้ แม่ว่าดีไหม
เอาซิตามใจ อยากพักเต็มประดา
อ่อ..อี๊..ออ แมลงปอปีกใส
มาได้ยังไง นะเจ้าเพื่อนยา
ดี..ดี๊..ดี ได้มีเพื่อนเล่น
กลางสายลมเย็น ทุ่งกว้างกลางนา
เดี๋ยวก่อนจ้ะ มานั่งพักก่อน
เหนื่อยหายคลายร้อน ค่อยเล่นดีกว่า


พ่อยิ้มแต้ แม่หยิบของข้าว
แพงเปิดกระเป๋า โอ๊ย..ตายละวา
มากันครบ หนู, กบ, ปอ, โกร่ง
ไหนให้อยู่โยง เฝ้าบ้านนี่นา

สี่สหาย บิดกายเผ่นแผล็ว
ไม่พูดด้วยแล้ว เผ่นหนีดีกว่า
แพงเอ๋ยแพง แข็งแรงกว่าใคร
เก่งจริงวิ่งไล่ ให้ทันสิวา

ก็ได้..ก็ได้ แพงวิ่งไล่ตาม
ทั่วทั้งสนาม สรวลเสเฮฮา

ดอกไม้บาน ริมธารน้ำใสโยกกิ่งเอนไกว   พริ้วไหวเริงร่า

ใกล้คนดี ชีวีสดใส
ชื่นฉ่ำหัวใจ เป็นของธรรมดา

เผลอวิ่งเล่น ไล่ตามสหาย
เดี๋ยวเดียวรอบกาย     หลายสัตว์ตามมา

 

มาแล้วค่ะ คุณพ่อคุณแม่
โอ๊ย..ตายแน่แน่ เป็นพรวนตามมา

เพื่อนทั้งนั้น นั่นเพื่อนนี่เพื่อน
ทิ้งทางกลางเถื่อน หวังร่วมชายคา

พ่อกับแม่ ได้แต่มองตา
ยิ้มพรายส่ายหน้า เอ้า..มาก็มา.






วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เพลง [s] มวยมด




                           มดน้อยน้อยต่อยกัน ชกชิดชิดติดพัน
มุดมุดใช้หนวดดัน มันไม่กัด
ขานิดนิดเหยียดยัน แขนแย็ปแย็ปฉับพลัน
หัวเล็กเล็กเขกกัน มันคงท้า...

**มาประลองกันไหม ให้รู้สักที
ใครจะโดน ใครดี ใครเก่ง
มาลองดูสักครั้ง อย่างมดนักเลง
ลองจนยอมไปเอง ดีไหม...

มดน้อยน้อยต่อยกัน มุทะลุดุดัน
พิษเม้มมิดติดฟัน ไม่เคยกัด
พิษร้ายร้ายอย่างมัน ขืนคิดร้ายต่อกัน
แม้นยับยั้งไม่ทัน มันคงรู้

มาแรงเกินไปแล้ว ไม่แคล้วปางตาย
มาสบาย สบายดีกว่า
ใครจะเร็ว จะล้า แค่ท้าประลอง
ใครจะยอมเป็นน้อง เป็นพี่**

[s] จ้ำจี้...ดอกไม้ไทย [s]



จ้ำจี้...ดอกไม้ไทย

จ้ำจี้..มะลิวัลย์        นมสวรรค์ ชองระอา
ชะลูด เฟื่องฟ้า        สายหยุด มะลุลี

อินทนิล โปร่งฟ้า    โนรา บานบุรี
อัญชัน ปันหยี        การเวก ช้องแมว

ประดู่ กระดังงา        รกฟ้า นมแมว
ลำดวน เกด แก้ว    ติ้ว แต้ว นนทรี

อิน จัน คูน แค        บุนนาก สารภี
พิกุล จำปี         ศรีตรัง ลั่นทม

จ้ำจี้ดอกไม้ไทย     ตาใช้ ยายชม
คุณปู่เคยดม        หอมไปติดย่าเลย

จ้ำจี้...ดอกไม้ไทย

[s] เพลินเพลงอนุบาล [s]


๑. แมงมุม

แปดขาโย่งเย่ง
เดินโคลงเคลงอยู่บนหลังคา
แมลงวันถลันไปไถลมา
โอ๊ะ.. โอ๊ะ.. เสียท่า ติดใยแมงมุม.

๒. ปูขาเก
ปูขาเก เดินโซเซ เดินโซเซ
ตาซ้ายไม่เหล่ ตาขวาไม่เข
ทำไมเดินเซ เย้..เย เย้..เย..

๓. ลูกเป็ด กิ่ว..กิ๊ว..กิ่ว..กิ๊ว..กิ่ว..กิ๊ว..กิ่ว
ลูกเป็ดชักหิว อยากกินอาหาร
แม่เป็ดชวนลงลำธาร
สุดแสนสำราญ หาหอย ปู ปลา

๔. ลิง

ท่าทางดูคล้ายคล้ายคน
แต่แสนซุกซน เพราะว่ามันเป็นลิง

๕. แมลง บิน..บินไป..
แมลงมีไฝ บินไปเป็นหมู่
เอ๊ะ..เอ๊ะ นี่ผงอะไร
เกสรดอกไม้ ติดอยู่ในรูหู..

๖. แมวหง่าว
ปึงปัง ปึงปัง โปกเปก
เสียงโป๊กเป๊ก ดังมาจากครัว
นั่นแน่ เจ้าแมวสามตัว
เล่นกันในครัว โครมคราม..โปกเปก


๗. เดินเป็ด

เป็ดมันเดิน เดิน เป็ดมันเดิน เดิน
ดูแล้วเพลิดเพลิน มันเดินอย่างเป็ด
กิ๊บกับ..กิ๊บกับ..กิ๊บกับ..กิ๊บกับ


๘. ไข่ขอขา


ข.ไข่..ข.ไข่ ขอขา
อยากเดินตามหา แม่ไก่สักที
ข.ไข่ นับวันเดือนปี
รอขาดีดี จะได้ร้องจิ๊บ..จิ๊บ

๙. นกเขา
กรุ๊กกรู๊..กรุ๊กกรู๊.. นกเขาขันคู กรุ๊กกรู๊..กรุ๊กกรู๊
แม่นกตาหวาน บินผ่านมาหาคู่
ยินเสียงกรุ๊กกรู๊ อยู๋ไหนจ๊ะ..อยู๋ไหนจ๊ะ


๑๐. ลมพัดลมพัด ลมพัดฉิวฉิว
ใบไม้ปลิดปลิว หวิว หวิว ตามลม
ร่วงไป ร่วงไปเป็นผ้าห่ม


**********************
ฟังเพลงอนุบาลขุด "พระอาทิตย์ยิ้มแฉ่ง และ "ก.ไก่ ร็อกเก้ "


https://drive.google.com/drive/folders/16U8KgNm5uqGFjan0-kc9ljYnADsp65fC









โพสต์แนะนำ

สาระนิทาน ชุด ไม้ไทยใจดี 🍽 เรื่อง "ข.ข้าว ขาว ขาว"

เขียวเอย...เขียวพรมผืนใหญ่ ใครมาถักทอไว้ แลไกลสุดตา  เจียวเอย... ตัวฉันนั่นไง  ใบ ข้าว เขียวเขียว ยืนต้นเดี่ยวเดี่ยว  ร...