-->

วันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2553

เกร็ดภาษาไทย 🖐 การันต์ – เมื่ออักษรงดออกเสียง

การันต์ – เมื่ออักษรงดออกเสียง คำว่า “การันต์” หมายถึงตัวอักษรที่ไม่ถูกออกเสียง เนื่องจากถูกบังคับไว้โดย “ไม้ทัณฑฆาต” ซึ่งกำกับอยู่ด้านบนตัวอักษรที่ไม่ต้องการให้ออกเสียง ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า มักใช้เฉพาะกับคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ ทั้งฝรั่งมังค่าและบาลี-สันสกฤต เนื่องจากมักเป็นคำที่มีหลายพยางค์ จึงต้องใช้เครื่องหมายทัณฑฆาตมาเป็นตัวช่วยบังคับให้งดออกเสียง ทั้งยังช่วยรักษารูปศัพท์ดั้งเดิมให้รู้ว่ามีที่มาจากไหนด้วย นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมถึงต้องมีตัวการันต์และเครื่องหมายไม้ทัณฑฆาตในภาษาไทยของเรา...

ส่วนคำไทยแท้ ๆ นั้น เนื่องจากภาษาไทยเป็นภาษาคำโดด และมีพยางค์
น้อยอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใช้ตัวการันต์แต่อย่างใด

โดยปกติ คำที่เราหยิบยืมมาใช้โดยเฉพาะจากภาษาบาลี-สันสกฤตที่เรานำ
กำกับทัณฑฆาตเพื่องดออกเสียงนั้น จะการันต์ที่พยางค์ท้ายซึ่งเป็นสระเสียงสั้นอย่างอะ อิ อุ เท่านั้น เช่น พจน์ (สระอะลดรูป) พิสุทธิ์ (สระอิ) พันธุ์ (สระอุ) เป็นต้น

ตัวการันต์กลางพยางค์ ปัจจุบันปรากฏเฉพาะแต่คำยืมที่มาจากภาษาตะวันตก ซึ่งสามารถพบได้โดยทั่วไป เช่น มาร์ค, ชอล์ก, ฟิล์ม, วาล์ว ...ฯลฯ

มีข้อที่ควรระวัง คือเรื่องการใช้การันต์ผิดที่ เช่นคำว่า “ฟิล์ม” ที่ยกเป็นตัวอย่าง เคยเห็นบางคนเขียนว่า “ฟิลม์” ซึ่งต้องอ่านว่า ฟิล หรือคำว่า “ซิลค์” ถ้าไปวางการันต์ผิดที่ (ซิล์ค) ก็ต้องอ่านว่า ซิค โดยไม่อาจอ่านเป็นอื่นได้เลย

อีกเรื่องที่ควรสังเกต คืออักษรที่งดออกเสียงนั้น ต้องอยู่หลังตัวสะกดเท่านั้น จะอยู่ลอย ๆ ไม่ได้ เช่นในคำว่า “โลกนิติ์” ตัว”ต” ยังต้องออกเสียงเป็นอยู่  เพราะเป็นตัวสะกดพอดี  ทัณฑฆาตจึงฆ่าได้เฉพาะเสียงสระอิ ส่วนตัว “ต” หนีรอดไปได้อย่างหวุดหวิด

ตัวการันต์หรือตัวอักษรที่งดออกเสียง จึงเป็นเรื่องชวนฉงนในภาษาไทยอีกเรื่องหนึ่งที่เราควรให้ความสนใจ เพราะว่ากันอันที่จริง การันต์มีตั้งแต่เป็นพยัญชนะตัวเดียว เช่น สิงห์, ปอนด์, องค์...ฯลฯ สองตัว เช่น กาญจน์, สายสิญจน์...ฯ สามตัวเช่นคำว่า พระลักษมน์ ในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นต้น การหมั่นสังเกต จดจำ จึงเป็นความจำเป็นที่เราคนไทยไม่สมควรละเลย เพื่อสืบสายธารแห่งภาษาไทยของเราให้อยู่ยืนตลอดไป. 



การันต์ – เมื่ออักษรงดออกเสียง
https://planetpt.blogspot.com/search/label/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%20%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99เกร็ดภาษาไทย / ภาษาไทย-ใช้ให้เป็น

วันจันทร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2553

บทกวี >> พลังเงียบ..ต้องไม่เงียบ..!!


พลังเงียบต้องไม่เงียบ ต้องกล้าเหยียบกล้าหยัดยืน
พลังเงียบต้องไม่เงียบ
ต้องกล้าเหยียบกล้าหยัดยืน
ปลุกใจให้ฟื้นตื่น
ด้วยมาดมั่นกระชับมือ

เพลาอนาคต
ถูกกำหนดให้ยึดถือ
จะหงอจะอออือ
หรือกอบกู้เชิดชูธรรม

นี่คือทางสองแพร่ง
ที่ยื้อแย่งชิงการนำ
กี่ถ้อยกี่ร้อยคำ
ก็ไม่สู้หนึ่งใจคิด

เลือกเอาและเลือกเอง
อย่าคร้ามเกรงเพราะเป็นสิทธิ
วันนี้คือชีวิต
จะถูกผิดก็วันนี้

ธำรง “ทรงพระเจริญ”
เพื่อสรรเสริญพลังความดี
หรือปล่อยให้อัปรีย์
มันรื้อบ้านประหารเมือง

เมื่อเลยขีดของเหตุผล
ประสาคนไม่รู้เรื่อง
จาบจ้วงอยู่เนืองเนือง
ควรหรือจะละเว้นมัน

เพื่อนเอ๋ย..พี่น้องเอ๋ย..
อย่าชื่นเชยแต่เพียงฝัน
เมื่อไทยไม่รักกัน
สมานฉันท์ก็ป่วยการ.

โพสต์แนะนำ

สาระนิทาน ชุด ไม้ไทยใจดี 🍽 เรื่อง "ข.ข้าว ขาว ขาว"

เขียวเอย...เขียวพรมผืนใหญ่ ใครมาถักทอไว้ แลไกลสุดตา  เจียวเอย... ตัวฉันนั่นไง  ใบ ข้าว เขียวเขียว ยืนต้นเดี่ยวเดี่ยว  ร...