-->

วันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เกร็ดภาษาไทย 🎗 หลักการ (ไม่) ใช้ไม้ยมก

        เคยรู้สึกสะดุดตา สะดุดใจบ้างไหม เวลา เขียน คำวำ “ต่าง ๆ นานา” ทำไมไม่เขียนว่า “ต่าง ๆ นา ๆ” หรือ “ต่างต่างนานา”

        นั่นก็เป็นเพราะคำว่า “นานา” เป็นคำสำเร็จรูปมาจากภาษาบาลี แปลว่า “ต่าง ๆ” อยู่แล้ว จึงไม่เขียน “นา ๆ”.....

        นี่ก็พอจะนับเป็นหลักโดยอนุโลมหลักหนึ่งของการไม่ใช้ไม้ยมกกับคำที่ไม่ใช่คำไทย.....

        ดังได้กล่าวมาแล้วว่า 'ยมก' แปลว่า “คู่” ซึ่งหมายถึงการออกเสียงซ้ำนั่นเอง และอาจเป็นการออกเสียงซ้ำคำ เช่น งู ๆ ปลา ๆ , ซ้ำวลี เช่น แต่ละคน ๆ  หรือซ้ำทั้งประโยค เช่น น้องเฌอกลับมาแล้ว ๆ ก็ได้

        ทีนี้จะรู้ได้อย่างไรว่า กรณีไหนจึงจะใช้ไม้ยมกกำกับท้ายคำหรือความที่ต้องการออกเสียงซ้ำ และกรณีไหนห้ามใช้ไม้ยมกกำกับ


        ที่จริง ถ้าจะจำหลักการใช้ไม้ยมก  ถ้าจะให้ดี น่าจะจำหลักการงดใช้น่าจะง่ายและสะดวกกว่า

ประการแรก - คำพ้องรูปที่ทำหน้าที่ต่างชนิดกัน จะไม่ใช้ไม้ยมก เช่น นี่ไม่ใช่ที่ที่ควรอยู่, ดินสอ ๓ แท่ง แท่งละ ๕ บาท...ฯลฯ

ประการต่อมาคำพ้องรูปที่เป็นคำคนละความหมาย ก็เช่นกัน ห้ามใช้ไม้ยมก เช่น นี่ของของหนูนะ, ที่บางปลาปลาสลิดอร่อย...ฯลฯ

ประการที่สาม - ไม่ใช้ไม้ยมก เมื่อรูปคำเดิมเป็นคำสองพยางค์ซ้ำกัน เช่นคำว่า นานา,จะจะ, หรือหลัดหลัด เป็นต้น

ประการที่สี่ - คำที่ให้ความหมายเชิงเอกพจน์ คนคนนั้น (คนเดียว) หนู..หนู..(หมายถึงเด็กคนเดิมแต่เรียกสองหน) แต่ถ้าใช้ หนู ๆ เช่นนี้ หมายถึงเด็ก ๆ หลายคน

ประการสุดท้าย - คำในภาษากวี มักนิยมเขียนซ้ำ ไม่นิยมใช้ไม้ยมก เช่น ใดใดในโลกล้วน อนิจจัง, เรืองเรืองไตรรัตน์พ้น พันแสง, ทิ้งทั้งหนูน้อยน้อยร่อยร่อยรับ..ฯลฯ

        ที่น่าสังเกต ก็คือ นอกจากไม้ยมกจะสื่อแสดงถึงความซ้ำกันของคำหรือความแล้ว บางครั้ง ไม้ยมกยังสื่อแสดงถึงภาษาอารมณ์ได้ด้วยโดยเฉพาะใช้ในเชิงแสดงความรำคาญ ความหงุดหงิด งุ่นง่าน เช่น เบื่อคนบ่น เอาแต่บ่น ๆๆๆๆๆ อยู่นั่นแหละ, โอ๊ย...เมื่อไหร่จะเสร็จเสียที มัวแต่เขียนคิ้ว เขียน ๆๆๆๆ
อยู่ได้...ฯลฯ

         ยิ่งสมัยนี้ ไม้ยมกยิ่งไปไกลถึงขนาดติดอาร์ก้าหรือเอ็มสิบหกในการให้ความหมายไม่จำกัดแทนความหมายแค่สองเหมือนที่เคย เช่น ปัง..ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ
จนไม้ยมกเต็มบรรทัดก็ยังมี...

        เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ หวังว่าคงช่วยให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นนะครับ.

    
https://planetpt.blogspot.com/search/label/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%20%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99เกร็ดภาษาไทย/ภาษาไทย-ใช้ให้เป็น                                                 


วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2552

เกร็ดภาษาไทย 🎗 ตำนานไม้ยมก


เขียนเรื่องเด็ก ๆ มาหลายตอนแล้ว ขอพักมาพูดเรื่องภาษาไทยของเรากันบ้าง
วันนี้ ขอพูดถึงเรื่องการใช้ไม้ยมก เพราะว่ากันอันที่จริง เราเพิ่งมีไม้ยมกใช้กันในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาสมัยพระชัยราชานี่เอง ก่อนหน้านั้น แม้แต่ตำราภาษาไทยเล่มแรกของไทยคือ “จินดามณี” ซึ่งเรียบเรียงขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ยังไม่มีไม้ยมกใช้

        “อนึ่ง แม่หนังสือแต่ก กา ถึงกนฯลฯจนถึงเกยนั้น เมืองขอมก็แต่งมีอยู่แล้ว
พญาร่วงเจ้า (พ่อขุนรามคำแหง) จึงให้แต่งรูปอักษรไท ต่างต่าง...”

แสดงว่า ไม้ยมกสมัยนั้น ยังไม่มีใช้...


         จนอีกกว่าร้อยปีต่อมานั่นแหละ จึงปรากฏในจารึกวัดเขมา (หลักที่ ๑๔) ความว่า “แลกูเกิดมาชาติใด ๆ ก็ดี ขอกูจุ่งมีปรีชญาณแลสมบัติเกิดมาแด่กูทุก ๆ กำเนิด...”

        ปรากฎรูป “ๆ” ขึ้นตอนนี้เอง ส่วนข้อที่ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น สันนิษฐานกันว่า เพราะความขี้เกียจของอาลักษณ์หรือเสมียนเขียนหนังสือ ที่เห็นว่าคำเหมือนกันจะไปเขียนสองครั้งให้เมื่อยทำไม เลยเขียนเป็นเลข “๒” ต่อมาเลยเกิดลัทธิเอาอย่างให้เสมียนคนอื่น ๆ เขียนตาม จนเกลื่อนกลายมาเป็นขาเหยียดตรงอย่างที่เห็นกันทุกวันนี้
       
         ปรากฏการณ์เช่นนี้ในภาษาไทย ชวนให้นึกไปถึงที่มาของคำไทยอีกคำหนึ่งคือ "ณ" ซึ่งใช้ในความหมายปัจจุบันแปลว่า "ที่อยู่,ที่ตั้ง" อาจมาจากการเขียนว่า "ใน" อย่างหวัด ๆ เร็ว ๆ จนอ่านเห็นเป็น "" ก็น่าจะเป็นไปได้เช่นกัน

        คำว่า “ยมก”เป็นคำมาจากภาษาบาลี แปลว่า “คู่” หรือ “แฝด” แปลกตรงที่ว่าในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาซึ่งมีคำว่า “ยมกปาฎิหาริย์” ปรากฎอยู่นั้น คำว่า“ยมกปาฎิหาริย์” มิได้มีความหมายว่าคู่เหมือนแต่อย่างเดียว หากยังแปลความหมายถึงการแสดงปาฎิหาริย์เป็นคู่ ๆ แม้จะเป็นคู่ต่างด้วย เช่นพระหัตถ์ซ้ายทรงบันดาลให้เกิดเป็นสายน้ำพวยพุ่งออกมาขณะพระหัตถ์ซ้ายทรงบันดาลให้เกิดเปลวไฟลุกโชนขึ้นมาพร้อมกันด้วย

        ชักจะยาว...เห็นทีจะต้องยกยอดไปพูดถึงเรื่องหลักการใช้ไม้ยมกให้เป็นเรื่องเป็นราวในคราวต่อไป...

                                         


วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2552

นิทานสราญใจ : เรื่อง "หนูแพงรวยเพื่อน"

เด็กหญิงแพง มีเพื่อนมากมาย

ทั้งหญิงทั้งชาย สัตว์น้อยนานา


หนูตัวนิด แมลงปอตัวน้อย

เจ้ากบเล็กจ้อย
จิ้งโกร่งเพื่อนยาสี่สหาย รักใคร่กันดี
เพราะแพงใจดี มีใจเมตตา

รักสัตว์เลี้ยง ไม่ทิ้งไม่ขว้าง
ทุกวันยามว่าง เล่นหัวเฮฮา


อ้าว..เอ๊ะ..ว้า..! ต้องเลิกแล้วซี
คุณพ่อเรียกนี่ ต้องรีบไปหา

ไปก่อนละ สวัสดีเกลอ
อยู่ดีนะเออ เดี๋ยวแพงกลับมา
ดีใจจัง พ่อชวนไปเที่ยว
ไร่นาป่าเขียว หนูแพงยิ้มร่า


พร้อมแล้วละ ทั้งเสบียงกรัง
ข้าวของรองนั่ง มา..ขึ้นรถมา
ผ่านเขตเมือง ตัดตรงตามทาง

ชานกรุงทุ่งกว้าง จุดหมายปลายนา
เพลินชมป่า ละเมาะหมู่ไม้
ดอกหญ้าฟ้าใส สวยงามนักหนา

โน่น..ขุนเขา โน่นนกเล่นลม
ผลัดชวนชี้ชม
กันตามประสา
เห็นทิวไม้ ชายไร่ริมทาง
ไม้บานลานกว้าง ดูดูเข้าท่า

จอดตรงนี้ แม่ว่าดีไหม
เอาซิตามใจ อยากพักเต็มประดา
อ่อ..อี๊..ออ แมลงปอปีกใส
มาได้ยังไง นะเจ้าเพื่อนยา
ดี..ดี๊..ดี ได้มีเพื่อนเล่น
กลางสายลมเย็น ทุ่งกว้างกลางนา
เดี๋ยวก่อนจ้ะ มานั่งพักก่อน
เหนื่อยหายคลายร้อน ค่อยเล่นดีกว่า


พ่อยิ้มแต้ แม่หยิบของข้าว
แพงเปิดกระเป๋า โอ๊ย..ตายละวา
มากันครบ หนู, กบ, ปอ, โกร่ง
ไหนให้อยู่โยง เฝ้าบ้านนี่นา

สี่สหาย บิดกายเผ่นแผล็ว
ไม่พูดด้วยแล้ว เผ่นหนีดีกว่า
แพงเอ๋ยแพง แข็งแรงกว่าใคร
เก่งจริงวิ่งไล่ ให้ทันสิวา

ก็ได้..ก็ได้ แพงวิ่งไล่ตาม
ทั่วทั้งสนาม สรวลเสเฮฮา

ดอกไม้บาน ริมธารน้ำใสโยกกิ่งเอนไกว   พริ้วไหวเริงร่า

ใกล้คนดี ชีวีสดใส
ชื่นฉ่ำหัวใจ เป็นของธรรมดา

เผลอวิ่งเล่น ไล่ตามสหาย
เดี๋ยวเดียวรอบกาย     หลายสัตว์ตามมา

 

มาแล้วค่ะ คุณพ่อคุณแม่
โอ๊ย..ตายแน่แน่ เป็นพรวนตามมา

เพื่อนทั้งนั้น นั่นเพื่อนนี่เพื่อน
ทิ้งทางกลางเถื่อน หวังร่วมชายคา

พ่อกับแม่ ได้แต่มองตา
ยิ้มพรายส่ายหน้า เอ้า..มาก็มา.






วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เพลง [s] มวยมด




                           มดน้อยน้อยต่อยกัน ชกชิดชิดติดพัน
มุดมุดใช้หนวดดัน มันไม่กัด
ขานิดนิดเหยียดยัน แขนแย็ปแย็ปฉับพลัน
หัวเล็กเล็กเขกกัน มันคงท้า...

**มาประลองกันไหม ให้รู้สักที
ใครจะโดน ใครดี ใครเก่ง
มาลองดูสักครั้ง อย่างมดนักเลง
ลองจนยอมไปเอง ดีไหม...

มดน้อยน้อยต่อยกัน มุทะลุดุดัน
พิษเม้มมิดติดฟัน ไม่เคยกัด
พิษร้ายร้ายอย่างมัน ขืนคิดร้ายต่อกัน
แม้นยับยั้งไม่ทัน มันคงรู้

มาแรงเกินไปแล้ว ไม่แคล้วปางตาย
มาสบาย สบายดีกว่า
ใครจะเร็ว จะล้า แค่ท้าประลอง
ใครจะยอมเป็นน้อง เป็นพี่**

[s] จ้ำจี้...ดอกไม้ไทย [s]



จ้ำจี้...ดอกไม้ไทย

จ้ำจี้..มะลิวัลย์        นมสวรรค์ ชองระอา
ชะลูด เฟื่องฟ้า        สายหยุด มะลุลี

อินทนิล โปร่งฟ้า    โนรา บานบุรี
อัญชัน ปันหยี        การเวก ช้องแมว

ประดู่ กระดังงา        รกฟ้า นมแมว
ลำดวน เกด แก้ว    ติ้ว แต้ว นนทรี

อิน จัน คูน แค        บุนนาก สารภี
พิกุล จำปี         ศรีตรัง ลั่นทม

จ้ำจี้ดอกไม้ไทย     ตาใช้ ยายชม
คุณปู่เคยดม        หอมไปติดย่าเลย

จ้ำจี้...ดอกไม้ไทย

[s] เพลินเพลงอนุบาล [s]


๑. แมงมุม

แปดขาโย่งเย่ง
เดินโคลงเคลงอยู่บนหลังคา
แมลงวันถลันไปไถลมา
โอ๊ะ.. โอ๊ะ.. เสียท่า ติดใยแมงมุม.

๒. ปูขาเก
ปูขาเก เดินโซเซ เดินโซเซ
ตาซ้ายไม่เหล่ ตาขวาไม่เข
ทำไมเดินเซ เย้..เย เย้..เย..

๓. ลูกเป็ด กิ่ว..กิ๊ว..กิ่ว..กิ๊ว..กิ่ว..กิ๊ว..กิ่ว
ลูกเป็ดชักหิว อยากกินอาหาร
แม่เป็ดชวนลงลำธาร
สุดแสนสำราญ หาหอย ปู ปลา

๔. ลิง

ท่าทางดูคล้ายคล้ายคน
แต่แสนซุกซน เพราะว่ามันเป็นลิง

๕. แมลง บิน..บินไป..
แมลงมีไฝ บินไปเป็นหมู่
เอ๊ะ..เอ๊ะ นี่ผงอะไร
เกสรดอกไม้ ติดอยู่ในรูหู..

๖. แมวหง่าว
ปึงปัง ปึงปัง โปกเปก
เสียงโป๊กเป๊ก ดังมาจากครัว
นั่นแน่ เจ้าแมวสามตัว
เล่นกันในครัว โครมคราม..โปกเปก


๗. เดินเป็ด

เป็ดมันเดิน เดิน เป็ดมันเดิน เดิน
ดูแล้วเพลิดเพลิน มันเดินอย่างเป็ด
กิ๊บกับ..กิ๊บกับ..กิ๊บกับ..กิ๊บกับ


๘. ไข่ขอขา


ข.ไข่..ข.ไข่ ขอขา
อยากเดินตามหา แม่ไก่สักที
ข.ไข่ นับวันเดือนปี
รอขาดีดี จะได้ร้องจิ๊บ..จิ๊บ

๙. นกเขา
กรุ๊กกรู๊..กรุ๊กกรู๊.. นกเขาขันคู กรุ๊กกรู๊..กรุ๊กกรู๊
แม่นกตาหวาน บินผ่านมาหาคู่
ยินเสียงกรุ๊กกรู๊ อยู๋ไหนจ๊ะ..อยู๋ไหนจ๊ะ


๑๐. ลมพัดลมพัด ลมพัดฉิวฉิว
ใบไม้ปลิดปลิว หวิว หวิว ตามลม
ร่วงไป ร่วงไปเป็นผ้าห่ม


**********************
ฟังเพลงอนุบาลขุด "พระอาทิตย์ยิ้มแฉ่ง และ "ก.ไก่ ร็อกเก้ "


https://drive.google.com/drive/folders/16U8KgNm5uqGFjan0-kc9ljYnADsp65fC









วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

นิทาน ก.ไก่ 🐓 "ก.ไก่ ชมดง"


ไก่ ไล่กิ้งก่า ก-กา แลเก้งกวาง
ไข่ ใครมาวาง ขืนทิ้งขว้างเขาจะขอ
ฃวด หายไปไหน ใครทิ้งไว้ในป่าหนอ

ควาย ไล่ชนตอ ลับคมเขาเหลาคมคง
คน หัวหยักหยัก บ้างคือยักษ์ในไพรพง
ฆ่า สัตว์ป่าดง เลอะเลือนหลงไร้เมตตา

งู ดูให้ดี ประโยชน์มีมากเชียวนา
จิบ จอก จาบคา บินเริงร่าลัดฟ้าไกล
โฉบ เฉี่ยวฉับฉับอินทรีจับปลาตัวใหญ่


ช้าง งาหายไป โหยหวลไห้หาไม่เจอ



ซาก สัตว์เรียงราย น่าใจหายใช่ไหมเธอ
เฌอ ใช่กระเชอ ฌ เออ เฌอคือต้นไม้

หญ้า ระบัดยอด แทงตลอดทุกที่ไป
กฎ กำหนดไว้ โลกอยู่ได้ด้วยการุณ
รกชัฏ สัตว์ชอบซุก ยามภัยรุกเข้าซุกซุน


ฐาน ถิ่นค้ำจุน คอยเกื้อหนุนอุ่นกายใจ
ไพฑูรย์ เพชรตาแมว คือดวงแก้วสีไม้ไผ่

เฒ่า มากวุฒิวัย อย่าเผลอไผลล้อลามปาม
คุณ ใดหลายหลาก โทษยิ่งมากเป็นเงาตาม
ดอก ไม้แสนงาม สะพรึบพรั่งทั้งดงดอย


ต่อ แตน เต็มต้น แตกตื่นตนตั้งตาต่อย

ถ้ำ งามหินย้อย ริกริกร่อยทุกเถื่อนทาง
ทุ่ง โล่งครั้งนั้น เกลื่อนสมัน ทราย เก้ง กวาง
ธรรมชาติสร้าง ใช่มล้างจนสูญพันธุ์


นก เกลื่อนฟ้าคราม
คือความงามและความฝัน
ใบไม้ไหวสั่น พริ้วพร่างพรมห่มคลุมดิน
ป่าไม้ลำธาร ดุจดังบ้านของชีวิน
ผีเสื้อผกผิน กระซิบบอกสายลมไกว
ฝน หล่นจากฟ้า หอย ปู ปลา เริงน้ำใส
พืช แพร่พฤกษ์ไพร สูงลดหลั่นหลายชั้นเชิง
ฟัน ขบขวับขวับ กุบกุบกับหยุดยืนเบิ่ง
ภู ชะวากเวิ้ง สายน้ำตกซ่าโครมครืน
แมลง แข่งขับขาน สอดประสานเพลงกลางคืน


ใย ระโยงยื่น
ยะยับย้ำสีเงินยวง
รัง รวง และรู ร้อยรักอยู่ทุกรังรวง
ลิงชอบควักล้วง เขาจึงลวงเจ้าไปขาย
วัวแดง กระทิง โคไพร มหิงส์ วิ่งเร้นกาย
โศก เศร้าเสียดาย เขาคิดร้าย เจ้าจึงจำ
ฤาษี ชีไพรเอย วอนจงเผยชี้ทางนำ


เสือ สางสัตว์ส่ำ ล้วนรักตนเช่นคนเรา
หาง ห้อยโหนไม้ ปัดริ้นไรพอบรรเทา
 ฬา ฬ่อ คำเก่า  เดี๋ยวนี้เขาใช้ ล.ลิง
อารักขาไว้ เถิดดวงใจในทุกสิ่ง


โฮก ฮูมดังจริง นกฮูกนิ่งมองตาโต.






https://planetpt.blogspot.com/search/label/%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%AD 

โพสต์แนะนำ

สาระนิทาน ชุด ไม้ไทยใจดี 🍽 เรื่อง "ข.ข้าว ขาว ขาว"

เขียวเอย...เขียวพรมผืนใหญ่ ใครมาถักทอไว้ แลไกลสุดตา  เจียวเอย... ตัวฉันนั่นไง  ใบ ข้าว เขียวเขียว ยืนต้นเดี่ยวเดี่ยว  ร...