นั่นก็เป็นเพราะคำว่า “นานา” เป็นคำสำเร็จรูปมาจากภาษาบาลี แปลว่า “ต่าง ๆ” อยู่แล้ว จึงไม่เขียน “นา ๆ”.....
นี่ก็พอจะนับเป็นหลักโดยอนุโลมหลักหนึ่งของการไม่ใช้ไม้ยมกกับคำที่ไม่ใช่คำไทย.....
ดังได้กล่าวมาแล้วว่า 'ยมก' แปลว่า “คู่” ซึ่งหมายถึงการออกเสียงซ้ำนั่นเอง และอาจเป็นการออกเสียงซ้ำคำ เช่น งู ๆ ปลา ๆ , ซ้ำวลี เช่น แต่ละคน ๆ หรือซ้ำทั้งประโยค เช่น น้องเฌอกลับมาแล้ว ๆ ก็ได้
ทีนี้จะรู้ได้อย่างไรว่า กรณีไหนจึงจะใช้ไม้ยมกกำกับท้ายคำหรือความที่ต้องการออกเสียงซ้ำ และกรณีไหนห้ามใช้ไม้ยมกกำกับ
ที่จริง ถ้าจะจำหลักการใช้ไม้ยมก ถ้าจะให้ดี น่าจะจำหลักการงดใช้น่าจะง่ายและสะดวกกว่า
ประการแรก - คำพ้องรูปที่ทำหน้าที่ต่างชนิดกัน จะไม่ใช้ไม้ยมก เช่น นี่ไม่ใช่ที่ที่ควรอยู่, ดินสอ ๓ แท่ง แท่งละ ๕ บาท...ฯลฯ
ประการต่อมา – คำพ้องรูปที่เป็นคำคนละความหมาย ก็เช่นกัน ห้ามใช้ไม้ยมก เช่น นี่ของของหนูนะ, ที่บางปลาปลาสลิดอร่อย...ฯลฯ
ประการที่สาม - ไม่ใช้ไม้ยมก เมื่อรูปคำเดิมเป็นคำสองพยางค์ซ้ำกัน เช่นคำว่า นานา,จะจะ, หรือหลัดหลัด เป็นต้น
ประการที่สี่ - คำที่ให้ความหมายเชิงเอกพจน์ คนคนนั้น (คนเดียว) หนู..หนู..(หมายถึงเด็กคนเดิมแต่เรียกสองหน) แต่ถ้าใช้ หนู ๆ เช่นนี้ หมายถึงเด็ก ๆ หลายคน
ประการสุดท้าย - คำในภาษากวี มักนิยมเขียนซ้ำ ไม่นิยมใช้ไม้ยมก เช่น ใดใดในโลกล้วน อนิจจัง, เรืองเรืองไตรรัตน์พ้น พันแสง, ทิ้งทั้งหนูน้อยน้อยร่อยร่อยรับ..ฯลฯ
ที่น่าสังเกต ก็คือ นอกจากไม้ยมกจะสื่อแสดงถึงความซ้ำกันของคำหรือความแล้ว บางครั้ง ไม้ยมกยังสื่อแสดงถึงภาษาอารมณ์ได้ด้วยโดยเฉพาะใช้ในเชิงแสดงความรำคาญ ความหงุดหงิด งุ่นง่าน เช่น เบื่อคนบ่น เอาแต่บ่น ๆๆๆๆๆ อยู่นั่นแหละ, โอ๊ย...เมื่อไหร่จะเสร็จเสียที มัวแต่เขียนคิ้ว เขียน ๆๆๆๆ
อยู่ได้...ฯลฯ
ยิ่งสมัยนี้ ไม้ยมกยิ่งไปไกลถึงขนาดติดอาร์ก้าหรือเอ็มสิบหกในการให้ความหมายไม่จำกัดแทนความหมายแค่สองเหมือนที่เคย เช่น ปัง..ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ
จนไม้ยมกเต็มบรรทัดก็ยังมี...
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ หวังว่าคงช่วยให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นนะครับ.