-->

วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

บทกวี >> พิทักษ์ธรรม - พิทักษ์ไทย


โลกนี้ดำรงอยู่เพราะผู้กล้า
ผู้สืบทอดเจตนาท้าวิกฤติ
เพราะยึดมั่นคุณธรรมนำชีวิต
จึงอุทิศเพื่อศรัทธาเช่นว่านั้น

ทุกสงครามย่อมมีวีรบุรุษ
ผู้กล้านำกล้ารุดจุดไฟฝัน
เพื่อหล่อหลอมดวงใจให้ร่วมกัน
จู่ประจันอริราชศัตรู

นับเนื่องบุรพกาลนานมาแล้ว
ที่เถื่อนแถวถ่อยทรามมันหยามหลู่
อนารยะรุ่งเรืองและเฟื่องฟู
เหล่ามังกรต้องอดสูเป็นงูดิน

แต่มีไหมสักครั้งจีรังได้
กับอำนาจบาตรใหญ่ที่โหดหิน
ใต้เงื้อมเงาอับอื้อมือทมิฬ
มีหรือจะสูญสิ้นวิญญูชน

ผู้หาญกล้าต่อสู้เยี่ยงผู้กล้า
ผู้ลบบาปคราบน้ำตาดังห่าฝน
ที่เจิ่งนองท้นทับจับกมล
ของผู้คนทั่วผืนแผ่นดินไทย

เหมือนเทียนน้อยถูกจุดท่ามความมืดมิด
ให้ถ้วนทิศเห็นทางสว่างไสว
แม้จุดหมายปลายทางยังห่างไกล
แต่โชนไฟแห่งความหวังก็ยังดี

ต่อให้ใหญ่คับฟ้าถ้าทุศีล
ถ้าป่ายปีนแต่อสัตย์อันบัดสี
ย่อมมีมือนับร้อยนับหมื่นมี
คอยโจมจี้ยื้อยุดฉุดลงมา

ขอมือน้อยมือนี้อีกมือหนึ่ง
เป็นพลังเอื้อมถึงปรารถนา
แห่งกระแสยุติธรรมนำบัญชา
จากเบื้องฟ้ามาย้ำเน้นให้เป็นจริง.

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เพลง [s] "ตะขาบนักเลง"

อยากจะกัด อยากอวดเก่ง เขาเลยเล็งจิกตีให้ตาย

โคนตะขบ มีตะขาบ มันภูมิใจมีมือตีนนับพัน
หลงว่าเก่ง คิดไปเอง เดินโคลงเคลงเป็นนักเลงทั้งวัน
ไม่เคยหลบ พบใครผ่าน เป็นทะยานพุ่งเข้าใส่ทันควัน
คิดจะกัด งัดเขี้ยวใส่ ใครเป็นใครใม่ใส่ใจไล่กัดทั้งนั้น....

ตัวนิดเดียวตลอดตัวไว้แต่ตีน
มีพิษคอยกัดคน
ใครเผอเรอมาเจอะเจอก็เกือบตาย
ใครทักทายกลับชน

แล้ววันหนึ่ง มีแม่ไก่ เดินงัวเงียมาคุ้ยเขี่ยหากิน
เจ้าตะขาบ คิดกำราบ จึงตรงมาตามประสาคุ้นชิน
เสียดายแม่ไก่ ห็นเป็นหนอนใหญ่
จึงดีใจ รี่เข้าไปไล่จิกอร่อยลิ้น....

อยากจะกัด อยากอวดเก่ง
เขาเลยเล็งจิกตีให้ตาย
กัดสะบัด กัดบ่อยบ่อย
หัวตะขาบเลยหาย.....

วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เกร็ดภาษาไทย ❣ ร.รัก มิใช่ ล.ลัก



การอ่านออกเสียงควบกล้ำในภาษาไทยโดยเฉพาะตัว ร,ล ออกจะเป็นปัญหาไม่น้อยสำหรับคนทั่วไป แม้แต่คนที่มีระดับการศึกษาสูง ๆ เองก็ตาม ก็ยังออกเสียงผิดพลาดอยู่บ่อย ๆ ที่เป็นดังนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนระหว่าง “เสียงมาตรฐาน” กับ “สำเนียง” อันคุ้นชินมาจากภาษาถิ่นซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน และอีกส่วนหนึ่ง น่าจะมาจากขาดการฝึกฝนหรือศึกษาหลักการออกเสียงมานานและมักใช้ตามความสะดวกปากจนเคยตัว ปล่อยให้การอ่านออกเสียงมาตรฐานที่ราบรื่นชัดเจนเป็นเรื่องของผู้คนในแวดวงจำกัดเฉพาะโฆษกพิธีกรและบุคคลสาธารณะบางจำพวกเท่านั้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ เราจึงมักได้ยินคำพูดประเภท ”เลาต้องปับปุงเปี่ยนแปงโลงเลียนของเลาให้ดี” หรือ “ไปเล็ว ๆ ล่ะ แล้วลีบกับมานะ” อะไรทำนองนี้เป็นประจำ

ออกเสียง “ร” นั้นไม่ยากเลยถ้าเพียงแต่ผ่านการฝึกฝนออกเสียงควบกล้ำให้ถูกต้องเสียแต่แรก ยิ่งถ้าได้เริ่มฝึกมาตั้งแต่เด็กตอนที่ลิ้นยังอ่อนก็ยิ่งดี เพราะจะกลายเป็นความคุ้นชิน ที่นอกจากจะช่วยให้ได้ความถูกต้อง ไพเราะ สละสลวย แล้ว ยังช่วยในการสื่อสารให้สมดังเจตนาของผู้พูดด้วย  ลองนึกดูสิ ถ้าหากเราต้องการครีมล้างหน้าและใช้คนไปซื้อ แต่กลับได้คีมตัดลวดมาแทนเพียงเพราะพูดคำควบกล้ำไม่ชัด...!!!
ฝึกออกเสียง ร,ล ให้ดีนะครับ เพื่อช่วยยืดลมหายใจให้ภาษาไทยมาตรฐาน
ของเราไปนาน ๆ...
เริ่มจากซ้อมอ่านออกเสียงดัง ๆ จากบทกลอนข้างล่างนี้เป็นเบื้องต้นก็ได้จ้ะ...

หากรักใครใคร่ครองต้องครุ่นคิด 

เร่งสำรวจตรวจจริตกรอบนิสัย 
ทั้งครอบครัวครัดเคร่งไม่เกรงใคร 
หรือครึกครื้นรื่นไหลดูไม่งาม 
ต้องครบเครื่องครามครันไม่ครั่นคร้าม 
อย่าโครมครามหรือคร่ำครึดังฤษี
ไม่เกียจคร้านเร่งสานต่ออย่ารอรี 
เพราะรักต้องยินดีพลีเพื่อ “รัก”


หากรักใครใคร่ครองต้องครุ่นคิด  เร่งสำรวจตรวจจริตกรอบนิสัย

วันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

บทกวี >> รักดีต้องกล้าดี...


เพราะใจไม่กล้าชั่ว  และเกลียดกลัวไม่กล้าทำ...
เพราะใจไม่กล้าชั่ว
และเกลียดกลัวไม่กล้าทำ
ธรรมะจึงเพลี่ยงพล้ำ
เหมือนพ่ายแพ้ตลอดมา

ถูกกระทำขยำขยี้
ก็ต่อตีกันซึ่งหน้า
ถูกเขาแกล้งกล่าวหา
ก็เชิดหน้าพร้อมรับกรรม

หัวใจอันกล้าแกร่ง
แม้โรยแรงเพราะถูกย่ำ
คำตอบอาจบอบช้ำ
และผิดหวังทุกครั้งคิด

แต่ใจก็คือใจ
ไม่มีใครกล้าสวมสิทธิ
ชี้นำทางชีวิต
ที่ลิขิตและเลือกเดิน

คนดีจึงกล้าดี
กล้าชวนชี้ที่ควรเมิน
กล้าข้ามทุกโขดเขิน
เพื่อพิสุจน์ถึงเส้นทาง

โลกแห่งอนาคต
จึงปรากฎทุกก้าวย่าง
รอยเท้าที่ทอดวาง
ไม่เคยร้างผู้เดินตาม

เป็นเช่นนี้และเช่นนี้
ตราบยังมีเศษซากทราม
ย่อมมีผู้ก้าวข้าม
และดาหน้าเข้าท้าทาย...


เพราะใจไม่กล้าชั่ว  และเกลียดกลัวไม่กล้าทำ...

โพสต์แนะนำ

สาระนิทาน ชุด ไม้ไทยใจดี 🍽 เรื่อง "ข.ข้าว ขาว ขาว"

เขียวเอย...เขียวพรมผืนใหญ่ ใครมาถักทอไว้ แลไกลสุดตา  เจียวเอย... ตัวฉันนั่นไง  ใบ ข้าว เขียวเขียว ยืนต้นเดี่ยวเดี่ยว  ร...