วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

บทกวี >> ประเทศไทยต้องไม่แพ้...??


ภาพวันนั้น...มันหายไปไหน

ภาพวันนั้น...มันหายไปไหน
รอยยิ้มจริงใจเกลื่อนใบหน้า
เด็กน้อยจูงมือมารดา
พ่อค้าแม่ขายรายทาง

เมืองแก้วร้างแก้วแล้ววันนี้
คลื่นคนขวัญหนีอยู่ไม่สร่าง
กัมปนาทเสียงปืนครืนคราง
ผนึกความอ้างว้างแก่ผู้คน

นี่คือเมืองพระ...เมืองพุทธ
ที่มนุษย์ฆ่ามนุษย์ทุกแห่งหน
และไม่ใช่สงครามประชาชน
แต่เป็นแค่เหตุผล...คนอยากทราม

กับสังคมเน่าเน่าสังคมนี้
เหมือนไม่มีคำตอบทุกคำถาม
มีแต่ “เงิน”และ “งก” คือความงาม
ให้ติดตามตาเห็นไม่เว้นวาย

แล้วจะมีหวังใดให้ได้หวัง
ในเมื่อพลังขับเคลื่อนต่างสูญหาย
เกลื่อนเจ้าที่เจ้าทางไร้ยางอาย
พร้อมส่งผ่านความหมายตายทั้งเป็น

มืดกว่าคืนเดือนมืด...มืดสนิท
ทุกชีวิตเหยาะย่างกลางของเหม็น
ไร้สัญญาณการเยือนของเดือนเพ็ญ
นอกจากหนาวเยียบเย็นและอ่อนล้า

วันนี้...พรุ่งนี้...หรือพรุ่งไหน
จึงไทยคือไทยได้สมค่า
มิใช่เมืองยิ้มคือมายา
กับคาถา..ประเทศไทยต้องไม่แพ้.




เกร็ดภาษาไทย ⏰ นับเวลาแบบไทย...ทุ่ม..โมง..ยาม

ตำนานเวลา

หยุดเขียนไปหลายวันเพราะหดหู่เศร้าใจกับความเป็นไปของสถานการณ์บ้านเมืองจนหมดสิ้นเรี่ยวแรง  วันนี้เลยขอต่อเรื่องการนับเวลาแบบไทย ๆ ที่เขียนค้างไว้ให้จบ....

คติไทยสมัยก่อน (หรืออาจจะรวมถึงสมัยนี้ด้วย) นิยมอะไรที่ “ง่ายไว้ก่อน พ่อสอนไว้” จนดูเหมือนจะกลายเป็นค่านิยมทางวัฒนธรรมแบบหนึ่งของไทยเราไปแล้ว แม้แต่ภาษาไทยของเราเองก็ดูจะไม่เว้นเช่นกัน เพราะนับตั้งแต่สมัยแรกกำเนิดภาษาไทยก็นิยมใช้คำโดดหรือคำที่ออกเสียงพยางค์เดียวในการสื่อความหมายอยู่แล้วเช่น  ฉัน,รัก, แม่...ฯลฯ

จนกระทั่งต่อมาระยะหลังนั่นแหละ ถึงเริ่มมีการใช้คำควบหรือคำประสมตามอิทธิพลที่ได้รับมาจากภาษาบาลี-สันสกฤตรวมทั้งภาษาในตระกูลมอญ-เขมรเพิ่มเติมเข้ามา

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เราจะกำหนดนับเวลาตามสิ่งที่เห็นและรู้สึกได้ในชีวิตประจำวัน  อย่างเช่นคำว่า “โมง” และ “ทุ่ม”อันเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกเวลาช่วงกลางวันและกลางคืน  ก็มาจากเสียงย่ำฆ้องและกลองที่ทางวัดใช้ตีบอกเวลาในแต่ละชั่วโมงของวันนั่นเอง เนื่องจากสมัยก่อนนาฬิกามักมีใช้เฉพาะภายในวัดเท่านั้น  ชาวบ้านจึงต้องอาศัยเสียงสัญญาณกลองและฆ้องที่ดังมาจากวัดเป็นหลัก  บ้างที่อยู่ห่างไกลออกไปจนไม่ได้ยินแม้แต่เสียงย่ำกลองก็ต้องใช้วิธีฟังเสียงปืนใหญ่ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดฯให้ทหารเรือยิงปืนใหญ่ประจำเรือทุก ๆ เที่ยงวันเพื่อประชาชนและบรรดาพ่อค้าวานิชจะได้ใช้เทียบเวลาประจำวัน  นี่จึงเป็นที่มาของคำว่า “ไกลปืนเที่ยง” ซึ่งหมายพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลความเจริญ  และยังเป็นที่มาของการกำหนดให้กองทัพเรือเป็นผู้รักษาเว
ลามาตรฐานของประเทศอีกด้วย


กังวานดัง “โหม่ง” แรกของวัน เริ่มจากเสียงฆ้องที่ตีบอกเวลาตั้งแต่ ๗ นาฬิกาจนถึงเพลหรือ ๑๑ นาฬิกาอันเป็นเวลาที่พระฉันอาหารนับไล่เรียงมาตั้งแต่ฟ้าสว่างหรือย่ำรุ่ง (๖ นาฬิกา) เป็นหนึ่ง..สอง...สาม..สี่..และห้าโมงเช้าหรือเพลตามลำดับ (ต่างจากประเพณีสากลที่เริ่มนับหนึ่งกันตั้งแต่ผ่านพ้นชั่วโมงแรกหลังเที่ยงคืนเลยทีเดียว)  พอผ่านเที่ยงวันก็เริ่มนับใหม่เป็นช่วงบ่ายโมง..บ่ายสอง..สาม..สี่..และห้าเช่นเดียวกัน  ก่อนผ่านไปยังย่ำค่ำ (๑๘ นาฬิกาหรือหกโมงเย็น)  หลังจากนั้น สัญญาณก็จะเปลี่ยนไปจากการใช้ฆ้องมาเป็นกลองดังตุ้ม..ตุ้ม ตั้งแต่ตุ้มเดียวหรือหนึ่งทุ่มไปจนถึงห้าตุ้มหรือห้าทุ่ม  ก่อนถึงเที่ยงคืนหรือหกทุ่มหรือที่นิยมเรียกกันว่า “สองยาม”ในอีกหนึ่งชั่วโมงต่อมา..

คำว่า "ยาม" ที่จริงก็มาจากกำหนดการเข้าเวรยามของทหารยามรักษาการภายในพระราชวังนั่นเอง  ในสมัยก่อน การผลัดเวรยามของทหาร ช่วงกลางวันจะแบ่งเป็น ๒ ผลัด ผลัดละ ๖ ชั่วโมงตั้งแต่ย่ำรุ่งจนถึงย่ำค่ำ  หลังจากนั้นจึงถึงเวรของยามผลัดกลางคืนซึ่งแบ่งตามคาบเวลาเป็นช่วง ๆ ละ ๓ ชั่วโมงเริ่มตั้งแต่ย่ำค่ำหรือหกโมงเย็นถือเป็นยามต้นจนถึงสามทุ่ม..ยาม ๒ ตั้งแต่สามทุ่มถึงเที่ยงคืนหรือสองยาม ต่อด้วยยาม ๓ (เที่ยงคืน-ตีสาม) และยาม ๔ (ตีสาม – ย่ำรุ่งหรือหกโมงเช้า) ตามลำดับ

การนับยามแบบนี้มีข้อสังเกตเล็กน้อยสำหรับคนที่เคยผ่านตานิยายกำลังภายในหรือพงศาวดารจีนมา คือข้อแตกต่างตรงที่จีนนับยามเป็นคาบเวลาเพียงช่วงละ ๒ ชั่วโมง  ขณะที่ไทยเราถือ ๓ ชั่วโมงเป็นหลัก

ช่วงพลบค่ำหรือย่างเข้าสู่ช่วงกลางคืน ตามวัดวาอารามสมัยก่อนมักย่ำกลองอันหมายถึงการกระหน่ำตีซ้ำ ๆ เป็นสัญญาณบอกว่าสนธยาหรือรัตติกาลกำลังเริ่มขึ้น จนกลายเป็นที่มาของคำว่า “ย่ำค่ำ” และเลยไปถึงคำว่า “ย่ำรุ่ง” เพื่อให้รับกันในช่วงเช้าด้วย แม้ในช่วงเวลานี้ จะไม่มีการ“ย่ำ” ฆ้องหรือกลองแต่ประการใด

ตลอดช่วงกลางคืนหลังพลบค่ำ  แทนการใช้สัญญาณฆ้องหรือกลองเป็นเครื่องบอกเวลาอย่างตอนกลางวัน  เขานิยมใช้วิธีเคาะแผ่นเหล็กเมื่อครบแต่ละชั่วโมงแทน  เนื่องจากเสียงไม่ดังมากนักจนถึงกับรบกวนการนอนหรือการพักผ่อนของผู้คน โดยมักจะเริ่มการตีตั้งแต่ชั่วโมงแรกหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป จึงนิยมเรียกกันในภายหลังว่า ตีหนึ่ง..ตีสอง..ตีสาม..เรื่อยมา

อรรถาธิบายเรื่อง ทุ่ม, โมง, ยาม, ย่ำ, ตี  ก็คงเอวังได้ด้วยประการฉะนี้....   



https://planetpt.blogspot.com/search/label/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%20%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99

วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

บทกวี >> ฤาสยามไร้ผู้รู้หน้าที่



คือความวิปโยคโศกสมัย ประกาศความป่วยไข้ไปทุกแห่ง

คือความวิปโยคโศกสมัย
ประกาศความป่วยไข้ไปทุกแห่ง
เมื่อธรรมะใสพิสุทธิ์หยุดแสดง
ปล่อยกาลีแก่งแย่งสำแดงตน

หรือคนกล้า คนดีไม่มีแล้ว
เหลือแต่กาตาแววผู้สับสน
บริกรรมพร่ำคาถาว่าอดทน
ให้ปวงชนสิ้นหวังทุกครั้งครา

หรือคนดีอยู่ไม่ได้ในเมืองนี้
โลกไม่มีหลักประกันให้คนกล้า
หรือสิ้นสุดกระแสยุติธรรมา
ความชั่วช้าสามานย์จึงพล่านนัก

ปล่อยอัปรีย์ผีร้ายสยายร่าง
เกลื่อนกร่างตำใจให้ติดปลัก
เพื่อนไทยพาไทยให้แล้งรัก
แจ้งประจักษ์เต็มตาก็ครานี้

โพสต์แนะนำ

สาระนิทาน ชุด ไม้ไทยใจดี 🍽 เรื่อง "ข.ข้าว ขาว ขาว"

เขียวเอย...เขียวพรมผืนใหญ่ ใครมาถักทอไว้ แลไกลสุดตา  เจียวเอย... ตัวฉันนั่นไง  ใบ ข้าว เขียวเขียว ยืนต้นเดี่ยวเดี่ยว  ร...