-->

วันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2553

เกร็ดภาษาไทย ⏳ เวลาที่ผ่านเลย..คำว่า นาฬิกามาจากไหน

เวลาที่ผ่านเลย คำว่า "นาฬิกา"

สำหรับคนที่ตกอยู่ในห้วงแห่ง
ความรัก ความพอใจ หรือความรื่นเริงบันเทิงมีทั้งหลายทั้งปวง อาจมีความรู้สึกว่าเวลาช่างล่วงเลยไปรวดเร็วเสียเหลือเกิน แต่สำหรับคนที่กำลังเผชิญกับความทุกข์ ความเศร้าหมอง หรือความสิ้นหวัง อาจรู้สึกว่าวันเวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้าจนบางครั้ง รู้สึกอึดอัดไปหมด ทั้งที่อยู่ภายใต้พระอาทิตย์ดวงเดียวกัน

การเคลื่อนไปของเวลาจึงเป็นเสมือนรูปแบบอุปาทานชนิดหนึ่งที่จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกของแต่ละคนในช่วงขณะนั้น เหตุนี้กระมังที่ทำให้คนเราต้องประดิษฐ์คิดค้นนาฬิกาขึ้นมา เพื่อกำหนดหน่วยนับเวลาสากลที่ถูกต้องตรงกันแทนเวลาสมมติในความรู้สึกของมนุษย์

คำว่า “นาฬิกา” แต่เดิมเป็นคำมาจากรูปภาษาสันสกฤตว่า “นาฑิกา” แต่แปลงรูป “ฑ” มาเป็น “ฬ” แบบบาลี “นาฬิ” ในภาษาบาลีแปลว่า “ทะนาน” เมื่อรวมกับคำว่า “กา” (กำหนดเครื่องหมาย) เป็น นาฬิกา จึงแปลว่า การใช้ทะนานเป็นเครื่องกำหนดเวลา
เพราะในสมัยโบราณ นิยมวัดเวลาด้วยการใช้ทะนานหรือก็คือกะลามะพร้าวเจาะรูที่ก้นแล้วนำไปลอยน้ำ จนกว่ากะลาจะจม จมครั้งหนึ่งก็เรียกว่า ๑ นาฬิกาหรือ ๑๐ บาทตามมาตราไทย ซึ่งกำหนดหน่วยเวลา ๑ บาท = ๖ นาที สอดคล้องต้องกันกับมาตรฐานเวลาสากลที่กำหนดให้ ๑ นาฬิกา หรือหนึ่งชั่วโมงเท่ากับ ๖๐ นาทีพอดี

ส่วนที่ว่าทำไมเวลาสากลจึงกำหนดเป็นชั่วโมง นาทีและวินาที เรื่องนี้คงต้องย้อนเวลาหาอดีตไปถึงสมัยบาบิโลนโน่นแน่ะ ในฐานะเป็นคนต้นคิดใช้เลขฐานหกเป็นตัวกำหนดการหมุนรอบของวัตถุที่พบเห็นตามธรรมชาติ โดยแบ่งจังหวะการหมุนรอบของสิ่งต่าง ๆ ออกเป็นหกส่วนส่วนละ ๖๐ องศา หมุนครบหนึ่งรอบก็เท่ากับ ๓๖๐ องศา หนึ่งองศาเท่ากับ ๖๐ ลิปดา และหนึ่งลิปดาเท่ากับ ๖๐ พิลิปดาตามลำดับ กระทั่งต่อมา จึงมีการนำมาปรับใช้กับหน่วยเวลาอีกโสดหนึ่ง

กลับมาเรื่อง
การนับเวลาแบบไทยกันต่อ ไทยเรามีการนับเวลาทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ แบบทางการก็เรียกเป็นนาฬิกาดังได้กล่าวมาแล้วส่วนที่ไม่เป็นทางการก็เรียกตามช่วงเวลาของวันสุดแท้แต่สะดวกปาก มีใช้กันทั้ง..ทุ่ม, โมง, ยาม, ย่ำ, ตี.. ซึ่งคงต้องอธิบายกันยืดยาวไม่น้อยกว่าจะครบถ้วน
กระบวนความ จึงขอยกยอดเอาไว้พูดถึงในตอนต่อไปน่าจะเหมาะกว่า

ก่อนจบ..ขอฝากเรื่องการอ่านเวลาของคนสมัยก่อนสักนิด ซึ่งสมัยนี้คงไม่มีโอกาสได้ยินหรือได้เห็นกันแล้วนอกจากในตำราโหราศาสตร์ ตัวอย่างเช่นวันหนึ่งขึ้นค่ำ ย่ำรุ่งสองนาฬิกา เศษสังขยาห้าบาท แปลไทยเป็นไทยก็คงแปลได้ดังนี้...

วันหนึ่งขึ้นค่ำ = วันขึ้นหนึ่งค่ำ
ย่ำรุ่งสองนาฬิกา = เวลาสองโมงเช้า
เศษสังขยาหมายถึงเศษของหน่วยนับ (สังขยาในที่นี้ไม่ได้หมายถึงขนม)
ห้าบาท = ๕ x ๖ = ๓๐ นาที
รวมความก็คือ วันขึ้นหนึ่งค่ำ เวลาเช้า ๘.๓๐ น.
เอวัง...


https://planetpt.blogspot.com/search/label/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%20%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99

วันเสาร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2553

บทกวี >> ก่อนจะถึงปลายทาง


ร้อยรสบทกวี...ก่อนจะถึงปลายทาง
กว่าจะเป็นไม้ใหญ่ได้สักต้น
ต้องต่อสู้ดิ้นรนขนาดไหน
ต้องผ่านลม..ฝน..ฟ้ามาเท่าใด
นก..หนู..หนอน..ชอนไชกี่ภัยพาล

จึงเติบใหญ่ให้เห็นเป็นไม้หลัก
เป็นที่พักที่กินเป็นถิ่นฐาน
ให้ส่ำสัตว์ได้สิงสู่อยู่สุขสราญ
สืบตำนานผู้ให้แห่งไพรเย็น

กว่าเป็นคนเต็มคนสักคนหนึ่ง
กว่าเอื้อมถึงหลักชัยให้เขาเห็น
กว่าเปี่ยมศักดิ์บารมีอย่างที่เป็น
ต้องลำเค็ญแค่ไหนกว่าได้มา

ต้องบ่มเพาะประสบการณ์ทำงานหนัก
ต้องฟันฝ่าอุปสรรคอันหนักหนา
กี่หุบเหว กี่หนาวร้อน กี่อ่อนล้า
จึงสั่งสมบุญญาได้เท่านี้

แล้วไยเล่ายังไม่เข้าใจโลก
ว่าสุขโศกล้วนได้จากใจนี่
แม้อิ่มบุญวาสนามานานปี
ก็หลีกหนีไม่พ้นวงเวียนกรรม

ไยจึงต้องยึดติดนิมิตใหม่
ฝากหัวใจกับคนพาลสันดานต่ำ
ผู้ไร้ค่าแปดเปื้อนแต่เงื่อนงำ
ให้มืดดำในเบื้องท้ายปลายชีวิต

ไม่คิดถึงลูกหลานเลยบ้างหรือ
จึงดึงดื้อดันทุรังสร้างบาปผิด
ให้สายทรามตามตัวไปทั่วทิศ
ตามลิขิตประวัติศาสตร์จักวาดไว้

หยุดเสียเถิด วางเสียเถิด เลิกเสียเถิด
ทางประเสริฐคงรู้อยู่หนไหน
เพื่อบุญของทวยราษฎร์ของชาติไทย
และเพื่อใจไม่ต้องตกนรกนาน...นาน./


บทกวี >> ก่อนจะถึงปลายทาง

วันเสาร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2553

นิทานเพลง : หนูกรุง - หนูนา



ภาพถ่าย

หนูนา: เกิดมาเป็นหนูนา ปัญหามันมีมากมาย
วันวันว้าวุ่นวาย คอยหลบกายซ่อนตัวทั้งเดือนทั้งปี คอยหนีศัตรู
ทั้งคนทั้งงู เหยี่ยวร้ายควายวัว
ทุกคนทุกตัว น่ากลั๊ว..น่ากลัว....(น่าเบื่อด้วย..)

(ร้องแร็พ) เฮ้อ..ชีวิตมันมีแต่ทุกข์
นั่งลุกก็ไม่ค่อยสบาย
ใคร ๆ เขาชอบคิดร้าย ข้าวปลาเสียหาย เขาก็โทษหนูนา
อยากไปซะให้พ้น ๆ ชีวิตอลวน บนดินบนหญ้า
เอ๊ะ! ใครแว้บไป แว้บมา

หนูกรุง : สวัสดีหนูนา ฉันมาเยี่ยมเธอ
หนูนา : โอ๊ะ โอ๋ หนูกรุงนี่นา สวัสดีจ้ะ ดีใจที่ได้เจอ
กำลังคิดถึงเชียวเออ...
หนูกรุง : มีเรื่องอะไรเหรอ
หนูนา : ก็เบื่อน่ะซี
หนูกรุง : ถ้างั้นไปมั้ยล่ะกับฉัน ไปเที่ยวกรุงกัน เดี๋ยวก็มันไปเอง
มีทั้งแสงสี เสียงเพลง ร้องรำบรรเลง ครื้นเครงน่าดู



หนูนา : อือม์..ก็ดี ก็ดีเหมือนกัน รีบไปเลยงั้น ฉันอยากจะรู้
หนูกรุง : แหม..ใจเร็วจริงนะ น้องหนู
หนูนา : อ้าว..ก็อยากไปดู
หนูกรุง : งั้นไปเลยไป...โลด


ดนตรีเปลี่ยน แทรกเสียงความวุ่นวายในเมือง..เสียงรถ..
เสียงเบรก.. มอเตอร์ไซค์..นกหวีด..คนพูด..เสียงจ้อกแจ้กจอแจ
หนูกรุง : (ตะโกน) เร็วเข้า ทางนี้..ทางนี้.. (เสียงวิ่งคึ่ก คึ่ก)


หนูนา : โอ๊ย...คนยังกะมด รถก็เป็นล้าน ควันก็เม้น..เหม็น..
หนูกรุง : ใจเย็น..ใจเย็น..ใจเย็น..
ก็อย่างที่เห็น นี่ละ เมืองกรุง
หนูนา : โอย..ย หัวมันปั่น ดูมันยู้ง..ยุ่ง
หนูกรุง : ก็อย่างนี้แหละลุง ไม่เห็นจะเป็นไร
หนูนา : บรื๊อว์..ว แล้วก็นั่น แมวตั้งหลายตัว
หนูกรุง : ไม่เห็นต้องไปกลัว
หนูนา : โธ่...ไม่กลัวได้ไง
หนูกรุง : โอ๋...โอ๋...ไม่ต้องตกใจ
ค่อย ๆ เดินไป เดี๋ยวก็ถึงบ้านแล้ว...


(ดนตรีทำนองร้อง ๑ ขึ้นบาง ๆ เบา ๆ แล้วค่อย ๆ ดังขึ้น หนาขึ้น
หนูกรุงร้อง)

หนูกรุง : เกิดมาเป็นหนูกรุง อีรุงตุงนังทั้งวัน
แมวเป็นร้อยเป็นพัน ยังหลบทันทุกที
ทั้งควันรถยนต์ ทุกหนแห่งรุม
ทั้งคนชุกชุม โหด ร้าย เลว ดี
ทั้งเดือนทั้งปี ตี่ตะลิดติ๊ดตี ยังสบาย...

(ร้องแร็พ ๒)
หนูนา : เอ๊ะ! แปลกจริง หนูกรุงนี่แปลก
ฉันแทบสติแตก แต่เธอยังเก่ง
หนูกรุง : ใครว่า...?
หนูนา : ฉันว่าเอาเอง ก็เห็นร้องเพลง เหมือนไม่เดือดร้อนเลย
หนูกรุง : เดือดร้อน น่ะ..มันเดือดร้อน
แต่ไม่ทุกข์ร้อน มันก็เลยเฉย ๆ
หนูนา : เอ๊ะ! พูดอะไร ไม่เข้าใจเลย
หนูกรุง : โธ่เอ๊ย ๆ ของมันง่ายจะตาย

( Melody 2 – หนูกรุงร้อง)
ทำใจให้มันสนุก จะนั่งจะลุก มันก็สบาย
ลองใจมันไม่เสียหาย อยู่ไหนก็อยู่ได้ จริงไหมล่ะเพื่อน
ทำใจให้มันสนุก จะนั่งจะลุก มันก็สบาย
ลองใจบอกไม่เป็นไร มันก็ไม่เป็นไร จริงไหมล่ะเกลอ
ทุกสิ่งแปลกตาน่ากลัว ดูแล้วเวียนหู ไม่เอาดีกว่า
หนูกรุง : อ้าว... ก็ไหนบอกว่า เบื่อบ้านนาไง
(หนูนาร้องเพลง)
ทำใจให้มันสนุก จะนั่งจะลุก มันก็สบาย
ลองใจมันไม่เสียหาย อยู่ไหนก็อยู่ได้ จริงไหมล่ะเพื่อน

หนูกรุง : เออ…เออ...ใช่แล้ว...ใช่แล้ว...

(หนูกรุง หนูนา ร้องพร้อมกัน – Melody 2)
ทำใจให้มันสนุก จะนั่งจะลุก มันก็สบาย
ลองใจมันไม่เสียหาย อยู่ไหนก็อยู่ได้ จริงไหมล่ะเพื่อน
ทำใจให้มันสนุก จะนั่งจะลุก มันก็สบาย
ลองใจบอกไม่เป็นไร มันก็ไม่เป็นไร จริงไหมล่ะเกลอ

(ซ้ำ...เฟด..จนจบ)

โพสต์แนะนำ

สาระนิทาน ชุด ไม้ไทยใจดี 🍽 เรื่อง "ข.ข้าว ขาว ขาว"

เขียวเอย...เขียวพรมผืนใหญ่ ใครมาถักทอไว้ แลไกลสุดตา  เจียวเอย... ตัวฉันนั่นไง  ใบ ข้าว เขียวเขียว ยืนต้นเดี่ยวเดี่ยว  ร...